ความสำคัญและความท้าทายต่อการพัฒนาพื้นที่ เกาะรัตนโกสินทร์ ยุควิถีใหม่

 

เกาะรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก และคลองรอบกรุงทางทิศตะวันออก โดยมีคลองคูเมืองเดิมแทรกกลางแบ่งเป็นพื้นที่ชั้นใน และพื้นที่ชั้นนอก เกาะรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยพื้นที่ 4.10 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,563 ไร่ (ภาพที่ 1) หากพิจารณาตามขอบเขตการปกครอง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในขอบเขตของเขตพระนคร ประกอบด้วย 9 แขวง ได้แก่ 1) แขวงพระบรมมหาราชวัง 2) แขวงวังบูรพาภิรมย์ 3) แขวงวัดราชบพิธ 4) แขวงสำราญราษฎร์ 5) แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ 6) แขวงเสาชิงช้า 7) แขวงชนะสงคราม 8) แขวงตลาดยอด และ 9) แขวงบวรนิเวศ

ภาพที่ 1 พื้นที่ เกาะรัตนโกสินทร์

เกาะรัตนโกสินทร์ ยังเป็นที่ตั้งของชุมชนและย่านเก่าแก่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ และสถานที่สำคัญระดับชาติมากมาย อาทิ 1) พระราชวัง จำนวน 5 แห่ง 2) 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม 4) 6 กรม 5) ศาสนาสถานทุกศาสนา มากกว่า 20 แห่ง รวมทั้งวัดราชบพิธอันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช 6) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 7) โรงเรียนสำคัญ 9 แห่ง และ 8) พิพิธภัณฑ์ระดับชาติ จำนวน 7 แห่ง (ภาพที่ 2 – ภาพที่ 3) ในเรื่องการคมนาคมขนส่ง เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นศูนย์กลางสายเดินรถประจำทาง จำนวน 22 สาย และการโดยสารทางเรือ ประกอบด้วยท่าเรือข้ามฟาก และท่าเรือด่วน จำนวน 8 ท่า มีปริมาณผู้โดยสารข้ามฟาก มากกว่าหนึ่งแสนคนต่อวัน (เทียบได้กับผู้โดยสาร รฟม.) และผู้โดยสารเรือด่วนวันละกว่าแปดหมื่นคน (เทียบเคียงกับผู้โดยสาร Airport Rail Link) จำนวนประชากรในพื้นที่ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจ ณ ปี 2559 ประมาณ 36,500 คน โดยมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งรายได้ครัวเรือน เมื่อเทียบกับรายจ่ายครัวเรือน พบว่าในหลายแขวงประชากรประสบปัญหาติดลบ (รายจ่ายมากกว่ารายได้) ในขณะที่ภาครัฐมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรืออุตสาหกรรมใหม่ จากการสำรวจยังคงพบว่าประชากรในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ยังคงจัดอยู่ในประเภทขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เป็นส่วนใหญ่ ปัญหาการจราจรเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมของคนที่อยู่อาศัยและประกอบสัมมาชีพในพื้นที่  จากการเก็บสถิติความเร็วยวดยานในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็นของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยเกาะรัตนโกสินทร์มีความสำคัญเสมือนพื้นที่กระจายการจราจรระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ผนวกกับการจำกัดของพื้นที่ถนน สภาพคอขวดบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานพระปกเกล้า และสะพานพระพุทธยอดฟ้า และพื้นที่จอดรถที่จำกัด ในขณะที่มีแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติจำนวนมากภายในเกาะฯ เช่น พระบรมมหาราขวัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ปากคลองตลาด และท่าเตียน เป็นต้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 6 ล้านคนต่อปี ปัจจัยเหล่านี้ผนวกกันย่อมส่งผลวิกฤติด้านการเดินทางสัญจรและสภาพแวดล้อมต่อพื้นที่แห่งนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้

ภาพที่ 2 ชุมชนและย่านที่สำคัญใน เกาะรัตนโกสินทร์

ภาพที่ 3 สถานที่สำคัญต่าง ๆ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการสัญจรภายในเกาะรัตนโกสินทร์ของภาครัฐ ที่สำคัญได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง (รถไฟฟ้า) 3 สายทาง ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีส้ม และสายสีม่วง มีสถานีที่สำคัญ 3 แห่ง ในพื้นที่ ได้แก่ สถานีผ่านฟ้า สถานีวังบูรพา และสถานีสนามไชย ตามภาพที่ 4

 

ภาพที่ 4 รวมระบบการสัญจรใน เกาะรัตนโกสินทร์

 

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ เกาะรัตนโกสินทร์ ตามกำหนด รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีส้มคาดว่าจะแล้วเสร็จ ประมาณปี 2563 สายสีม่วงแล้วเสร็จ ประมาณปี 2567 ตามลำดับ

 

ปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคหรือความท้าทายต่อการพัฒนาเมืองในยุควิถีใหม่ (new normal) จำนวน 5 ประการ ได้แก่ 1) การขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอันเป็นรายได้ที่สำคัญต่อภาคอุตสากรรมท่องเที่ยวของชุมชน ในสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ที่ยืดเยื้อยาวนาน 2) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปัจจุบัน (2556) ที่กำหนดพื้นที่ เกาะรัตนโกสินทร์ ให้เป็นเขตสีน้ำตาลอ่อน ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย 3) กฎหมายควบคุมอาคารที่บังคับใช้ในปัจจุบัน 4) ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กําหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงใช้ หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทภายในบริเวณ เกาะรัตนโกสินทร์ และ 5) ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและการลงทุนในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ในอนาคตอันใกล้ได้ ดังสัญญาญช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่ชี้ว่าประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประชากรย้ายออก เป็นไปได้จากสาเหตุสภาพการใช้ประโยชน์อาคาร (building use) และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use) ที่ไม่เหมาะ (unfit) กับคนรุ่นใหม่ (new generation) และรายได้ครัวเรือนติดลบ อันเนื่องมาจากขาดแหล่งงานสมัยใหม่ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าและบริการ หรือแหล่งงานและที่พักอาศัยที่ไม่สนองตอบความต้องการของคนรุ่นใหม่อีก  จากเหตุผลดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์อาคาร ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบหลากหลาย (mixed use) ส่งเสริมระบบสัญจรสีเขียว (green transportation) และอนุญาตให้เพิ่มความหนาแน่นประชากร (density) อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้เมืองและชุมชนฟ้าอมรแห่งนี้มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีพของคนรุ่นหลังต่อไป

 

ขอบคุณ บทความ https://is.gd/VtLjSk

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

กรุงเทพมหานคร. (2556). กฎกระทรวงให้บังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2556. ราชกิจจานุเบกษา.

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2561). การพัฒนาย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์.

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม. (2559). โครงการศึกษาออกแบบ

รายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธินและการพัฒนาตันแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลาง

คมนาคม.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2560). รายงานสถิติรายปี ประเทศไทย 2560.

 

ผู้เขียน 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สญชัย ลบแย้ม

ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

อีเมล์ drsonchai@gmail.com