WELLNESS CITY TRANSFORMATION : New paradigm of Thailand city planning “คิดใหม่ ให้เมือง” เปิดมุมมองพัฒนาเมืองยั่งยืน เนื่องในวันผังเมืองโลก 2563
WELLNESS CITY TRANSFORMATION : New paradigm of Thailand city planning
“คิดใหม่ ให้เมือง”
เปิดมุมมองพัฒนาเมืองยั่งยืน เนื่องในวันผังเมืองโลก 2563
เพราะ ผังเมือง คือ รากฐานของการพัฒนาเมือง
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทั่วโลกประสบปัญหาการรับมือโรคระบาด แทบทุกประเทศเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่มุ่งหาแนวทางใหม่ ทั้งทางด้านนโยบายและด้านกายภาพในการวางผังและออกแบบเมือง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี ดําเนินชีวิตปกติได้อย่างปลอดภัยมีความสุข
ด้วยเหตุนี้เนื่องในโอกาสวันผังเมืองโลกประจำปี 2563 กระทรวงมหาดไทยโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการขึ้นใน WELLNESS CITY TRANSFORMATION : New paradigm of Thailand city planning “คิดใหม่ ให้เมือง” เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผังเมือง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนตระหนักถึงบทบาทและความสําคัญของการผังเมือง โดยมุ่งเน้นการพัฒนางานผังเมืองให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
รายละเอียดการจัดงาน
วันจัดงาน : 6 พฤศจิกายน 2563
เวลา : 8.00-16.00 น.
สถานที่ : โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพ รัชดา
ราคา : ไม่มีค่าใช้จ่าย (จำนวนจำกัด)
สอบถาม : 02 299 4619 และ 02 299 4620 หรือ www.worldtownplanningday.com
ลงทะเบียน : ลงทะเบียนออนไลน์ สำรองที่นั่งล่วงหน้าฟังสัมมนาฟรี! เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด
หรือชมการสัมมนาได้ฟรี ผ่าน Facebook Live
งานสัมมนาครั้งนี้ เหมาะกับใคร
- ผู้วางนโยบายและผู้ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการวางผังเมือง
- คนทำงานสายผังเมือง นักวิศวกร สถาปนิก และผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในการร่วมสร้างเมือง
- นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจ
กำหนดการ
08.00 - 09.00 น. ลงทะเบียน
09.00 - 10.00 น. พิธีเปิดงานสัมมนาอย่างเป็นทางการ
10.00-12.00 น. เริ่มการบรรยาย
12.00-13.00 น. รับประทานอาหารเที่ยง
13.00-15.00 น. เริ่มการบรรยาย
15.00-16.00 น. ชมนิทรรศการเทคโนโลยีความก้าวหน้าการผังเมือง จากองค์กรต่างๆ
วัตถุประสงค์การจัดงาน
- เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผังเมือง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนตระหนักถึงบทบาทและความสําคัญของผังเมือง
- สร้างการมีส่วนร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการวางแผนการดำเนินการพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และชุมชน
- เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการพัฒนาเมือง เพื่อให้เท่าทันกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
รายละเอียดการสัมมนา
10.00-10.30 น. ทิศทางการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และการเติบโตของเมืองอย่างบูรณาการ โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
10.30-11.00 น. การออกแบบสาธารณูปโภคสีเขียว ด้วยภูมิสถาปัตย์เพื่อการรับมือภัยพิบัติ
โดย กชกร วรอาคม นักภูมิสถาปนิก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท Landprocess จำกัด ที่สนใจใช้ความรู้ด้านภูมิสถาปัตย์มาแก้ไขปัญหาเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่อง “ปฏิบัติการเมืองพรุน” ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์พื้นที่สาธารณะยักษ์ใหญ่มากมาย อย่างอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี สวนบำบัดลอยฟ้า โรงพยาบาลรามาธิบดี, อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโปรเจกต์สวนสาธารณะข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุด เจ้าพระยา สกายปาร์ค
“ทุกวันนี้วิศวกรรมโยธา ไม่ใช่แค่การสร้างเขื่อน สร้างตึก สร้างพื้นที่สีเขียว หรือทางเดิน เพราะวิศวคอนกรีต ไม่ใช่คำตอบของการสร้างเมืองในปัจจุบัน และบ่อยครั้งเราสร้างเมืองโดยไม่ได้คำนึงถึงระบบนิเวศ ความยืดหยุ่นของเมือง ในที่นี้จึงหมายถึง การออกแบบเมืองให้สอดรับกับระบบนิเวศน์ที่มีหลากหลายมิติ รองรับปัญหารอบด้านที่คาดการณ์ว่าน่าเกิดขึ้นกับเมือง และช่วยแก้ปัญหาต่างๆ”
11.00-11.30 น. โอกาสของไทยสู่การเป็น High-Value Wellness Tourism Destination
โดย ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
11.30 - 12.00 น. How Can Data Technology and Urban Design Improve the Wellness of Cities?
โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) นักสำรวจเมือง และผู้ทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองตามบริบทแต่ละท้องถิ่น หรืออีกบทบาทในฐานะหัวหน้าโครงการ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี หรือ GoodWalk ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินในชีวิตประจำวัน ของผู้คนในพื้นที่เมือง
เมื่อเอ่ยถึง Wellness City ต้องพูดถึงเรื่อง ‘เดิน’ เพราะการเดิน คือ สุขภาพเชิงปัจเจก แต่น่าแปลกการมีเมืองที่จะทำให้เราอายุยืน กลับทำให้คนที่อยู่ในเมืองมีเงินน้อยลง ต้องจ่ายมากขึ้น อย่างที่รู้กันว่าคนเราเดินวันละ 10,000 ก้าว จะช่วยสร้างสุขภาพที่ดี แต่เมืองมีทางเดินเท้าที่เหมาะกับการเดินหรือเปล่า? และกลายเป็นว่าทุกวันนี้ไทยเป็นประเทศที่มีค่าเดินทาง 20%ของรายจ่ายต่อคน ถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
“พื้นฐานของ Wellness City หรือเมืองที่ดี คือ เมืองที่ผู้คนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ แต่ระบบนั้นต้องรองรับความสะดวกและต้นทุนถูก ต้องทำเมืองให้เดินได้ ตรงนี้คือโจทย์ยากที่สุดและเป็นโจทย์สำคัญ ถ้าประเทศไทยจะไปต่อ”
13.00 - 13.30 น. การฟื้นฟูเมืองหลังสถานการณ์ Covid-19
โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง,กรรมการผังเมืองแห่งชาติ และนายกสภาวิศวกร
เพราะเมืองและผังเมือง คือ เรื่องเดียวกัน กรุงเทพเป็นเมืองที่มีปัญหาหนักอกหนักใจมากมาย แต่ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ ยกตัวอย่างกรณีโตเกียวที่แก้ปัญหาด้วยหลักวิศวกรรม ทั้งที่โตเกียวมีจำนวนคน-จำนวนรถมากกว่ากรุงเทพหลายเท่า แต่ทำไมโตเกียวกลับไม่ค่อยมีปัญหาน้ำท่วม สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาเหล่านี้แก้ได้
“ส่วนตัวผมเป็นนายกสภาวิศวกร และนักวิชาการด้านวิศวกรรม การนำเสนอการใช้หลักวิศวกรรมมาแก้ปัญหาเมือง สามารถทำได้เบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อุโมงค์ถนน แก้มลิงใต้ดิน จริงๆ ต่อให้ไม่มีโควิด-19 การวางผังเมืองก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายของกรุงเทพ เพียงแต่หลังโควิด-19 ทำให้เราต้องแก้ไขปัญหาอะไรเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า? ต้องคำนึกถึงเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด มาก่อนหรือเปล่า?”
13.30 - 14.00 น. Resiliency Framework for Future Wellbeing Cities
โดย รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ถ้ารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็สามารถออกแบบเมืองที่ตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้นได้ เช่น จะเกิดน้ำท่วม, ภัยแล้ง,ปัญหามลพิษทางอากาศ (Air Pollution), ปัญหาคลื่นความร้อนสูง (Extreme Heat), ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน (Energy Shortness), ความไม่มั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity), การขยายตัวของการเกิดอุบัติเหตุ (Accident Inflate) และอีกมากมาย
“ฉะนั้นเมืองในอนาคตควรคาดการณ์การป้องกันปรากฏการณ์เหล่านี้ และพัฒนาการแก้ปัญหาก่อนที่จะถึงเวลานั้น วางแผนแม่บทหรือวางผังเมือง หรือกำหนดแนวทางต่างๆ และสุดท้ายเราจะสู้กับโรบอทหรือเอไอไม่ได้ในเชิงประสิทธิภาพ ความแม่นยำ ฉะน้ันเมืองในอนาคตต้องทำให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ ต้องหล่อเลี้ยงความคิดสร้างสรรค์ของคนให้ได้ นี่คือหน้าที่ของเมืองในอนาคต”
14.00-14.30 น. CITY OF THE FUTURE : เมืองแห่งอนาคต
โดย รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ ผู้ก่อตั้ง OPENBOX ARCHITECTS และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท OPENBOX GROUP จำกัด สถาปนิกผู้คว้ารางวัลระดับโลกมากมาย
หลังเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วิถีชีวิตแบบปกติจึงเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่และกลายเป็นวิถีชีวิตปกติของเรา ในแบบที่เรียกว่า The Next Normal ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเมืองและชีวิตผู้คน ดังนั้นการบรรยายของรติวัฒน์ ยังคงย้ำเรื่องโซลูชั่นของการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต (City of Future) ที่จะมาตอบโจทย์วิถีการดำเนินชีวิตใหม่ ภายใต้แนวคิด S-E-N-S-E ได้แก่
- S - Space Efficiency : การจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- E - Energy Sharing : การใช้พลังงานร่วมกันอย่างประสิทธิภาพ
- N - Nature & Green : การให้ความสำคัญกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว
- S - Synchronization of Multi-Functions : การออกแบบให้ตอบโจทย์สถานการณ์ที่หลากหลาย
- E - Explorations of Innovations : สร้างสรรค์นวัตกรรมการอยู่อาศัยยกระดับคุณภาพชีวิต
14.30-15.00 น. แนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562
โดย อนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
15.00 - 16:00 น. เชิญเยี่ยมชมบูธนิทรรศการเทคโนโลยีความก้าวหน้าการผังเมือง จำนวน 9 บูธ
ได้แก่ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร, องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA), คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรือ ECC), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA, บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท เออร์เบิ้น สเปซ จำกัด และ บริษัท ซิตี้ แพลนโปรเฟสซิเออร์ จำกัด