ตอนนี้ตามเมืองใหญ่ๆต่างในต่างประเทศ ค่าเช่าห้องพักก็ถีบตัวสูงขึ้นมากจนเกิดเป็นวิกฤตคนไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการเช่าบ้านได้ ยิ่งพอมีเรื่อง โควิด 19 เข้ามาก็ทำให้คนเริ่มมองหาที่อยู่อาศัยให้ประหยัดลง เลยเป็นที่มาของ Co-Living คือรูปแบบการพักอาศัย ที่ผู้อาศัยแต่ละคนมีห้องเป็นของตัวเอง แต่มีการใช้ส่วนกลางร่วมกัน เช่น ครัว ห้งนั่งเล่น สวนในบ้าน และ ห้องน้ำ ซึ่งการพักอาศัยในรูปแบบนี้นั้นเป็นที่นิยมมานานแล้วในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ที่รวมกันหลายๆ คน เช่าบ้านอยู่ร่วมกัน พอมีคนย้ายออกหนึ่งคน ผู้ที่เป็นเจ้าบ้านก็ต้องหาคนใหม่มาอยู่ เวียนไปเรื่อยๆ ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านในต่างประเทศ ก็มีการปรับบ้านตัวเองเช่นแบ่งห้องนอน ปรับห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ให้รองรับการอยู่อาศัยแบบ Co-Living และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ที่ยังไม่มีครอบครัว ที่ต้องไปทำงานตามในเมืองใหญ่ที่มีค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ค่อนข้างสูง การไปเช่าเพียงห้องนอนอยู่ หรือแชร์บ้านกับคนอื่นแบบ Co-Living ก็เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

                  

            ที่มา rentable.co

รูปแบบ Co-Living ในไทย ที่เรานึกภาพได้ง่ายสุดก็เป็นในช่วงที่ต้องย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ต้องเข้ามาอยู่ หอใน ซึ่งห้องหนึ่งอาจมีคนอยู่ถึงสี่คน และก็ต้องมาอยู่กับนักศึกษาคนอื่นๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็ถือว่าเป็นรูปแบบ Co-Living ที่ถึงแม้จะไม่มีครัวหรือห้องส่วนตัว แต่ก็เป็นการอยู่ร่วมกัน ได้พบเพื่อนใหม่ มีความทรงจำร่วมกัน เช่นการทาน มาม่าร่วมสาบาน (มาม่าหลายๆชนิดผสมกัน) จากกะทะไฟฟ้าร่วมกัน ซึ่งการได้มาอยู่ร่วมกันและพบเจอผู้คน ก็เป็นหนึ่งในข้อดีของ Co-Living จากผลวิจัยของทาง Ikea พบว่า สาเหคุหลักที่ทำให้ผู้คนอยากอยู่แบบ Co-Living คือการได้พบปะผู้คน ได้พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับ Co-Living คือ ลักษณะของคนที่เข้ามาอยู่อาศัย ที่ต้องเป็นคนที่เข้ากันได้ สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ รับกับข้อระเบียบวินัย และ เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ถ้าเอาคนที่ชอบทำเสียงดังตอนดึกๆ มาอยู่ร่วมกับผู้ที่เข้านอนไว ก็อาจทำให้เกิดความรำคาญต่อกันได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้อยู่อาศัยควรตกลงกันให้เรียบร้อย บรรดาผู้ประกอบการทำ Co-Living ในต่างประเทศ ก็จะมีการออกแบบอาคารและตกแต่งภายในให้ดูทันสมัย ดูดีกว่าอพาร์ตเมนต์ทั่วๆ ไป นอกเหนือไปจากการดูแลตัวอาคารแล้ว ก็ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ จัดทริปไปเที่ยวให้กับผู้อยู่อาศัย มีบริการทำความสะอาด และมีบริการแนะนำให้ความช่วยเหลือเรื่องการปรับตัวในที่อยู่ใหม่

ที่มา glassdoor.co.in

ในชณะที่หลายๆ โรงแรมกำลังทำการปรับตัวเพื่อรอรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การนำรูปแบบ Co-Living มาใช้ในการออกแบบหรือปรับปรุงก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับโรงแรม Hostel เพราะโดยทั่วไปโรงแรมแบบนี้ก็จะมีครัว ส่วนห้องนั่งเล่น ให้ผู้เข้าพักได้ใช้อยู่แล้ว การใช้ไอเดียแบบ Co-Living โดยการเพิ่มพื้นที่สำหรับทำอาหาร ทำงาน จัดกิจกรรม ให้ผู้ที่มาพักที่มีความสนใจในสิ่งที่คล้ายๆกัน หรือ พวก Digital Nomads ที่ทำงานที่ไหนก็ได้ ให้มาอยู่ร่วมกัน ก็สามารถเพิ่มความน่าสนใจดึงดูดให้คนมาพักได้

ที่มา orangemedianetwork.com

                  ในอนาคตสังคมไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนที่อยู่ในวัยทำงานในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ยังเป็นโสด ก็เริ่มวางแผนการใช้ชีวิตในช่วงสูงอายุ หลายครั้งที่จะพูดคุยกันเองในหมู่เพื่อนๆ ว่าใครมีที่อยู่ตามต่างจังหวัดบ้าง จะได้รวมกันไปปลูกบ้าน ไปแบ่งที่ทางอยู่ด้วยกัน ซึ่งแนวคิดนี้ก็คือรูปแบบหนึ่งของ Co-Living นั่นเอง ในขณะนี้ที่มีโครงการที่อยู่อาศัยที่มุ่งเป้าไปที่ผู้สูงอายุเกิดขึ้นมากมาย โครงการเหล่านี้ก็สามารถนำรูปแบบ Co-Living เข้ามาใช้ในการออกแบบได้เช่นกัน เพราะข้อเสียของ senior housing ในต่างประเทศคือการออกแบบที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่โรงพยาบาล การนำเอาความรู้สึกสนุกสนานในการอยู่ร่วมกันแบบ Co-Living ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจและจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุขมากขึ้น