'เศรษฐกิจสหรัฐ' น่าห่วง เชื่อมั่นผู้บริโภคถดถอย
"เศรษฐกิจสหรัฐ" ยังน่าเป็นห่วง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะตกต่ำ กำลังซื้อช่วง ก.ค.63 เพิ่มขึ้น แต่ยังน้อยกว่า พ.ค.-มิ.ย. ทั้งที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสจำนวนมาก ด้านนักวิเคราะห์เตือน หากรัฐบาลไม่มีความช่วยเหลือฉุกเฉิน เศรษฐกิจคงไม่ฟื้นในเร็วๆ นี้
เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่มีข่าวดี ข้อมูลใหม่เมื่อวันศุกร์ (28 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เผยว่า ผู้บริโภคสหรัฐยังคงใช้จ่ายในเดือน ก.ค. แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 2 เดือนก่อนหน้ามาก ทั้งๆ ที่เดือน พ.ค.และ มิ.ย.เป็นช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พุ่งขึ้น ส่วนความเชื่อมั่นเดือน ก.ค.ยังอยู่ในข่าย “ตกต่ำ”
ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เตรียมลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 แต่เศรษฐกิจที่เขาหวังว่าจะฟื้นตัวได้จากโควิด-19 ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม นักวิเคราะห์เตือนว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีความช่วยเหลือฉุกเฉินมาให้ เศรษฐกิจคงไม่ฟื้นในเร็วๆ นี้
ลิเดีย บุสโซร์ จากออกซ์ฟอร์ดอีโคโนมิกส์ เขียนบทวิเคราะห์เตือนว่า แรงหนุนเศรษฐกิจเสี่ยงสะดุดเนื่องจากผู้บริโภคไร้ความเชื่อมั่น รายได้หลักลดฮวบ จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม เพราะถ้าผู้บริโภคมีฐานะการเงินไม่ดี เศรษฐกิจในภาพใหญ่ที่ดีที่สุดคือแค่ซวนเซ แต่ถ้าแย่ที่สุดคือเศรษฐกิจถดถอยเข้าสู่ขาลง
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานค่าใช้จ่ายส่วนตัวผู้บริโภค (พีซีอี) ประจำเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 1.9% หรือ 2.67 แสนล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. จากที่เคยเพิ่มขึ้น 6.2% และ 8.6% เมื่อสองเดือนก่อนหน้า
แต่แม้จะเพิ่มขึ้นมาก แต่การใช้จ่ายยังคงต่ำกว่าในเดือน ก.พ.ก่อนโควิดระบาดอยู่มาก หลังจากนั้นธุรกิจทั่วประเทศจำเป็นต้องปิดตัวลงเป็นเหตุให้คนตกงานหลายสิบล้านคน
รายงานระบุด้วยว่า รายได้ส่วนบุคคลประจำเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากลดลง 2 เดือน ที่รายงานชี้ว่า มากกว่าที่ได้จากเงินชดเชยพนักงาน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าเปิดดำเนินการได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การเปิดเศรษฐกิจมาพร้อมกับจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นในหลายรัฐ จนต้องสั่งล็อกดาวน์กันใหม่
รายได้จากกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินของรัฐบาลก็ลดลงอย่างมากในเดือน ก.ค. หลายโครงการสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค. ถึงตอนนี้ทั้งทำเนียบขาวและสภาคองเกรสยังคงผ่าทางตันมาตรการช่วยเหลือชุดใหม่ไม่ได้ มาตรการชุดนี้จะรวมถึงการช่วยเหลือรัฐบาลมลรัฐและท้องถิ่น พร้อมขยายเงินช่วยเหลือการว่างงาน
นอกจากนี้ โคคาโคลาและเอ็มจีเอ็ม รีสอร์ต ยังกลายเป็นบริษัทใหญ่รายล่าสุดที่ประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ผลจากรายได้หดหายช่วงโควิด-19 ระบาด
เอ็มจีเอ็ม รีสอร์ต ประกาศเลิกจ้างพนักงานที่ถูกพักงาน 18,000 คน เนื่องจากอนาคตของบริษัทยังคงไม่แน่นอน ส่วนโคคาโคลาตัดธุรกิจหลายหน่วยและเสนอให้พนักงาน 4,000 คนในอเมริกาเหนือสมัครใจลาออก และจะลดพนักงานในต่างประเทศเพิ่มอีก
ทั้งนี้ หลังจากสหรัฐรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ดิ่งลง 31.7% ในไตรมาส 2 นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจีดีพีจะฟื้นในไตรมาส 3 แม้ไม่แน่ใจว่าจะฟื้นได้ขนาดไหน แต่สัปดาห์ก่อนคนงานสหรัฐยื่นขอผลประโยชน์ว่างงานเพิ่มอีก 1 ล้านคน ขณะที่การจ้างงานในเดือน ก.ค.ลดลง 15 ล้านคนเมื่อเทียบกับเดือนก.พ. ก่อนที่ธุรกิจต้องปิดตัวเพราะโรคระบาด
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนประจำเดือน ส.ค.ขยับขึ้นเล็กน้อย จาก 72.5 เป็น 74.1 ริชาร์ด เคอร์ติน นักเศรษฐศาสตร์หัวหน้าคณะสำรวจเผยว่า ตัวเลขนี้ยังอยู่ในข่ายตกต่ำที่เป็นมาตลอด 5 เดือน
พร้อมกันนั้นดัชนีราคาพีซีอี มาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จับตาอย่างใกล้ชิดชะลอลงเช่นกัน โดยขยับขึ้น 0.3% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน มิ.ย. ถ้าเทียบกับเดือน ก.ค.2562 ดัชนีเพิ่มขึ้น 1%
เมื่อวันพฤหัสบดี (27 ส.ค.) เฟดเผยถึงการเปลี่ยนนโยบาย หมายความว่าเฟดจะปล่อยให้เงินเฟ้อเกินเป้า 2.0% สักระยะหนึ่งโดยไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานอย่างเต็มที่ แต่การมุ่งเน้นการจ้างงานแบบนี้จะทำไม่ได้จนกว่าเศรษฐกิจร้อนแรงและเงินเฟ้อกลับมา
ถ้าไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน เงินเฟ้อพีซีอีเดือน ก.ค.ขยับขึ้นแค่ 0.3% และเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
SOURCE : www.bangkokbiznews.com