ทำความเข้าใจพื้นที่กทม. เหตุใด “น้ำท่วม” เมื่อฝนตกหนัก
ทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญหนีไม่พ้นเรื่อง “น้ำท่วม” ที่กลายเป็นของคู่กัน ยิ่งถ้าตกในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อการสัญจรบนท้องถนนไปด้วย จนทำให้การจราจรเป็นอัมพาตแทบทุกสาย และยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากี่คนแล้วก็ตาม
พื้นที่กทม.เป็นที่ราบลุ่มเอื้อต่อน้ำท่วม
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ากรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่ง คือฝั่งธนบุรี กับฝั่งพระนคร (กรุงเทพฯ) ซึ่งฝั่งธนบุรีอยู่ในระดับที่สูงกว่าฝั่งกรุงเทพฯ เพราะมีพื้นที่เป็นดอน ต่างจากฝั่งกรุงเทพฯที่มีพื้นที่ลุ่มต่ำลาดลงไปทางทิศตะวันออก และมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ง่ายต่อการเกิดน้ำท่วมขัง
นอกจากนี้ พื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่างนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นที่ราบที่มีความลาดชันต่ำมาก การไหลของน้ำตามธรรมชาติในช่องทางน้ำจึงช้า หากมีน้ำปริมาณมากจากแม่น้ำสาขาทางตอนเหนือสะสมและไหลบ่าลงมา หรือมีน้ำฝนตกในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ปริมาณน้ำล้นตลิ่ง หรือน้ำหลาก ก็อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยได้
30 ปีข้างหน้า เสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 4 เท่า
ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้น 19-29 เซนติเมตร ภายในปี 2593 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักผ่ากลางกรุงเทพฯ ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วยจากปกติที่น้ำล้นฝั่งเป็นประจำอยู่แล้ว
ขณะที่รายงานจากธนาคารโลกระบุว่า ภายในปี 2593 กรุงเทพฯ จะเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 4 เท่า จากปัจจุบัน เพราะแผ่นดินทรุดลง ประกอบกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สอดคล้องกับที่้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุว่า กรุงเทพฯ จะเป็นหนึ่งใน 10 เมืองของโลกที่เสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปรากฏการณ์น้ำท่วมชายฝั่งภายในปี 2613 หรือ 50 ปีข้างหน้า
14 จุดเสี่ยงน้ำท่วม แม้ฝนตกไม่เกิน 60 มิลลิเมตร
จากการเปิดเผยของ นายจักรพันธ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมรวม 14 จุด แม้ปริมาณฝนไม่ถึง 60 มิลลิเมตรก็ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ได้แก่
- ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงคลองเปรมประชากร
- ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ
- ถนนพหลโยธินช่วงหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตร
- ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน
- ถนนราชวิถีช่วงหน้าราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธน
- ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์
- ถนนศรีอยุธยาช่วงหน้า สน.พญาไท
- ถนนจันทน์ จากซอยบำเพ็ญกุศล-ไปรษณีย์ยานนาวา
- ถนนสวนพลูจากถนนสาทรใต้-ถนนนางลิ้นจี่
- ถนนสาธุประดิษฐ์บริเวณแยกตัดถนนจันทน์
- ถนนสุวินทวงศ์ช่วงจากคลองสามวา-คลองแสนแสบ
- ถนนเพชรเกษมจากคลองทวีวัฒนา-คลองราชมนตรี
- ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ
- ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระราม 2-ถนนบางขุนเทียนชายทะเล
ท่อระบายน้ำเก่า-ขนาดเล็ก ระบายไม่ทัน
แม้ว่าทุกจุดกทม.ได้พัฒนาแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเสริมกำลังการระบายน้ำเมื่อฝนตก โดยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการระบายน้ำในจุดต่าง ๆ เพื่อให้รองรับปริมาณน้ำฝนให้ได้มากขึ้น แต่หากฝนตกหนักต่อเนื่องก็ยังไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน
โดยนายสมพงษ์ เวียงแก้ว ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่ากทม.เป็นเมืองเก่า ท่อระบายน้ำก่อสร้างมานานแล้ว บางท่อมีขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30-60 ซม. ส่วนขนาดใหญ่สุดประมาณ 80 ซม. ซึ่งแต่เดิมได้ออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำฝนในปริมาณที่ฝนตกไม่เกิน 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง แต่ปัจจุบันฝนที่ตกลงมามีปริมาณมากกว่า 100 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ทำให้ระบายน้ำไม่ทัน จึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
SOURCE : tonkit360