อย่างที่รู้กันดีการระบาดของ โควิด-19 ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะในด้านใด โดยเฉพาะต่อมุมมองและวิถีการใช้ชีวิตที่พลิกโฉมแบบฉับพลัน ยิ่งเมื่อคนยุคนี้ต่างล้วนเคยผ่านสถานการณ์กักตัวกันมาแล้วในช่วงล็อคดาวน์

การมาถึงของยุค New Normal ส่งผลต่อความต้องการของผู้บริโภคและผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ที่ไม่ได้พิจารณาเลือกแค่ทำเล คุณภาพโครงการ ชื่อเสียงผู้พัฒนา และราคาอีกต่อไป แต่เป็นความต้องการที่ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น 

             และเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคและผู้อยู่อาศัยยุค New Normal อย่างรู้ใจและเข้าใจ เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพบ้านที่ดีกว่าเดิม เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC Asset ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์คุณภาพ และส่งมอบ Living Solutions ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์โครงการให้เป็นมากกว่าคำว่าที่อยู่อาศัย ย้ำความเป็นผู้นำเรื่องบ้าน จึงได้จัดทำผลสำรวจและวิจัยพฤติกรรม-ทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อที่อยู่อาศัยหลังโควิด-19

โควิด-19 จบ แต่ New Normal ยังจะอยู่  

การวิจัยนี้เป็นการสำรวจทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ จากการเก็บข้อมูลช่วงเดือนสิงหาคม 2563 แบ่งวิธีการสำรวจออกเป็น 2 แบบ

     แบบที่ 1 : สำรวจเชิงปริมาณจากแบบสอบถามออนไลน์ ทั้งหมด 423 คน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 41% เป็น Gen X (อายุ 40-54 ปี) และ 40% เป็น Gen Y (อายุ 25-39 ปี) และนอกนั้นจะเป็น Baby Boomer และ Gen Z ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีอำนาจการตัดสินใจซื้อบ้านมากนัก นอกจากนี้กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามยังแบ่งออกได้ตามประเภทครอบครัว ซึ่งจะมีผลในการเลือกที่อยู่อาศัย โดย 35% คือคนโสดอยู่กับพ่อแม่, 19% คู่แต่งงานไม่มีลูก, 15% คู่แต่งงานมีลูก และส่วนใหญ่คือกลุ่ม Middle Income คือรายได้ต่อเดือน 25,000-50,000 บาทขึ้นไป

แบบที่ 2 : สำรวจเชิงคุณภาพ จากการทำโฟกัสกรุ๊ปกลุ่มครอบครัว ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มอาศัยอยู่บ้านมากกว่าคอนโด รองรับครอบครัวขยาย

ผลสรุปที่เหมือนกันจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มองว่าแม้วิกฤติโควิด-19 จะยุติลง วิถี New Normal จะยังคงอยู่กับมวลมนุษย์ต่อไป เพราะแม้ผ่านพ้นช่วงล็อคดาวน์ไปแล้ว ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม

กักตัวอยู่บ้านเหมือนกัน แต่ความต้องการต่างกัน

            ผลวิจัยแบบที่ 1 สามารถแบ่งประเภทผู้บริโภคตามผลกระทบที่ได้รับออกเป็น 3 ประเภท แต่ไม่ว่าจะกลุ่มตัวอย่างใด ปัจจัยสิ่งที่ต้องการจากบ้านอันดับแรกๆ คือ ต้องการพื้นที่มากขึ้น ประหยัดพลังงาน, โล่ง โปร่ง อากาศถ่ายเท แสงสว่างส่องถึง ดูแลทำความสะอาดง่าย และมีการจัดสรรพื้นที่เป็นสัดส่วน เพื่อรองรับกิจกรรมของสมาชิกในบ้านและตัวเอง เช่น เรียนหนังสือ, ทำงาน, ออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ เพียงแต่ในรายละเอียดต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์และปัญหาที่ต้องเผชิญ ได้แก่

ประเภทที่ 1 HOME-BASED 55% : กลุ่มที่มีวิถีชีวิตทำกิจกรรมในบ้านมากขึ้น มักเป็นกิจกรรมที่เคยทำอยู่แล้ว แต่ไม่บ่อย จนเมื่อเกิดโควิด-19 ทำให้ต้องทำกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้น เช่น ประชุมออนไลน์, ทำงานที่บ้าน, ออกกำลังกายที่บ้าน แต่เมื่อพวกเขาต้องทำกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้น แต่ที่อยู่อาศัยกลับไม่ได้รองรับ ทำให้การทำกิจกรรมเหล่านี้ที่บ้านกลายเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่มีพื้นที่สำหรับตัวเองและครอบครัว, ขาดความเป็นส่วนตัวในการทำกิจกรรมต่างๆ

ส่วนใหญ่ผู้อยู่อาศัยกลุ่มนี้เป็นหัวหน้างานและผู้บริหารระดับกลางขึ้นไป หรือเป็นเจ้าของกิจการ ความกังวลของพวกเขาต่อสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นเชิงมหภาค เช่น ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก, การเมือง และเนื่องจากทำกิจวัตรทุกอย่างที่บ้านมากขึ้นช่วงกักตัว ทำให้คนกลุ่มนี้มีมุมมองต่อคำว่า บ้านเปลี่ยนไปมาก มีความต้องการพื้นที่ส่วนกลางมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะฟิตเนส, ร้านค้า/ร้านอาหารในโครงการ

ฟังก์ชั่นที่ต้องการเพิ่มจากบ้าน ได้แก่ ฉากกั้นที่สามารถทำให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ การออกแบบคำนึงถึงอารมณ์ของผู้อยู่อาศัย, มีพื้นที่ทำอาหารเพิ่มขึ้น, มีห้องนอนชั้นหนึ่งสำหรับพ่อแม่ ผู้สูงอายุ

ประเภทที่ 2 COMMUTER 35% : เป็นกลุ่มชนชั้นกลางฐานรายได้ 25,000-85,000 บาท และช่วงโควิด-19 ชีวิตไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก จึงไม่เกิด New Normal เท่าไร คือ ยังทำงานนอกบ้านและกลับบ้านในตอนเย็น การไม่ได้รับผลกระทบมาก คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้ต้องการพื้นที่ในบ้านส่วนใดเป็นพิเศษ และมีมุมมองต่อคำว่าบ้านเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย

ส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องการเงินและสุขภาพของคนในครอบครัว ไม่ได้กังวลชีวิต New Normal เพราะไม่ได้ปรับตัวมาก ความคาดหวังในดีไซน์ของบ้านของคนกลุ่มนี้จึงเป็นเทคโนโลยีเล็กๆ น้อยๆ ที่มาช่วยเรื่องความสะดวกสบาย เช่น สมาร์ทโฮมควบคุมผ่านแอปได้ เปิดไฟ-แอร์, ประหยัดพลังงาน, ชื่นชอบการออกแบบบ้านที่ให้ความรู้สึกเงียบสงบและผ่อนคลาย

ประเภทที่ 3 NEWFOUND INTEREST 10% : เป็นกลุ่มที่มีฐานรายได้ต่ำกว่า 18,000 บาท มีวิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบมาก เป็นห่วงเรื่องปากท้อง จึงกังวลเรื่องการงานและการเงินมากกว่าโควิด-19 มีกิจกรรมใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตช่วงอยู่บ้านโควิด-19 เช่น ขายของออนไลน์, ทำอาหารทานเอง, ดูหนังในบ้านมากขึ้น

ความที่ไม่สามารถออกไปทำงานได้และบ้านไม่เอื้อต่อการทำงาน เพราะไม่ตอบสนองต่อกิจกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น มุมมองต่อคำว่าบ้านจึงเปลี่ยนไปมาก ความคาดหวังในดีไซน์ของบ้านจึงอยากให้มีพื้นที่ให้สมาชิกในบ้านทำกิจกรรม มีมุมที่สามารถถ่ายวิดีโอหรือไลฟ์สตรีมมิ่งได้ การออกแบบดูโมเดิร์น ไม่ล้าสมัย มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ เช่น รั้วบ้านเป็น Vertical Garden และให้ความสำคัญกับส่วนกลางเล็กน้อย คือ สวน ฟิตเนส

ชีวิตกักตัวพาค้นพบตัวตนใหม่ แต่พื้นที่ไม่เอื้ออำนวย

ผลการวิจัยแบบที่ 2 จากการโฟกัสกรุ๊ปกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มครอบครัวอาศัยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล อายุระหว่าง 30-49 ปี มีแนวโน้มซื้อบ้านราคา 8-15 ล้านบาท ภายในช่วง 6 เดือน หรือมีส่วนร่วมในการผ่อนบ้าน มีรายได้มากกว่า 100,000 บาท (กรณีกู้ร่วม) และมากกว่า 160,000-200,000 บาท (กรณีกู้คนเดียว) แบ่งกลุ่มครอบครัว 3 แบบ

  • คู่แต่งงานยังไม่มีลูก (ตัวแทนครอบครัว 1 เจเนอเรชั่น)
  • คู่แต่งงานมีลูก (ตัวแทนครอบครัว 2 เจเนอเรชั่น)
  • คู่แต่งงานมีลูกและต้องดูแลพ่อแม่ (ตัวแทนครอบครัว 3 เจเนอเรชั่น)

     ผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก สรุปได้ว่า เนื่องจากการกักตัว หลายคนได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ จนกลายเป็นค้นพบทักษะใหม่ที่ไม่เคยคิดว่าจะ ‘ชอบ’ หรือ ‘ทำได้ดี’ เช่น ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น หันมาออกกำลังกายภายในบ้าน รวมถึงซื้อของออนไลน์มากขึ้น อยากออกกำลังกายที่บ้านหรือทดลองทำอาหารหลายประเภทมากขึ้น นั่นหมายถึงการซื้อเครื่องครัวเพิ่ม แต่พื้นที่เดิมกลับเล็กเกินไป

สถานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานผ่านระบบประชุมออนไลน์

     ถึงแม้ผ่านพ้นช่วงล็อคดาวน์ไปแล้ว แต่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตก็ไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม สำหรับกลุ่มครอบครัวเจนเดียวที่มีแค่คู่สามีภรรยา อาจกลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง เช่น ทานข้าวหรือออกกำลังกายนอกบ้าน แต่สำหรับกลุ่มครอบครัว 2 เจน และ 3 เจน การกลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านไม่มีวันเหมือนเดิม เช่น ไม่พาลูกไปเที่ยวในจุดเสี่ยง หรือมักเลือกไปในช่วงเวลาคนไม่เยอะ

     ในความเห็นของคนกลุ่มนี้แม้ว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติสมบูรณ์แบบแล้ว วิถีชีวิตของพวกเขาก็คาดว่าจะไม่เหมือนเดิม แต่จะเป็น New Normal ต่อไป เช่น หลีกเลี่ยงไปที่ที่มีคนเยอะๆ, เป็นห่วงเรื่องสุขภาพมากขึ้น, อยู่บ้านมากขึ้น, ทำอาหารเองมากขึ้น

สำหรับการวิจัยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 มิติ สำคัญ ได้แก่ 1.ผลกระทบต่อมุมมองการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย-ผู้บริโภค 2.ผลกระทบต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อบ้าน 3.ผลกระทบที่มีต่อความต้องการในดีไซน์และบริการเกี่ยวกับบ้าน 

ผลกระทบต่อมุมมองการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย-ผู้บริโภค

            ก่อนสถานการณ์โควิด-19 : ชีวิตของคนกลุ่มนี้เอ็นจอยกับการใช้เวลานอกบ้าน ไม่ว่าจะเดินช้อปปิ้งในห้องสรรพสนค้า, หาประสบการณ์แปลกใหม่จากการทานอาหารนอกบ้าน, ดูหนังในโรงภาพยนตร์, ปาร์ตี้ในร้านอาหาร บาร์, ทำงานในที่ออฟฟิศ, หาแรงบันดาลใจใหม่ๆ จากสถานที่ต่างๆ 

หลังสถานการณ์โควิด-19 : จำเป็นต้องทำกิจกรรมทั้งหมดในบ้าน เปลี่ยนไลฟ์สไตล์มาใช้บริการเดลิเวอรี่ฟู้ดและทำอาหารในบ้าน, Work From Home, ดูหนังและปาร์ตี้ในบ้าน, เริ่มหาแรงบันดาลใจในชีวิตจากที่บ้าน การทำอาหาร หรือปลูกต้นไม้มากขึ้น รวมไปถึงการช้อปปิ้งออนไลน์แทนการเดินทางไปที่ช้อป

            สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างรวดเร็ว เกิดจากความกลัวจะได้รับโรคและความกังวลว่าจะแพร่กระจายโรคไปยังคนที่รัก

พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ส่งต่อกระทบต่อการใช้ชีวิตในที่อยู่อาศัยเดิม ส่วนใหญ่คือพื้นที่ไม่ได้ออกแบบดีไซน์มาให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และกิจกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะโควิด-19 ทำให้ผู้อยู่อาศัย เริ่มค้นพบกิจกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเริ่มรักการทำอาหาร แต่พื้นที่ไม่เอื้อพอในการปรุงอาหาร ไม่มีพื้นที่เป็นสัดส่วนพอสำหรับสมาชิกภายในบ้าน ทั้งจะเรียน, ทำงาน, ออกกำลังกาย

            มุมมองต่อนิยามของบ้านเปลี่ยนแปลงไป : หลังผ่านสถานการณ์การกักตัว ทำให้ความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ต้องมีบทบาทมากขึ้น สามารถตอบสนองทั้งความบันเทิงและสนับสนุนหน้าที่งานได้ เพราะก่อนหน้าจะมีสถานการ์โควิด -19 บ้านเป็นแค่ที่ซุกหัวนอนเท่านั้น เห็นความสำคัญของบ้านมากขึ้น อยากให้บ้านเป็นสถานที่ที่สะอาด, สวยงาม, น่าอยู่, มีพื้นที่, มีความเป็นส่วนตัวเป็นสัดส่วน

ผลกระทบต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อบ้าน

            ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อบ้าน ยังคงไม่ได้ผิดไปจากเดิม ที่ยังคงคำนึงเรื่องทำเล, ใกล้สถานที่อำนวยความสะดวกที่สำคัญ, แบรนด์ที่น่าเชื่อถือ และความปลอดภัย แต่ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเพิ่มขึ้น คือ ความต้องการในแบบบ้านและบริการต่างๆ เกี่ยวกับบ้าน ที่มีการลงรายละเอียดมากขึ้น

ผลกระทบที่มีต่อความต้องการในดีไซน์และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับบ้าน 

            ความตื่นตัวในสถานการณ์โควิด-19 และผ่านประสบการณ์อยู่บ้านช่วยชาติกันมาแล้ว ความคาดหวังในการบ้านที่มีต่อผู้อยู่อาศัยจึงเปลี่ยนไปมาก สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเจเนอเรชั่นไหน คือ พื้นที่ที่มากขึ้น / พื้นที่สีเขียวนอกบ้าน / ระบบประหยัดพลังงาน / ระบบควบคุมความร้อน / ระบบระบายอากาศ

บ้านหลังเล็กและ บ้านหลังใหญ่กลุ่มผู้อยู่อาศัยต่างกันก็มีความต้องการในรายละเอียดที่ต่างกัน

  • ครอบครัวเจนเดียวและครอบครัวที่อยู่กัน 2 เจนเนอเรชั่น : มองว่าบ้านหลังเล็ก ต้องมีห้องพื้นฐานที่บ้านทุกหลังต้องมีอยู่แล้ว เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องนั่งเล่น แต่อยากได้ที่จอดรถเพิ่มเติม (1-2 คัน) ขณะที่บ้านขนาดใหญ่ต้องมีอะไรมากกว่านั้น ได้แก่ พื้นที่ภายในที่กว้าง และสามารถแยกพื้นที่ห้องต่างๆ เป็นสัดส่วนได้ รวมถึงฟังก์ชั่น Walk-in Closet
  • ครอบครัวที่อยู่กัน 3 เจเนอเรชั่น : เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่รวมกันพ่อแม่ลูกปู่ย่า สมาชิกครอบครัวค่อนข้างเยอะ จึงมองว่าฟังก์ชั่นที่จำเป็นต้องมีตามขนาดบ้านดังนี้ บ้านขนาดเล็ก ต้องมีอย่างน้อย 3 ห้องนอน / 3 ห้องน้ำ รวมถึงมี 1 Master Room, ห้องครัว และมุมรับประทานอาหาร พื้นที่จอดรถ 2 คัน ห้องนั่งเล่น และพื้นที่บริเวณข้างบ้านสามารถเดินรอบบ้านได้ ขณะที่บ้านหลังใหญ่ ควรมีพื้นที่มากกว่า 250 ตารางวา ทุกห้องต้องมีพื้นที่ใหญ่รองรับสมาชิกได้โดยไม่อึดอัด รวมถึงมีห้องนอนที่มีห้องน้ำ Master Room ทุกห้อง, ห้องนั่งเล่น 2 ชั้น, Walk-in Closet พร้อมโซนเก็บกระเป๋าเดินทาง และการดีไซน์เพดานสูงโปร่ง

ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ แม้ว่าจะกังวลในสถานการณ์โควิด-19 แต่ผลวิจัยกลับพบว่า จุดเช็คอุณหภูมิร่างกาย, ระบบฆ่าเชื้อก่อนเข้ามาในบริเวณบ้าน ไม่ได้เป็นแฟซิลิตี้ที่ผู้อยู่อาศัยยุค New Normal ต้องการ พวกเขามองว่าการวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่ได้เป็นการคัดกรองที่ดีพอ เพราะหลายคนทราบว่าเชื้อโควิด-19 บางรายก็ไม่แสดงอาการ หรือไม่ได้แสดงอาการทันที รวมถึงระบบพ้นยาฆ่าเชื้อก็เป็นอุปกรณ์ที่เกินความจำเป็น และไม่ได้ป้องกันเชื้อโรคได้ 100% อีกทั้งยังมองว่าร้านค้า และ Co-working Space ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

นอกจากนี้ครอบครัวเจนเดียว ยังมองว่าสนามเด็กเล็ก ฟิตเนส และสระว่ายน้ำส่วนกลาง ไม่จำเป็น เพราะไม่ค่อยได้ใช้บริการ เนื่องจากชื่นชอบการทำกิจกรรมเหล่านี้นอกบ้าน ส่วนครอบครัว 2 เจนและ 3 เจน มองว่าพื้นที่ประกอบอาหารส่วนกลางและพื้นที่สีเขียวในตัวบ้าน เป็นองค์ประกอบที่ไม่จำเป็น เพราะไม่ค่อยมีเวลาสำหรับการออกมาทำอาหารพื้นที่ตรงนี้และต้องดูแลรักษามาก เช่นเดียวกับไม่ต้องการฟิตเนสส่วนกลาง เพียงแค่โครงการมีลู่เดิน-ลู่วิ่งสำหรับวิ่งออกกำลังกาย หรือทางเดินปลอดภัยสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุก็เพียงพอแล้ว

ความต้องการในบริการหลังการขาย : การดูแลรักษาบ้านให้อยู่ในสภาพดียังคงเป็นปัจจัยที่ผู้อยู่อาศัยทุกกลุ่มต้องการ เพียงแต่ยังรู้สึกเป็นกังวลที่จะเชิญคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้านช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ยังเรียกช่างซ่อมเมื่อถึงเวลาจำเป็น โดยหากเป็นการซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ จุดไหนที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองจะศึกษาจากอินเตอร์เน็ต หรือยูทูป แต่ถ้าจุดไหนเป็นการซ่อมแซมที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญการใช้ช่างซ่อมก็ยังเป็นบริการที่ต้องการ เช่น ซ่อมกำแพงร้าว, ช่างสี, ช่างระบบน้ำ, ช่างระบบไฟฟ้า, ช่างซ่อมหลังคา

เปิดโพยบ้านในฝันยุค New Normal

ภายในบ้าน : มีพื้นที่มากขึ้น มีความโปร่ง

นอกบ้าน :  มีพื้นที่สีเขียว / ส่วนกลาง :  มีสระว่ายน้ำ มีลู่วิ่ง และมีพื้นที่สีเขียว

  • คู่แต่งงานที่ยังไม่มีลูก (ครอบครัว 1 เจเนอเรชั่น) : ช่วงโควิด-19 ทำให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต เช่น ทำอาหารด้วยตัวเองมากขึ้น ปลูกต้นไม้ แต่ที่อยู่อาศัยเดิมกลับไม่มีพื้นที่รองรับกิจกรรมเหล่านี้ จึงต้องการบ้านที่มีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น, พื้นที่รอบนอกบ้านมากขึ้น ไปจนถึงพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง โดยพื้นที่ส่วนกลางโครงการ คาดหวังแค่สิ่งแวดล้อมดี ตอบโจทย์ความสะอาด, เป็นมิตร, สะดวกสบาย
  • คู่แต่งงานที่มีลูก (ครอบครัว 2 เจเนอเรชั่น) : ช่วงโควิด-19 นอกจากทำอาหารด้วยตัวเองมากขึ้น การทำกิจกรรมร่วมกับลูกๆ ก็มากขึ้นด้วย แต่สิ่งที่ไม่มีสำหรับคนกลุ่มนี้ คือ มุมทำงานเป็นสัดส่วน จึงต้องการบ้านที่มีพื้นที่ทำกิจกรรมกับลูกๆ พื้นที่ที่เสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ พื้นที่สีเขียว และต้องการะบบประหยัดพลังงาน โดยพื้นที่ส่วนกลางสำหรับคนกลุ่มนี้ คือ สระว่ายน้ำ
  • คู่แต่งงานที่มีลูกและต้องดูแลพ่อแม่ (ครอบครัว 3 เจเนอเรชั่น) : ต่างจากกิจกรรมของครอบครัวที่อยู่รวมกัน 3 เจน กิจกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น คือ สั่งอาหารเดลิเวอรี่และซื้อของออนไลน์มากขึ้น ความต้องการจากบ้านของคนกลุ่มนี้ จึงให้ความสำคัญกับพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันได้ทั้ง 3 เจน ต้องการพื้นที่ดูหนังแบบโฮมเธียเตอร์และพื้นที่ครัวที่ใหญ่ขึ้น สำหรับพื้นที่ส่วนกลาง ต้องการลู่วิ่งและพื้นที่สีเขียว เพื่อให้มีพื้นที่ที่จะทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว

 

จากผลการวิจัยชุดนี้ น่าจะทำให้มองเห็นรายละเอียดที่ชัดขึ้นแล้วว่า ผู้อยู่อาศัยยุค New Normal แท้จริงคาดหวังที่อยู่อาศัยแบบไหน? ด้วยเหตุนี้ทิศทางของ SC Asset จึงมุ่งไปที่การปั้น Conceptual Design ใหม่ ออกมาเป็นแนวคิด ‘#HomeIsEverything บ้านคือทุกสิ่งทุกอย่างของการใช้ชีวิต’ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสำหรับการใช้ชีวิต Post-Covid ในอนาคต โดยนำผลวิจัยไปพัฒนาร่วมกับฝ่ายออกแบบจนได้ Conceptual Design ภายใต้ Methodology ของ SC Asset

เชื่อว่าวงการอสังหาน่าจะได้เห็นบ้าน Prototype ใหม่ของ SC Asset ในเร็วๆ นี้

 

#SCAsset #LivingSolutionsProvider #HomeIsEverything