เอสเอ็มอี เฮ! ดีเดย์ 1 ต.ค. เข้าถึงงบจัดซื้อจัดจ้างรัฐ
สสว. ดีเดย์ 1. ต.ค. นี้ ใช้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ กำหนดหน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างรายย่อย รายเล็กไม่ต่ำกว่า 30% หวังเข้าถึงงบภาครัฐไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี
โดยในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน(ฉบับที่2) พ.ศ. ... จะประกาศบังคับใช้ เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ง่ายขึ้น โดยมี 2 มาตรการสำคัญ คือ กำหนดสัดส่วนจัดซื้อจากเอสเอ็มอี ไม่น้อยกว่า 30% ของวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในหมวดสินค้า/บริการที่กำหนด โดยให้คัดเลือกจากเอสเอ็มอีในจังหวัดก่อน หากไม่มีในจังหวัดหรือมีจำนวนไม่ครบ 3 ราย สามารถคัดเลือกจากภายนอกจังหวัดได้ และการให้แต้มต่อเอสเอ็มอีที่เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีอี-บิดดิ้ง เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดไม่เกิน 10%
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยผู้ประกอบการ 2 กลุ่ม คือ ไมโคร หรือรายย่อย ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท หรือจ้างงานไม่เกิน 5 คน และวิสาหกิจขนาดเล็ก รายได้ 50-100 ล้านบาท จ้างงาน 30-50 คนเป็นหลัก ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็ปไซต์สสว. คาดว่าถึงวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะมีเอสเอ็มอีทุกอุตสาหกรรม และภาคบริการ จากทั่วประเทศลงทะเบียนพร้อมขึ้นรายการสินค้าประมาณ 126,320 ราย ซึ่งปัจจุบันมีเอสเอ็มอีลงทะเบียนแล้ว 440 ราย จาก 41 จังหวัด รวมรายการสินค้าประมาณ 1,200 รายการ
“โครงการนี้ฯ จะประสบความสำเร็จมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ เอสเอ็มอี จะเข้ามาลงทะเบียนมากน้อยแต่ไหน ในส่วนของภาครัฐจะต้องซื้อสินค้า หรือบริการ ตามที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 30% หากไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดจะต้องทำรายงานชี้แจงให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมาย จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็กเข้าถึงงบภาครัฐไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท”
สำหรับในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นผู้ค้าภาครัฐ จำนวนกว่า 4.5 หมื่นราย มีมูลค่าประมาณ 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางที่ทำธุรกิจก่อสร้าง ทำให้งบประมาณภาครัฐส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ในมือผู้ประกอบการขนาดกลาง ที่มีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย และรายเล้ก เข้าถึงงานภาครัฐได้มากขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด สสว. จึงได้เตรียมแผนสร้างการรับรูปให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งในรูปแบบการอบรม และมอบหมายให้ศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (โอเอสเอส) ซึ่งมีสาขาทั่วประเทศ เป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ให้พร้อมเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต่อไป
SOURCE : www.bangkokbiznews.com