ปฏิบัติการสร้างความร่วมมือ จัดการแคมป์แรงงานก่อสร้าง ฝ่าวิกฤต โควิด-19
ถอดบทสรุป เจาะลึกประเด็นสำคัญ ของภาครัฐ และเอกชน ถึงแนวทางการจัดการ “แคมป์แรงงานก่อสร้าง” ในช่วงโควิด 19 รอบ 3 จากงานประชุมเชิงปฎิบัติการ “มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม EP.2 ” ซึ่งจัดโดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแชร์มุมมอง เพื่อเร่งหาแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ไปยังแคมป์คนงานก่อสร้าง
พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล แพทย์นักระบาดวิทยาภาคสนาม ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดเฟส 3 ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้กรอบแนวคิดการควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ มีเป้าหมาย จะต้องมุ่งเน้นมาที่การชะลอการแพร่ระบาด, ลดการเสียชีวิต, ป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อลดผลกระทบต่อภาพรวม แน่นอนว่าแคมป์แรงงาน เป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่อาจจะแพร่เชื้อไปยังกลุ่มเสี่ยงที่เชื่อมโยงได้
จุดตายของแคมป์แรงงาน ที่เห็นชัดเจนส่วนใหญ่จะมาจากจุดสัมผัสส่วนรวม และการใช้ชีวิตประจำวันภายในแคมป์ ยกตัวอย่างเช่น จุดบริการน้ำดื่ม ที่ต้องมีการใช้มือกดก๊อกน้ำร่วมกัน ซึ่งในช่วงนี้ขอแนะนำวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ การแก้ไขพื้นที่บริการน้ำดื่ม ให้ลดการสัมผัสน้อยลง เช่น การใช้ก๊อกน้ำแบบเหยียบ หรือให้คนงานนำภาชนะ แก้วน้ำ กระติกน้ำส่วนตัวมาใช้ เพื่อลดการใช้แก้วน้ำร่วมกัน
รวมถึงการแบ่งพื้นที่ทานอาหาร ให้เป็นสัดส่วน เช่น การตีกรอบช่องบนพื้นสำหรับการนั่งกินข้าวกับครอบครัวแบบเว้นระยะห่าง หรือ การจัดฉากกั้นบนโต๊ะทานอาหาร หรือใช้วิธีการเหลื่อมเวลาทานอาหารเพื่อลดความแออัด
นอกจากนี้ในพื้นที่จุดสัมผัสส่วนรวม อาทิ ราวจับบันได, ลูกบิดประตู, มือจับประตู เป็นจุดที่อาจมองข้ามไปดังนั้นในพื้นที่สำนักงาน หน้าไซต์งาน รวมถึง ภายในแคมป์แรงงาน อาจจะต้องปรับพฤติกรรม เช่น การใส่ถุงมือหากต้องสัมผัสกับราวบันได หรือจะเพิ่มการเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ให้บ่อยครั้งมากขึ้น
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการสำหรับบริษัท ไซต์งาน และแคมป์แรงงาน ซึ่งประกาศวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 โดยระบุถึงมาตรการสำคัญ อาทิ มาตรการเคลื่อนย้าย โดยให้หลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายแรงงาน หรือเดินทางกลับภูมิลำเนา จากพื้นที่ควบคุมสูงสุด-เข้มงวด หรือพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด รวมถึงมาตรการควบคุมการเดินทางจากที่พัก-ไซต์งานก่อสร้าง ตลอดเส้นทาง
นอกจากนี้ยังสั่งให้ทุกจังหวัดสำรวจจำนวนไซต์งาน และแคมป์แรงงานก่อสร้าง โดยเฉพาะที่มีแรงงานต่างด้าว เพื่อเฝ้าระวังในแคมป์ที่หนาแน่น และต้องมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ อย่างน้อยทุก 2-3 เดือน รวมถึงการเฝ้าระวังแรงงานที่มีประวัติทำงานในโรงงาน ก่อสร้าง หรือตลาด ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ส่วนฝั่งนายจ้างจะต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างของบริษัท และผู้รับเหมาช่วง และทำการจ้างแรงงานตามกฎหมาย
ทั้งนี้ในพื้นที่พักอาศัย ไซต์งานก่อสร้าง และแคมป์คนงาน จะต้องใช้มาตรการป้องกันควบคุมโควิดตามหลักการ DMHTTA คือ สวมหน้ากากอนามัย-ผ้า, เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร, ล้างมือบ่อยๆ, คัดกรองอาการทุกวัน, ลงทะเบียนผู้เข้าทำงานทุกวัน, ไม่ทานอาหาร-ดื่มน้ำร่วมกัน และงดการตั้งวงสังสรรค์ในช่วงนี้
อย่างไรก็ตามแนวทางการจัดการแคมป์คนงานก่อสร้างในช่วงนี้ อาจจะไม่ต้องรอการตรวจแบบ swab แต่อาจเลือกใช้วิธีการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำลาย เพื่อจัดการพื้นที่ตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาด ซึ่งจะแยกได้เป็น 3 กลุ่ม และหากพบผลบวกมากกว่า 10% ก็อาจจะต้องเริ่มใช้มาตรการ Bubble & Seal
