5 วิธีกำจัดนิสัย “ผัดวันประกันพรุ่ง”
รู้ตัวบ้างหรือเปล่า ว่าที่งานไม่เดิน ทำอะไรก็ค้าง ๆ คา ๆ ไม่สำเร็จเลยสักอย่าง หรือตั้งใจจะทำอะไรไว้ก็ไม่เคยได้ลงมือทำ ต้นเหตุที่ใหญ่ที่สุดคือตัวคุณเอง ซึ่งถ้าคุณพูดคำว่า “เดี๋ยวก่อน” “แป๊บนึง” “ไว้ก่อน” หรือ “พรุ่งนี้ละกัน” จนติดปาก คุณมีนิสัย “ผัดวันประกันพรุ่ง” อยู่ในตัว บางทีคุณอาจจะพูดบ่อยจนไม่ทันคิด คนฟังหลายคนก็อาจจะตั้งคำถามว่า เดี๋ยวของคุณนั้นนานแค่ไหน? พรุ่งนี้ของคุณคือเมื่อไรกัน?
คุณรู้ดีว่านิสัยผัดวันประกันพรุ่งคงคุณนั้นไม่ดี และก็คงอยากที่จะแก้นิสัยเสียนี้เสียทีด้วย Tonkit360 เลยมีวิธีดี ๆ มาแนะนำ ซึ่งประยุกต์ใช้ได้กับทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน หรือแม้กระทั่งการทำงานบ้าน อย่างไรก็ตาม ต้องบอกไว้ก่อนว่าวิธีเหล่านี้ไม่มีใครช่วยคุณได้ คุณต้องลงมือทำเอง มีแค่คุณคนเดียวเท่านั้นที่จะควบคุมตัวเองได้
ถ้าคุณเดี๋ยว เพราะคุณ “ขี้เกียจ”
ถ้างานไม่เดิน คุณโทษใครไม่ได้เลยนอกจากตัวเอง ถ้าคุณยังบังคับตัวเองไม่ได้ก็ไม่มีใครทำได้อีกแล้ว การที่คุณอยากแก้นิสัยอ้อยอิ่งผัดไปเรื่อย ๆ แปลว่าคุณก็ไม่ชอบตัวเองตอนที่ใช้ชีวิตไม่มีแก่นสารแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งการแก้นั้นไม่ยาก ที่ยากคือตัวคุณเอง คุณต้องเตือนตัวเองตลอดเวลา ว่าคุณต้องเป็นคนใหม่ให้ได้
ให้คุณใช้กลยุทธ์ “กรุงโรมสร้างเสร็จในคืนเดียว” โดยทำ To Do List ในแต่ละวัน แจกแจงรายละเอียดให้ละเอียด กำหนดเวลาให้ชัดเจนเป๊ะ ๆ ว่าตอนนี้ต้องทำอะไร เสร็จแล้วทำอะไรต่อ การกำหนดสิ่งที่ต้องทำในลักษณะที่ถูกจำกัดด้วยเวลานี้ คุณจะรู้สึกว่าถูกกระตุ้นว่า “ต้องทำ” และต้องทำเสร็จด้วย ลองได้ยุ่งทั้งวันแบบนี้คุณจะเอาเวลาที่ไหนมาเอ้อระเหยจริงไหม?
ถ้าคุณเดี๋ยว เพราะคุณ “เหนื่อย”
ในกรณีที่คุณทำงานหลัก และตั้งใจว่าจะทำงานอดิเรกสักอย่างหรือสมัครลงเรียนเพิ่มเติม แต่กลับมีความรู้สึก “แค่ทำงานก็เหนื่อยแล้วนะ” ขึ้นมาเสียอย่างนั้น ไม่เป็นไร คุณสามารถเดินหน้าต่อในสิ่งที่อยากทำได้เลย ถ้าเหนื่อยก็แค่พัก ไม่เห็นจะยากอะไรตรงไหน หายเหนื่อยก็ค่อยกลับมาทำเท่านั้นเอง
แม้ว่าจะอยากเปลี่ยนตัวเอง แต่คุณต้องไม่เครียดจนเกินไป บางครั้งการอู้บ้าง ขี้เกียจบ้าง ก็เป็นผลมาจากความเหนื่อยล้าของร่างกาย หรือความอ่อนไหวทางจิตใจ เพราะถ้าคุณหากดันทุรังที่จะทำแล้วทำไม่สำเร็จ จะกลายเป็นว่าคุณอาจรู้สึกไม่ดีกับสิ่งนั้น หรือรู้สึกเกลียดตัวเองเลยก็ได้ การพักจึงเป็นการชาร์จพลังกายพลังใจให้ตัวเองกลับมาฮึกเหิมอีกครั้ง
ถ้าคุณเดี๋ยว เพราะคุณ “ไม่ว่างจริง ๆ”
