"สะพานไทย" สะพานข้ามอ่าวไทยจาก จ.ชลบุรี-จ.เพชรบุรี มูลค่าราว 9.9 แสนล้านบาท หนึ่งในเมกะโปรเจคของรัฐบาล ภายใต้โครงการ EEC ที่ใช้โครงการที่ใช้งบประมาณมากสุดเท่าที่เคยมีในประเทศไทย แต่ประเด็นสำคัญคือ คุ้มค่าหรือไม่? มีปัจจัยความเสี่ยงอะไรบ้าง?

 

ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีท่าทีจะถดถอย กำลังมีความพยายามผลักดันอภิมหาโปรเจคเริ่มจากการผลักดันของ รมว.คมนาคม สำหรับโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “Southern Land Bridge” เป็นการสร้างถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟฟ้าระยะทางประมาณ 120 ก.ม. เชื่อมสองฝั่งทะเลเพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ที่มาจากยุโรป ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาหรือแวะจอดท่าเรือสิงคโปร์ โครงการนี้ใช้เงินประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท

โดยสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานฯ ออกมาเปิดตัวโครงการศึกษาสะพานไทยเป็นโครงการภายใต้ “อีอีซี” ด้วยการสร้างสะพานข้ามอ่าวไทยจาก จ.ชลบุรี เชื่อม จ.เพชรบุรี ระยะทาง 80-100 กิโลเมตร มูลค่า 9.9 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมากสุดเท่าที่เคยมีในประเทศไทย

ประเด็นคือ โครงการสะพานไทยกับ “Southern Land Bridge” จะเชื่อมต่อกันหรือไม่ สร้างเพื่ออะไร ผลลัพธ์อยู่ตรงไหน ความคุ้มค่าของการลงทุนและปัจจัยความเสี่ยงมีอะไรบ้าง การกล่าวว่าจะเป็นคอนเทนท์ของคนไทยจะช่วยโรงปูน โรงเหล็ก เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดแค่นี้คงไม่ใช่ เพราะอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ล้วนเป็นอุตสาหกรรมกึ่งผูกขาดขนาดใหญ่ แต่ SMEs และชาวบ้านไม่ได้อะไรหรือได้ก็แค่จิ๊บจ๊อย 

หากต้องการลดต้นทุนโลจิสติกส์การขนส่งในประเทศและหรือส่งเสริมการท่องเที่ยว แค่สร้างสะพานเชื่อมพัทยากับหัวหิน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของสองฝั่งอ่าวไทยก็น่าจะพอเพียงแล้ว และลดระยะทางได้ไม่น้อยกว่า 400 กิโลเมตร ขณะเดียวกันสะพานไทยก็จะกลายเป็น “Landmark” ของประเทศ

 
 

ทั้งนี้ะยะทางจากแหลมฉบังผ่านสะพานข้ามอ่าวไทยไปจนถึงท่าเรือระนองระยะทางไม่ต่ำกว่า 700 กิโลเมตรหรือมากกว่า ค่าขนส่งด้วยรถบรรทุกเทรลเลอร์ประมาณ 30,000-35,000 บาทต่อหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมผ่านสะพานอีกอย่างน้อย 2-3 พันบาท และค่ายกตู้ขึ้นลงระหว่าง 2 ท่าเรือ (ประมาณ 2,500 บาท) เป็นที่รับรู้ว่าการขนส่งทางทะเลเป็นประเภทการขนส่งที่ประหยัดกว่าการขนส่งทางถนนถึง 7 เท่า ลองเปรียบเทียบค่าขนส่งเรือชายฝั่ง จ.สุราษฎร์ธานีไปท่าเรือแหลมฉบัง ค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จประมาณ 13,900 บาท แค่นี้ก็รู้ว่าคุ้มค่าหรือไม่

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศต้นทุนขนส่งมีความสำคัญมากกว่าระยะเวลาที่ประหยัดได้ 2-3 วัน ซึ่งข้อเท็จจริงการเอาเรือเข้ามาเทียบแล้วเอาของลงท่าเรือเพื่อรอรถมารับก็เสียเวลาเป็นวัน เพราะไม่ใช่ว่าเรือรถจะมารับของได้ที่ข้างเรือ ต้องเอามากองไว้ที่ลานคอนเทนเนอร์ ขณะเดียวกันระยะทาง 650-700 กิโลเมตรใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หากจะไปต่อเรือแหลมฉบังเอาของยกตู้ขึ้นก็ต้องรอเรือแล้วยกตู้ขึ้นเรืออีก เป็นการ “Double Handling” เพิ่มทั้งเวลาและต้นทุน คิดอย่างไรก็ไม่คุ้ม

ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบเรือที่มาจากท่าเรืออัมสเตอร์ดัม ซึ่งอยู่เหนือสุดของยุโรปกับท่าเรือแหลมฉบังค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จหากเป็นเรือขาเข้าประมาณ 51,000 บาท หากเป็นขาออก 45,000 บาท เทียบกับใช้เส้นทางสะพานไทย แค่ขนส่งด้วยรถบรรทุกก็ใกล้เคียงกันแล้ว ยังไม่รวมค่า “Freight Charge” ที่ต้องยกเป็นตัวเลขผู้ที่ไม่คุ้นเคย อาจดูยากหน่อย แต่ถ้าวิเคราะห์ก็จะเห็นถึงความเป็นไปได้หรือไม่

ต้องคิดให้ดีเท่าที่ทราบมีที่ประเทศจีน เชื่อมฮ่องกง-มาเก๊า-จูไห่ ที่ญี่ปุ่นมีโครงการสะพานข้ามอ่าวโตเกียวระหว่างเมืองชิบะกับโยโกฮาม่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าคงต้องตอบโจทย์ให้ดีว่าต้องการอะไร หากเป็นแค่ท่องเที่ยวการลงทุนแค่สะพานข้ามอ่าวไทยน่าจะพอแล้ว และของแถมคือเป็นการร่นระยะเวลาการเดินทางและขนส่งได้ 1 ใน 3 โดยไม่ต้องผ่านถนนพระราม 2 ซึ่งรถติดมาก แต่หากจะทำเป็นสะพานยาวหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อจะเป็นเส้นทางเชื่อมการขนส่งอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน โดยหวังว่าท่าเรือระนองจะกลายเป็นท่าเรือสิงคโปร์แห่งที่ 2.....คิดและฝันได้ แต่โลกแห่งความเป็นจริงคนละเรื่องกันนะครับ

SOURCE : www.bangkokbiznews.com