GUNKUL ชี้ ธุรกิจพลังงานทดแทนโตต่อเนื่อง
GUNKUL มองสัญญาณครึ่งปีหลังยังสดใส อานิสงส์โซลาร์ฟาร์มเวียดนาม-พลังงานลม และงาน EPC หนุนเต็มสูบ พร้อมเดินหน้าประมูลงานเพิ่มปั๊มผลงานโตแข็งแกร่ง เผยเตรียมร่วมประมูลโครงการใหม่ เสริมศักยภาพรายได้และกำไร กลุ่มบริษัทให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากกว่าเดิม
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจของบริษัทช่วงครึ่งปีหลังคาดเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังเป็นช่วงไฮซีซั่นของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม
ขณะที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) เชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตค่อนข้างสูง เนื่องจากทยอยรับงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมียอดขายที่รอรับรู้รายได้หลังจากได้มีการโอนสินค้าแล้ว (Backlog) ราว 8,000 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้รายได้ถึงปี 2565
ทั้งนี้บริษัท เชื่อว่าธุรกิจด้านพลังงานทดแทนจะยังคงเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ ยังคงเข้าร่วมประมูลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ อย่างน้อย 1 โครงการ รวมถึงเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ จากภาครัฐ เนื่องจากภายใน 10 ปีนี้ ภาครัฐจะเร่งขยายการสร้างกิจการเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท ทำให้มั่นใจรายได้ และกำไรสุทธิในปีนี้จะเติบโตอย่างโดดเด่น โดยยังคงเป้าหมายการเติบโตปีนี้ไม่น้อยกว่า 15 %
บริษัทจะมีการเปิดตัว Gunkul Spectrum เพื่อดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงาน โดยได้มีการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงาน ด้วย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้นทุนทางพลังงานที่ถูกลง ประกอบกับ GUNKUL อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 38 ปี จึงมองว่าพลังงานเป็นสิ่งจำเป็น และเชื่อมั่นว่าพลังงานมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก ซึ่งในอนาคตเชื่อว่ารูปแบบอุตสาหกรรมพลังงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส 3/63 เตรียมการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเทศมาเลเซีย กำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนกำลังการผลิตตามการถือหุ้นที่ราว 21 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้ามาช่วยหนุนการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนความคืบหน้าของโครงการในประเทศเมียนมา มีการเปิดให้ประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 30 โครงการ มูลค่ารวม 1,000 เมกะวัตต์ โดยเตรียมหาพื้นที่รองรับได้ทั้งหมด 4 โครงการ กำลังการผลิตรวมราว 150 เมกะวัตต์ หวังที่จะได้งานไม่ต่ำกว่า 2 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในระยะเวลา 1-2 เดือนต่อจากนี้