ถ้าคุณเป็นมนุษย์คิวทอง การงานรัดตัว เพื่อนฝูงเยอะ นัดเที่ยวไม่หยุดหย่อน คุณต้องใช้ทักษะ “บริหารจัดการเวลา” เข้ามาช่วย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ใน 1 วันมี 24 ชั่วโมง ถ้าคุณกำหนด To Do List ว่ากิจกรรมหนึ่ง ๆ จะใช้เวลา 1 ชั่วโมง แล้วคุณสามารถทำได้เป๊ะ ๆ ตามที่วางไว้ คุณจะทำได้มากถึง 24 กิจกรรมเชียว เพราะถ้าคุณทำสำเร็จ คุณจะมีแรงบันดาลใจดี ๆ ที่จะทำ
คุณสามารถวางแผนตามที่คุณสะดวก ว่า 24 ชั่วโมงคุณจะทำอะไรบ้าง เช่น แบ่งเวลาคร่าว ๆ เป็น 3 ช่วง คือ 8-8-8 คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และทำเรื่องส่วนตัว 8 ชั่วโมง แล้วพยายามบริหารเวลาให้ได้ตามนี้ ถ้าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนคอขาดบาดตาย หยุดเมื่อหมดเวลาสำหรับกิจกรรมนั้น และอย่าให้ไปกระทบกับเวลาช่วงอื่น วิธีนี้ช่วยให้คุณจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้นเยอะเลย
ถ้าคุณเดี๋ยว เพราะคุณ “ติดโทรศัพท์”
หลายต่อหลายคนทำแผนที่วางไว้ดิบดีพัง เพราะ “ติดโทรศัพท์” ทั้งท่องอินเทอรเน็ต เล่นเกม ไถโซเชียล คุณต้องลองสังเกตตัวเองดูว่าคุณติดโทรศัพท์เกินไปหรือเปล่า และใช้เวลากับโทรศัพท์วันละกี่ชั่วโมง ยิ่งรู้ว่านานคุณอาจจะรู้สึกเสียดายเวลาขึ้นมาบ้างก็ได้ แต่ถ้าคุณเคยเจรจากับตัวเองดี ๆ แล้วว่าให้วางมือแล้วไปทำนั่นทำนี่แล้วไม่ได้ผล ยังคงรากงอกไม่ลงมือทำ คุณต้องใช้ยาแรงด้วยการ “หักดิบ” กับตัวเองแล้ว
วิธีการก็คือ “ตั้งเวลาปิด” คุณอาจหาโหลดแอปพลิชันที่สามารถตั้งปิดแอปฯ ทุกแอปฯ ที่คุณติดให้ดับลง หรือตั้งเวลาปิดโทรศัพท์ การที่โทรศัพท์ดับไปต่อหน้าต่อตาเป็นสัญญาณที่บอกว่าได้เวลาเปลี่ยนกิจกรรม รวมถึงยังทำให้คุณรู้สึกขัดใจ เซ็ง โมโห และไม่มีอารมณ์จะเปิดขึ้นมาเล่นใหม่ คุณก็จะหาอย่างอื่นทำแก้เบื่อ อย่างน้อย ๆ คุณก็อาจจะทำเสร็จไป 1 อย่าง
ถ้าคุณเดี๋ยว เพราะคุณ “ไม่มีเป้าหมาย”
ยังไม่มี ก็เริ่มตั้งเป้าหมายเดี๋ยวนี้เลย จริง ๆ คุณรู้ตัวดีว่าคุณต้องทำอะไรต่อไป ซึ่งถ้าคุณมองเป็นเรื่องธรรมดา มันก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ท้าทาย ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ดังนั้น ให้คุณตั้งเป้าหมายอะไรก็ได้ขึ้นมาสักอย่าง ไม่ต้องแปลก ไม่ต้องใหญ่ ไม่ต้องยาก ตั้งแบบในสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ
นั่นเป็นเพราะ การที่คุณจะเปลี่ยนเป็นคนที่ไม่เดี๋ยวและลงมือทำทันที เริ่มต้นคุณจะพยายามประวิงเวลาอยู่ดี ซึ่งถ้าเป้าหมายยากเกินไปคุณอาจล้มเลิกความตั้งใจไปก่อน ท้ายที่ไปไม่รอด แต่ถ้าเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ ทำเสร็จง่าย ๆ เมื่อทำได้สำเร็จ คุณจะรู้สึกเหมือนเป็นผู้ชนะ เป้าหมายใหญ่ ๆ จะตามมาเอง เพราะคุณจะมีแรงบันดาลใจจะทำเรื่องที่ท้าทายกว่าเดิม ใหญ่กว่าเดิม และต้องสำเร็จด้วย เพื่อจะยังชนะตัวเองได้ต่อไป
SOURCE : tonkit360