ทิศทางลงทุน “ทองคำ” ในช่วงผันผวน
ราคาทองคำที่พุ่งสูงเหนือระดับ 30,400 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นปรากฎการณ์ราคาทองคำในประเทศที่พุ่งขึ้นสูงกว่า 40% ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลก แตะระดับ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ทุบสถิติสูงสุดเดิมเมื่อ 9 ปีก่อน (ในวันที่ 5 ก.ย.54) ที่ระดับ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์
แน่นอนว่าการลงทุนทองคำปีนี้ได้สร้างผลตอบแทนสูงสุดให้นักลงทุนมากกว่า 37% สูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ทำให้ช่วงนี้จะเห็นทองคำถูกเทขายทำกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่ถือทองคำ “ติดดอย” ยาวนานมาถึง 9 ปี เพราะนี่คือโอกาสสำคัญของการขายทำกำไร
ส่วนคนที่กำลังมองหาการลงทุน “ทองคำ” ในฐานะที่เป็น Safe-Haven หรือสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและมีความปลอดภัยสูงในช่วงนี้อาจจะยังลังเลว่าควรซื้อทองคำลงทุนต่อหรือไม่ จากความผันผวนของราคาทองคำ ที่ปรับขึ้น-ลง อย่างต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยทองคำ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน สิงหาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา จากระดับ 62.51 จุด มาอยู่ที่ระดับ 75.54 จุด เพิ่มขึ้น 13.03 จุด หรือคิดเป็น 20.84% โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนปัจจัยลบต่อราคาทองคำ นักลงทุนกังวลการขายทำกำไรของธนาคารกลางและกองทุนต่างๆ
โดยคาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน สิงหาคม 2563 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 319 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 42.63 ยังไม่ซื้อทองคำในเดือน สิงหาคม 2563 ขณะที่ร้อยละ 34.48 ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ และร้อยละ 22.89 คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือนนี้
สำหรับการลงทุนทองคำในเดือน สิงหาคม 2563 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ ให้ความเห็นว่าราคาทองคำในระยะยาวยังคงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น จากแนวโน้มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ทั้งนี้ ราคาทองคำยังคงมีความผันผวน เนื่องจากราคาแกว่งตัวในระดับสูง และการเคลื่อนไหวของราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น นักลงทุนควรติดตามการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำ เพื่อเป็นการวางแผนการลงทุนล่วงหน้า
ข้อมูลจากกองวิเคราะห์เศรษฐกิจการค้ามหภาค สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำรายสัปดาห์ (10-14 ส.ค.63) ราคาทองคำโลกปรับตัวลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,961 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.8% จากนักลงทุนเทขายสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อทำกำไร ประกอบกับสัญญาณตวามคืบหน้าของการผลิตวัคซีนต้านโควิด 19 ที่รัสเซียประกาศว่าสามารถพัฒนาวัคซีนได้แล้ว ส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น – ราคาทองคำลดลง และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ราคาทองคำยังอยู่ในช่วงผันผวน ทำให้ต้องติดตามการดำเนินมาตรการการเงิน-การคลังแบบผ่อนคลายในหลายประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนของสงความการค้า จีน-สหรัฐฯ ที่เป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำในระยะต่อไป
กลุ่มบริษัทห้างทองแม่ทองสุก เอ็มทีเอส โกลด์ (MTS) ระบุว่า คาดว่าราคาทองคำน่าจะปรับฐานช่วงเดือน ส.ค. และปรับตัวขึ้นทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 2,075 เหรียญฯ ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นเหนือระดับดังกล่าวไปได้ในช่วงปลายปี และน่าจะมีโอกาสเห็นราคาทองคำที่ 2,200 เหรียญฯ เท่ากับทองในประเทศบาทละ 31,800 บาท
ทั้งนี้แนะนำให้นักลงทุนทยอยซื้อเก็บเมื่อราคาอ่อนตัวที่ 1,920-1,940 เหรียญฯ ราว 25% ของพอร์ตที่จะลงทุนทองคำ หากราคายังลงต่อให้รอซื้อที่ 1,900-1,920 เหรียญฯอีก 25% และถ้ายังลงอีกให้ซื้อที่เหลือเต็มพอร์ต 100% ที่ระดับ 1,860-1,870 เหรียญฯ ส่วนเป้าหมายราคาขาย ให้ขายทำกำไรได้ตั้งแต่ 2,000 เหรียญฯขึ้นไป
ส่วนนักลงทุนที่เน้นซื้อขายเก็งกำไร และมีทองอยู่ สามารถทยอยขายเมื่อราคาปรับขึ้นตั้งแต่ 1,980 ถึง 2,000 เหรียญฯ และรอซื้อคืนเมื่อราคาอ่อนลงต่ำกว่านี้ ให้เป้าปลายปี 63 ที่ 2,100 เหรียญฯเป็นอย่างต่ำ
ข้อมูล : ศูนย์วิจัยทองคำ,กลุ่มบริษัทห้างทองแม่ทองสุก เอ็มทีเอส โกลด์ (MTS),กองวิเคราะห์เศรษฐกิจการค้ามหภาค สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า