“กระตุ้นกำลังซื้อต่างชาติ – ปรับโครงสร้างสาธารณูปโภคใหม่” เปิด 2 กลยุทธ์เด็ด ปลุกตลาดอสังหาฯ ปี 64
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศนโยบายขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือประชาชน และภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 และมีภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของการชำระภาษี ซึ่งขาดตอนมาในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็มีนโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในภาวะที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด
โดยสรุปว่า เรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะลดให้ 90% เพราะฉะนั้นก็จะชำระเพียงแค่ 10% ส่วนในเรื่องของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนนั้น จะลดให้เหลือ 0.01% โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้
“นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด -19 รอบแรก กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ของภาระภาษีที่ต้องเสียทั้งหมดในปี 2563 ในกรณีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม, ที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย, ที่ดินที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากเกษตรกรรม-ที่อยู่อาศัย รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์
โดยให้เจ้าของหรือผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียภาษีเพียง 10% ของภาระภาษีที่ต้องเสียได้ เพื่อบรรเทาภาระภาษีในปี 2563 ให้กับประชาชน และเลื่อนเวลาการชำระภาษีจากเดิมในช่วงเดือน มี.ค.ของทุกปี มาเป็นเดือน ส.ค.แทน”
กูรูอสังหาฯ เสนอ 2 แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนธุรกิจอสังหา ไปต่อได้ ช่วง Covid-19
น.ส. สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า ในมุมมองของที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอสังหาฯริมทรัพย์ เห็นว่า การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% นั้น เป็นแนวทางที่ดี ที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาฯ ได้โดยตรง ซึ่งการลดภาษีลงต่อเนื่องจากปีก่อน จะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการได้วางแผนธุรกิจในปีนี้ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก ที่ตอนนี้จำเป็นต้องเพิ่มกระแสเงินสดเข้าสู่บริษัท ให้ธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งอาจทำในรูปแบบการควบรวมกิจการ, การถ่ายโอนทรัพย์สิน รวมถึงเรื่องการเปิดตัวโครงการใหม่ ที่เลื่อนมาจากปี 63 และอาจต้องเลื่อนออกไปอีกในปีนี้
ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือบริษัทที่มีความพร้อมในการลงทุน ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นโอกาสทอง ในการปรับพอร์ตสินทรัพย์ ที่จะสามารถหาซื้อที่ดินใหม่ ๆ เข้าสต๊อกเพื่อรอการพัฒนาในอนาคตได้
ส่วนค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01% ที่จะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้บริโภคหรือผู้ซื้อบ้านโดยตรง มองว่า รัฐบาลควรปลดล็อกค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาฯ ทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง ในทุกระดับราคา จากเดิมที่กำหนดไว้ต้องเป็นบ้านใหม่ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเท่านั้น และเสนอให้รัฐเพิ่มนโยบาย "ลดค่าจดจำนอง" ให้เป็น 0.01% ด้วย จากเดิมที่ต้องจ่าย 1%
เช่น จากเดิมซื้อคอนโดมิเนียมราคา 2 ล้านบาท ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอน 1% เท่ากับ 20,000 บาท หากลดเหลือ 0.01% จะเหลือจ่ายเพียง 200 บาท เท่านั้น
ซึ่งการปรับลดค่าทั้งค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ให้เหลือ 0.01% จะเป็นผลดีที่ดึงดูดให้คนที่มีความต้องการซื้อบ้าน และมีกำลังซื้อให้ตัดสินใจซื้ออสังหาฯได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ภาครัฐควรมีการประชาสัมพันธ์นโยบายนี้ให้เข้าถึงประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการซื้ออสังหาฯ ในช่วงนี้ให้มากขึ้นด้วย
“กระตุ้นกำลังซื้อชาวต่างชาติ – ปรับโครงสร้างสาธารณูปโภค”
ที่ผ่านมาอสังหาฯไทย ได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนซื้ออสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากโควิด-19 แพร่ระบาด ก็ทำให้ลูกค้าต่างชาติหายไปเกือบหมด
มาตรการการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ อาจจะได้แค่ “บรรเทา” สต๊อกสินค้าให้ลดลงไปได้บ้าง แต่คงไม่เพียงพอที่จะช่วยผู้พัฒนาอสังหาฯไทยในช่วงนี้ โดยเฉพาะรายกลาง รายเล็ก ที่อาจจะยังหาทางออกไม่เจอ ดังนั้น การ “กระตุ้นกำลังซื้อชาวต่างชาติ” จึงเป็นอีกเรื่อง ที่อยากนำเสนอให้รัฐบาลมาทบทวน ทั้งเรื่องการขยายวีซ่าฟรีให้ชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาฯ ได้เข้ามาอยู่ในไทยได้นานขึ้น เพื่อเกิดการจับจ่ายในประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกหรือลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้การซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติทำได้รวดเร็วขึ้น และการขยายเวลาสิทธิการเช่าจาก 30 ปี เป็นการเช่าระยะยาว 50-90 ปี โดยทำสัญญาฉบับเดียว ไม่ต้องต่ออายุ
เชื่อว่าเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกระตุ้นให้ชาวต่างชาติ มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในไทยเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2 หรือใช้อยู่อาศัยในช่วงเกษียณกันมากขึ้น
หลังวิกฤต Covid-19 แนวทางการช่วยเหลือ หรือการพัฒนาจะต้องปรับให้สอดรับจากที่ผ่านมา โดยอีกสิ่งที่รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญ ก็คือ การ “คิดใหม่ เพื่อเมือง” ที่นอกเหนือจากการเร่งขยายรถไฟฟ้า และขยายโครงข่ายถนนต่างๆ แล้ว รัฐฯ ควรหันมาให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงแนวทางการจัดการกับมลภาวะที่เป็นอันตรายกับคนเมือง อาทิ การปรับปรุงทางเท้า, ทางม้าลาย, เพิ่มทางเดินสกายวอร์ค, เพิ่มพื้นที่สีเขียว
เพื่อสร้างให้ไทยมี “สังคมแห่งการเดิน และการลดใช้พลังงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อม” พร้อมวางจุดยืนใหม่ให้ประเทศไทย กลายเป็น หนึ่งในประเทศที่น่าอยู่ของโลก (Safe Haven) แทนการเป็นแค่หนึ่งในประเทศที่น่าท่องเที่ยวให้ได้
อย่างไรก็ดีเราคงต้องจับตามาตรการลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ภาครัฐฯ จะออกมาช่วยเหลือภายใน2 สัปดาห์หลังจากนี้ว่าจะมีทิศทางไปทางไหน จะมีการปลดล็อคบ้านในทุกราคาอย่างที่ตั้งความหวังไว้หรือไม่ หรือจะคงมาตการเดิม แค่ขยายระยะเวลาลดภาษีเท่านั้น