กระจายการลงทุนไป 'ทองคำ' ช้าไปหรือยัง?
วิเคราะห์ "ราคาทองคำ" ในตลาดโลก เมื่อดัชนี SET index ยัง Sideway ไร้ทิศทางและมีความเสี่ยงที่จะพักฐาน กับ 2 ปัจจัยหลักที่มีผลให้ราคาทองคำปรับขึ้นหรือลงในอนาคต ที่จะช่วยไขประเด็นว่าการลงทุนในสินทรัพย์นี้ยังทันอยู่หรือไม่?
ดัชนี SET index ยัง Sideway ไร้ทิศทางและมีความเสี่ยงที่จะพักฐาน ซึ่งมีโอกาสที่จะมีรูปแบบการเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นนี้ไปอีกสักพักใหญ่ๆ เนื่องจาก i) ประมาณการกำไรปี 2563 ยังถูกปรับลดลง แย่กว่าที่เคยคาดไว้เดิม ผลประกอบการของหุ้นขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารพาณิชย์และพลังงาน กลับมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอ แม้หุ้นขนาดกลาง-เล็ก หลายตัวมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น แต่ไม่เพียงพอที่จะหนุนผลการดำเนินงานโดยรวมของตลาดหุ้นไทยให้ประคองตัวไว้ได้
ii) ความเสี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงทางการเมืองไทย (Political risk) ขณะเดียวกัน ราคาทองคำ ที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอีกประเภทหนึ่ง กลับปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ไปในช่วงต้นเดือน ส.ค.2563 ที่ผ่านมา แม้ผมจะยังคงมุมมองว่าการพักฐานของตลาดหุ้นไทยยังเป็นโอกาสซื้อสะสมหุ้นพื้นฐานดีเพื่อการลงทุนระยะยาว แต่การกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำ ก็มีความสำคัญเช่นกัน บทความฉบับนี้ผมจึงอยากหยิบยกข้อมูลสถิติของบางปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำ และสามารถนำมาใช้ตัดสินใจลงทุนได้จริงแบบเป็นรูปธรรม
บทความเกี่ยวกับราคาทองคำที่เพิ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.ssrn.com และมียอด Download สูงสุดเป็น 5 อันดับแรกในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ Gold, the Golden Constant, COVID-19, “Massive Passives” and Déjà vu ที่เขียนโดย Erb Claude, Harvey Campbell, และ Viskanta Tadas มีมุมมองที่น่าสนใจต่อการวิเคราะห์ราคาทองคำในตลาดโลกกับปัจจัยต่างๆ และผมได้ทดลองนำข้อมูลย้อนหลังมาทดสอบสมมติฐานทางสถิติพบว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ
ประเด็นแรก ทองคำเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง และจะปรับขึ้น (ลง) เมื่อมีการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อ (ฝืด) ในอนาคต ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอตัวปี 2523 หรือที่เรียกว่า “1980 Stagflation” ราคาทองคำที่ปรับปรุงด้วยเงินเฟ้อ (หรือ Real gold price) ปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดในเดือน ม.ค. 2523 ที่ 8.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ (ราคาทองคำในตลาดโลกขณะนั้นอยู่ที่ 682 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์)
ขณะที่ราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดใหม่รอบนี้หากทำการคำนวณปรับปรุงภาวะเงินเฟ้อจะได้ราคาทองคำที่แท้จริงอยู่ที่ 7.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ (คำนวณจากราคาทองคำ 2,062 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ และดัชนีเงินเฟ้อสหรัฐฯ 259 จุด) ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2523 นั้น นักวิชาการส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นผลจากการที่ ทองคำทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ (Inflation hedging) นั่นเอง ขณะที่สำหรับการปรับขึ้นของราคาทองคำรอบล่าสุดก็อาจเป็นผลจากการคาดการณ์ถึงโอกาสการเกิดภาวะเงินเฟ้อหลังจากที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้
ประเด็นที่สอง หากพิจารณาทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) และสามารถรักษามูลค่าตัวเองในระยะยาว (สามารถรักษา Purchasing power ในระยะยาวได้) ทองคำก็เป็นสินทรัพย์ที่เปรียบเสมือนพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงขึ้น (ลง) ของอัตราดอกเบี้ยจึงมีผลต่อ Real gold price เช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล
ประเด็นสุดท้าย ปริมาณการถือครองทองคำโดยกองทุนรวม ETFs มีผลโดยตรงต่อ Real gold price สำหรับประเด็นนี้คือหลักการ อุปสงส์-อุปทาน โดยตรง โดยการถือครองทองคำโดยกองทุนรวม ETF ที่เพิ่ม (ลด) จะมีผลบวก (ลบ) ต่อ Real gold price (สำหรับประเด็นนี้ ผมเชื่อว่าเป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ยาก โดยเราจะรู้ว่ากองทุนรวม ETF ซื้อหรือขาย ทองคำ ก็ต่อเมื่อกองทุนรวม ETF ขายหรือซื้อ ไปแล้ว และมีผลต่อราคาไปแล้วนั่นเอง)
ดังนั้นหากเราคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ ยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำต่อเนื่อง หรือมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีกจากปัจจุบันที่ 0.25% ขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกยังอัดฉีดสภาพคล่องผ่านนโยบายการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่องเพื่อประคอง / กระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะเงินเฟ้อ ด้วย 2 ปัจจัยนี้ผมเชื่อว่าเพียงพอที่จะทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกยังมีโอกาสปรับขึ้นและทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งได้ หลังการพักฐาน
กลับมาที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลังการรายงานผลการดำเนินงาน 2Q63 ดังที่ได้เกริ่นไปตอนต้นของบทความ ผมประเมินว่าตลาดหุ้นไทยจะยัง Sideway ต่อเนื่อง และนักลงทุนยังคงต้องเน้นการลงทุนไปที่หุ้นรายตัวที่ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องใน 2H63 และระมัดระวังหลุมพรางของหุ้นมูลค่า หรือ “Value trap” ที่แม้มูลค่าหุ้นจะถูกแต่แนวโน้มผลการดำเนินงานที่อ่อนแอจะทำให้ราคาหุ้นยังไม่ปรับขึ้นจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงที่เลวร้ายไปได้ นอกจากนี้แนะนำให้ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯที่คาดจะทยอยออกมาตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.เป็นต้นไป
SOURCE : www.bangkokbiznews.com