ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี  (ttb analytics) ชี้เศรษฐกิจไทยปี 65 มีโอกาสโตได้ถึงร้อยละ 4.4 ตามแผนการฉีดวัคซีนเชิงรุก ปลดล็อกประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เร็ว เสริมด้วยภาคส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง แต่อาจโตได้เพียงร้อยละ 2.8 ถ้าอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1.5 แสนโดสต่อวัน

คาดฉีดวัคซีนเชิงรุกได้ 3 แสนคนต่อวัน จะทำให้ครอบคลุม 70% ของประชากร ปลดล็อกประเทศได้ช่วงไตรมาสแรกปี 65

            โควิดระลอก 3 ที่เริ่มในเดือนมีนาคม และยอดผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะที่ไทยมีผู้ได้รับวัคซีนอยู่ที่ 1.4  ล้านคน คิดเป็น 2% ของประชากรทั้งประเทศ นำไปสู่การปรับแผนฉีดวัคซีนเชิงรุกของภาครัฐ ทั้งการปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้เร็วที่สุดในทุกพื้นที่ การตั้งเป้าการฉีดให้ครอบคลุม 70% ของประชากรในแต่ละจังหวัด และเพิ่มเป้าหมายจัดหาวัคซีนเป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 65 หรือเพิ่มอีก 50 ล้านโดสจากปัจจุบัน รวมทั้งปรับรูปแบบการฉีดวัคซีนให้ยืดหยุ่น เหมาะสม สะดวกรวดเร็วในการเข้าถึง ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง ช่วยปลดล็อกประเทศเปิดรับการท่องเที่ยวและภาคบริการได้เร็วขึ้น

            โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ได้ประมาณการยอดผู้ติดเชื้อจากแผนฉีดวัคซีนเชิงรุกที่เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ พบว่า หากกระจายฉีดวัคซีนได้ 300,000 โดสต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสภายในปี 64  จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อทยอยลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยอยู่ที่ 300 คนในเดือนธันวาคม และมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมแล้วถึง 46.3 ล้านคน คิดเป็น 70% ของประชากร นำไปสู่การปลดล็อกประเทศได้ในช่วงเดือนธันวาคม และภายในไตรมาสแรกปี 65 การกระจายวัคซีนจะครอบคลุมประชากรเกือบทั้งหมดที่อยู่ในเกณฑ์ที่รับวัคซีนได้

            ทั้งนี้ หากการกระจายวัคซีนทำได้ต่ำกว่าด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ  เช่น ฉีดได้ 150,000 โดสต่อวัน พบว่ายอดผู้ติดเชื้อในปีนี้จะยังคงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การปลดล็อกประเทศและเปิดรับการท่องเที่ยวต่าง ๆ จะต้องเลื่อนไปถึงมิถุนายน 65  

            ในทำนองเดียวกัน หากสามารถเร่งฉีดได้ถึง 500,000 โดสต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการจัดหาวัคซีนเพิ่มเป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 65 จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงในระดับที่ควบคุมได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 64 และสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาส 4 ของปี 64 นี้ จากการมีผู้ได้รับวัคซีนเกิน 70%

คาดจีดีพีปี 64 เศรษฐกิจจะโตได้ 1.9%

การเร่งฉีดและกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมาย จะเป็นผลดีให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3 นี้ โดยการบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้น ได้แรงหนุนจากภาคธุรกิจ กิจการร้านค้าที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ส่งผลดีต่อการจ้างงาน กอปรกับภาครัฐจะยังคงมีมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

            ส่วนภาคการส่งออกมีแนวโน้มพลิกฟื้นสอดคล้องกับบรรยากาศการค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ปี 64 จะโตได้ 8.1% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และตลาดจีน 

            และการลงทุนภาคเอกชนจะเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับภาคการส่งออก-ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่แรงฉุดจากผลกระทบของโควิดในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ภาพรวมทั้งปี 64 เศรษฐกิจจะโตได้ 1.9% ลดลงจากประมาณการเดิม (ณ เดือนธันวาคม 2563) ที่ 2.41%

 

วัคซีนหัวใจหลักของการฟื้นฟูประเทศ ปี 65 ดัน GDP โตแตะ 4.4%

            สำหรับในปี 65 ภายใต้เงื่อนไขของการฉีดวัคซีน 300,000 โดสต่อวัน ทำให้สามารถเปิดประเทศได้เต็มรูปแบบในไตรมาสแรก โดยมียอดสะสมผู้ได้รับวัคซีนคิดเป็น 77% ของประชากรทั้งหมด จะช่วยดึงภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น กอปรกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และการกระจายวัคซีนได้เร็วในประเทศเศรษฐกิจหลัก เป็นผลดีต่อนักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดหลักของไทย อาทิ ยุโรป จีน โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 10 ล้านคน  

            ส่วนเครื่องยนต์เศรษฐกิจในด้านอื่นจะกลับมามีบทบาทได้มากขึ้น อาทิ ภาคการส่งออก คาดว่าในปี 65 การส่งออกสินค้าจะเติบโตได้ 4.1% ปัจจัยหนุนมาจากเศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังจากทยอยฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาต่อเนื่อง โดยตลาดที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ได้แก่ สหรัฐฯ  จีน และสหภาพยุโรป

            สำหรับการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับการกลับมาดำเนินชีวิตได้เป็นปกติของประชาชนและการกลับสู่ตลาดแรงงานของภาคธุรกิจ รวมทั้งรายได้ในภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ขยับสูงขึ้น 

            ทั้งนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 65 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศ  และกดดันกำลังซื้อของครัวเรือน ทั้งนี้ จากเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่มีแรงขับเคลื่อนมากขึ้นในทุกองค์ประกอบ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 3.6%

            แต่หากสามารถกระจายวัคซีนได้เร็วมากขึ้น เช่น ฉีดได้ 500,000 โดสต่อวัน ก็จะเป็นปัจจัยเร่งให้เปิดประเทศได้เร็วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 64 สร้างความเชื่อมั่นด้านบริหารจัดการในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้แก่ตลาดนักท่องเที่ยว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 65  มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 13.8 ล้านคน เป็นแรงหนุนดันให้เศรษฐกิจปี 65 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.4%