ตามที่จีนประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation Strategy) ให้เป็นนโยบายหลักในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี (ค.ศ. 2021 - 2025) (คาดว่าจะเผยแพร่เดือนมีนาคม 2564)

โดยมีเป้าหมายระยะยาวเพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจีนเห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้นมีความเสี่ยง สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีน ส่งผลให้จีนมีข้อจำกัดมากขึ้นในการเข้าตลาดประเทศต่าง ๆ

      ดังนั้นยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน จึงเป็นแนวทางที่จีนนำมาใช้เพื่อลดการพึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยจีนจะมุ่งขยายตลาดในประเทศจากเดิมที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงลดการพึ่งพาการนำเข้า และหันมาผลิตเองมากขึ้น

     ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน การบริโภคภายในประเทศสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับจีนได้

จากการศึกษาวิเคราะห์ของ Economist Intelligence Unit (EIU) พบว่า มี 3 อุตสาหกรรมที่จีนมีความเสี่ยงสูงจากการพึ่งพาการนำเข้า และมีแนวโน้มที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้า คือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี, อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมอาหาร

จีนนำเข้าวงจรรวม กว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 62

       สำหรับ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีสินค้าสำคัญที่จีนต้องการพึ่งพาตนเอง คือ  สารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) และวงจรรวม (Integrated Circuit/IC) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นสินค้าที่จีนนำเข้ามากที่สุด จากข้อมูลพบว่า ในปี 2562 จีนนำเข้าสินค้าไอซีเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน

       ทำให้รัฐบาลจีนต้องมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้าไอซี แต่ก็ยังยากในการก้าวทันคู่แข่ง เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ และการผลิตที่ซับซ้อนกว่า รวมถึงสินค้าที่ใช้สำหรับอุปกรณ์ 5G และ 6G ซึ่งถ้าจีนจะพัฒนาการผลิตให้ก้าวหน้าโดยเร็ว ก็อาจทำได้โดยการควบรวมกิจการ (M&A)

        อย่างไรก็ตามการลงทุนของจีนโดยเฉพาะในธุรกิจเทคโนโลยีมักถูกเพ่งเล็งโดยประเทศเจ้าบ้านที่จีนเข้าไปลงทุน นอกจากสินค้าไอซีแล้ว คาดว่า จีนจะใช้ซอฟท์แวร์และบริการสารสนเทศของตนเองมากขึ้น เพื่อดูแลความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) ให้ดียิ่งขึ้น   

 

 

จีนหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการนำเข้าน้ำมัน-ก๊าซ

        ด้านอุตสาหกรรมพลังงาน ที่ผ่านมาจีนเป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2562 จีนนำเข้าน้ำมันดิบเป็นมูลค่า 2.4 แสนเหรียญสหรัฐ และนำเข้าก๊าซเป็นมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการนำเข้า 85% และ 40% ตามลำดับ

       ส่วนใหญ่นำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย และนำเข้าก๊าซ จากเติร์กเมนิสถาน แต่ก็มีความเสี่ยงที่การขนส่งเกิดหยุดชะงัก เพราะการขนส่งผ่านทะเลจีนใต้ที่มีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

      ดังนั้นจีนจึงมุ่งผลิตพลังงานเองในประเทศ โดยใช้พลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนประมาณ 20% ของการบริโภคพลังงานของจีน ซึ่งคาดว่าจีนให้ความสำคัญกับพลังงานลมและพลังงานนิวเคลียร์เป็นลำดับแรก และอนาคตคาดว่าจะลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตพลังงานลมในทะเล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในประเทศ ด้านพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นด้วย

 

คาดอีก 4 ปีข้างหน้า จีนจะขาดแคลน ข้าว-ข้าวสาลี-ข้าวโพด 25 ล้านตัน

      ขณะที่ อุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่น่ากังวลมากที่สุด เพราะได้ผลกระทบหลายครั้ง ทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และการที่จีนเข้าสู่สังคมเมืองและสังคมสูงวัย จึงขาดแคลนแรงงานในชนบท

      สำหรับสินค้าเกษตร ปัจจุบันจีนพึ่งพาเพียง การนำเข้าถั่วเหลือง จากบราซิล และสหรัฐฯ แต่จากข้อมูลของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The Chinese Academy of Social Sciences: CASS) ได้  คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2025 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า จีนจะขาดแคลนผลผลิตข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว รวม 25 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและความมั่นคงทางสังคม

        แม้ว่าจีนจะได้พยายามนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตแล้ว แต่ก็ยังติดปัญหาด้านการปฏิรูปที่ดินในชนบท ทำให้จีนยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรในกลุ่มข้าว, ข้าวสาลี และข้าวโพดเพื่อการบริโภคอยู่

 

โอกาสการค้าของไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนานของจีน

       การปรับนโยบายหลักยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี (ค.ศ. 2021 - 2025) โดยพัฒนาแบบวงจรคู่ขนานเป็นการใช้วงจรภายในประเทศ และวงจรระหว่างประเทศ เพื่อเสริมกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ ในระยะข้างหน้า

       ความเห็นจาก น.ส. พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) บอกว่า นโยบายนี้อาจมีผลต่อการค้าระหว่างจีนกับไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งอาจมีทั้งผลดีและผลเสียต่อการส่งออก เช่น

        อุตฯอาหาร แม้ว่าจีนจะพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารหลัก เช่น ข้าว แต่แนวโน้มการขาดแคลนข้าวที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า อาจจะเป็นโอกาสที่สำหรับสินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่น  ผลไม้สดแช่เย็น-แช่แข็ง และผลไม้แห้ง, ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง, กุ้งแช่แข็ง, อาหารปรุงแต่ง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าจากไทยที่สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าจีนคนเมืองรายได้สูง รวมถึงกลุ่มสังคมสูงวัย ที่ต้องการอาหารคุณภาพดี ปลอดภัย และสะดวก

       ส่วนอุตฯ เทคโนโลยี มองว่า หากจีนหันมาผลิตเองมากขึ้น น่าจะมีความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยในอนาคต เพราะในปี 2562 จีนนำเข้าไอซีจากไทย เป็นมูลค่า 3,874 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยสูง

       และอุตฯพลังงาน การที่จีนมุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ทำให้จีนต้องนำเข้าเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบของเครื่องกังหันไอพ่นมากกว่ากังหันชนิดอื่น ๆ และมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2562 จีนนำเข้ากังหันไอพ่น และส่วนประกอบเครื่องกังหันไอพ่นจากโลก เป็นมูลค่า 3,466 และ 3,634 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้ว

      จากแนวโน้มเห็นว่า สินค้าในกลุ่มเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบของเครื่องกังหันไอพ่น เป็นที่ต้องการ ของทั้งตลาดโลกและตลาดจีน ดังนั้นไทยจึงต้องเร่ง พัฒนาศักยภาพการผลิต โดยส่งเสริมการลงทุนและวิจัยพัฒนานวัตกรรมให้มากขึ้น เพื่อทำสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก