โควิดระลอกใหม่ สะเทือนธุรกิจ SMEs วูบ 1.3 ล้านราย
การระบาดของโควิดระลอกใหม่ นับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปี 2563 ได้ส่งผลกระทบถึงธุรกิจที่เปราะบาง แม้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามระดับพื้นที่ควบคุมที่รัฐบาลใช้ จะเป็นทางออกที่ช่วยลดผลกระทบไม่ให้เหมือนกับมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน 2563 ได้ แต่อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายและท่องเที่ยวที่ลดแผ่วลง ก็ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ในภาคการค้า บริการและท่องเที่ยวกว่า 1.3 ล้านราย และจ้างงานกว่า 6.1 ล้านคน มาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยการกระตุ้นการจับจ่ายผ่านโครงการ “เราชนะ” และ “โครงการคนละครึ่ง” และ “เที่ยวด้วยกัน” นับเป็นการช่วยเหลือ Micro SMEs ส่วนที่เป็นร้านค้าย่อย และกลุ่มคนทำงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกลุ่ม SMEs ที่เป็นนิติบุคคลและอยู่ในระบบภาษี ซึ่งมีจำนวนอยู่ 1.1 แสนราย และจ้างงานกว่า 2.5 ล้านคน
ข้อมูลจาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้คาดการณ์ว่า ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะทำให้รายได้ของธุรกิจ SMEs ภาคการค้าบริการและท่องเที่ยวทั่วประเทศรวม ลดลงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบถึง 1.3 ล้านราย ที่มีการจ้างงานรวมกันกว่าอยู่ 6.1 ล้านคน
เมื่อแยกตามพื้นที่มาตรการควบคุมการระบาด พบว่า กลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด รายได้จะลดลงประมาณ 2.20 หมื่นล้านบาท มี SMEs ที่ได้รับผลกระทบราว 5.7 แสนราย มีการจ้างงานกว่า 3.4 ล้านคน ในขณะที่กลุ่มพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังสูง จะลดลง 2.7 และ 2.2 พันล้านบาท และมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกว่า 2 แสนราย และ 5.7 แสนราย ตามลำดับ
ซึ่งจากโครงสร้างธุรกิจ พบว่าในพื้นที่ควบคุมสูงสุด กลุ่ม SMEs นิติบุคคลที่อยู่ในภาคการค้าบริการและท่องเที่ยว มีบทบาทสำคัญในการจ้างงานถึง 1.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 55% ของการจ้างงาน SMEs ในพื้นที่ ส่วนกลุ่มพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวัง กลุ่มธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลมีสัดส่วน 20-27% ของการจ้างงานเท่านั้น
ร้านค้าปลีกเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ด โรงแรมที่พัก และร้านอาหาร เป็นธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบหนักในช่วงโควิดรอบใหม่
จากการระบาดในไตรมาสแรกของปี ประเมินว่า ธุรกิจร้านขายปลีกเสื้อผ้า รายได้ลดลงกว่า 5 พันล้านบาท รองลงมา ร้านค้าเบ็ดเตล็ด รายได้ลดลง 4.7 พันล้านบาท เพราะร้านค้าปลีกเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ด มีผู้ประกอบจำนวนการมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับธุรกิจโรงแรม/ที่พัก และธุรกิจร้านอาหาร รายได้ลดลง 3.8 และ 2.7 พันล้านบาท ตามลำดับ
เมื่อเจาะลึกลงไปในธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล พบว่าร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป มีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดถึง 4.6 หมื่นราย มีการจ้างงาน 3.3 แสนคน รองลงเป็นร้านขายปลีกเสื้อผ้ามีธุรกิจอยู่ 1.1 หมื่นรายจ้างงานอยู่ที่ 6.4 หมื่นคน ตามด้วยกลุ่มร้านอาหารและโรงแรมที่พัก มีจำนวนธุรกิจ 1 หมื่นราย และ 7 พันรายตามลำดับ มีการจ้างงานรวมกันกว่า 2.9 แสนคน
ธุรกิจท่องเที่ยว SMEs ในจังหวัดชลบุรีได้รับผลกระทบมากสุด
ระดับความรุนแรงของผลกระทบกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเป็นกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวและบริการอยู่มาก โดยจังหวัดชลบุรี น่าจะเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยคาดว่า SMEs จะมีรายได้ลดลง 6.2 พันล้านบาท และมีการจ้างงาน 2.46 แสนคน เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนภาคท่องเที่ยวอยู่ถึง 48% ของมูลค่าการค้าและท่องเที่ยวรวมกัน
รองลงมาคือ กรุงเทพมหานคร รายได้จะลดลง 5 พันล้านบาท แม้ว่าจะเป็นจังหวัดขนาดใหญ่กว่าชลบุรี แต่มีสัดส่วนภาคท่องเที่ยวน้อยกว่าโดยอยู่ที่ 37.6% ส่วนลำดับรองลงไป เป็นจังหวัดสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับผลกระทบ 1.38, 1.13 และ 1.08 พันล้าน ตามลำดับ
โควิดระลอกใหม่ ทำไทยเกิดค่าเสียโอกาส 1.6 แสนล้านบาท
ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยพ้นจากภาวะถดถอยในปี 2564 โดยจะขยายตัว 2.5% แม้ว่าจะพ้นจากภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่เศรษฐกิจหดตัว 6.5%แต่ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักแต่หากมาตรการที่ใช้อยู่สามารถควบคุมสถานการณ์ภายใน 2-3 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 109.6 ล้านคน-ครั้ง ต่ำลงกว่าประมาณการเดิมที่ 131.8 ล้านคน-ครั้ง แต่ก็ยังสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 91.2 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งการเยียวยาโควิดรอบสองของรัฐที่ออกมาจะมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบ
ทั้งนี้การแพร่ระบาดระลอกใหม่ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาทจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้าออกไปท่ามกลางความไม่แน่นอน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่กดดันเศรษฐกิจอยู่ เช่น การขาดแคลนตู้สินค้าในการส่งออก การแข็งค่าของเงินบาท และภาวะแล้งที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีจะได้รับอานิสงส์จากวัคซีนโควิด-19 ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม
ธุรกิจต้องเตรียมรับมือ กับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Megatrend ของโลก
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคธุรกิจยังต้องพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ในระยะข้างหน้า บริบทใหม่ของโลกที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศมหาอำนาจของโลกให้น้ำหนักกับประเด็นนี้มากขึ้น และอาจมาใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า เช่น กระแสการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือ The Great Reset ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของความยั่งยืนบนพื้นฐานของการพัฒนาที่มีความ Greener, Smarter และ Fairer
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาท่าทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการค้ารอบใหม่ เช่น แนวนโยบายภายใต้ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของจีนที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ตลอดจนความตกลง RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดโลก
ซึ่งธุรกิจไทยจึงต้องเตรียมการรับมือ โดยหันมาดำเนินธุรกิจบนฐานของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างจริงจัง ปัจจัยแวดล้อมใหม่ก็อาจส่งผลบวกต่อการค้าไทยได้เช่นกัน เช่น แนวนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะปรับตัวเข้าสู่กฎกติกาสากลมากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่าจะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยอย่างชัดเจน อีกทั้งความตกลง RCEP ที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้า จากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์จากการค้าระหว่างคู่เจรจาที่จะคึกคักขึ้น