ซึ่งมาตรการ Bubble & Seal นี้ หากยังไม่เกิดการแพร่ระบาดในแคมป์ก็สามารถทำได้ ยิ่งถ้าทำได้ทั้งแคมป์ก็จะดี แต่ก็ต้องระวังแยกคนที่มีความเสี่ยงสูง อย่าง ผู้สูงอายุ, คนที่มีโรคประจำตัว ออกจาก Bubble & Seal นั้นด้วย โดยการทำ Bubble & Seal ทั้งแคมป์จำเป็นต้องมีวิธีการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยม จากการมีส่วนร่วม โดยต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของแต่แคมป์, วิถีชีวิตของคนงาน, จำนวนคนงานภายในแคมป์ รวมถึงความเชื่อมโยงกับคนภายนอก เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางจัดการให้ดี เพราะถ้าทำ Bubble & Seal ไปแล้ว โดยไม่เข้าใจบริบทของสภาพแวดล้อม อาจทำให้แรงงานเกิดความเครียดและอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้
ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โควิด-19 ระบาดในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่ระบาดในโรงงาน จะมาจากลักษณะการทำงาน ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกัน หรือรวมกลุ่มทานอาหารกลางวัน ใช้ของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ กินอาหารวงเดียวกัน รวมถึงการสังสรรค์หลังเลิกงาน ขณะที่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมก็มีส่วน หากโรงงานมีความแอดอั ระบายอากาศได้ไม่ดีพอ
ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีแคมป์แรงงานกระจายตัวอยู่ในทุกเขตมีจำนวน 409 แห่ง รวม 62,169 คน แบ่งเป็นแรงงานไทยราว 26,000 คน แรงงานต่างด้าวราว 36,000 คน ทั้งนี้สถานประกอบการมีส่วนสำคัญในการใช้มาตรการและดำเนินงานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ตั้งแต่การทำความสะอาด Big Cleaning, วิเคราะห์สาเหตุ และความเสี่ยงหากมีการแพร่นระบาดในพื้นที่, การดูแลยกระดับมาตรการตั้งแต่ระดับบุคคลถึงองค์กร และหากสถานกาณ์ดีขึ้นแล้วก็ประเมินเพื่อเปิดดำเนินงานใหม่
ความเสี่ยงในแคมป์คนงานก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต สุขอนามัย และวัฒนธรรม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอให้ผู้ประกอบการร่วมดำเนินการปรับปรุง ออกแบบระบบ ยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงาน ทั้งด้านการกิน อยู่อาศัย การนอน ห้องน้ำ น้ำดื่ม เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งการผลักดันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ
ซึ่งจากวงเสวนาในครั้งนี้ ก็ได้พูดคุยกับตัวแทน จาก บริษัท เวสท์คอน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ได้ระบุว่า แคมป์คนงานของบริษัท จำนวน 2-3 แห่ง ได้รับการตรวจสอบมาตรการควบคุมและเฝ้าระวังแล้ว ซึ่งก็มีบางส่วนที่ต้องปรับปรุง เช่น พื้นที่อาบน้ำ จากเดิมที่ใช้อ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ ก็ได้รับแนวทางให้เพิ่มฝักบัว และฉากกั้นอาบน้ำ เพื่อลดจุดสัมผัสเสี่ยง ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการพัฒนาแคมป์คนงานตามที่ได้รับการแนะนำเพิ่มเติมในทุกๆ พื้นที่
แต่ก็ต้องยอมรับว่า การปรับพื้นที่อาบน้ำให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมและเฝ้าระวัง มีความยาก เพราะแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งการทำพื้นที่อาบน้ำโดยใช้ฝักบัว จำเป็นต้องใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหลังจากนี้บริษัทฯจะต้องหาแนวทางในการปรับตัวให้สอดรับกับมาตรการควบคุมและเฝ้าระวัง เบื้องต้นอาจจะให้คนงานสลับเวลาอาบน้ำกันก่อน
จะเห็นว่าแนวทางการปรับปรุงพื้นที่ภายในแคมป์คนงานเพื่อควบคุมและเฝ้าระวัง จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้นด้วย ทั้งนี้อยากฝากให้ผู้ประกอบการ เตรียมความพร้อม ด้วยการเช็คลิสแคมป์คนงานของตัวเองก่อนเบื้องต้น ผ่านช่องทางเว็ปไซต์ Thai Stop Covid Plus ของกรมอนามัย เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงของธุรกิจตนเอง รวมถึงแผนป้องกันก่อนเกิดเหตุ
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัญหาฯโควิดที่แพร่ระบาดในคลัสเตอร์แรงงาน เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งหาทางป้องกัน ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อหาแนวทางการป้องกัน และต้องเพิ่มมาตรการให้รัดกุม
ในมุมของภาคอสังหาริมทรัพย์ แรงงานก่อสร้างนับเป็นกำลังหลักสำคัญของธุรกิจ ดังนั้นหากจำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรอง ด้านผู้ประกอบการก็พร้อมลงทุนเพิ่มเพื่อดูแลแรงงานอย่างเต็มกำลัง แม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้น แต่ก็ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับความเสียหาย หากต้องปิดแคมป์แรงงาน หรือต้องหยุดการก่อสร้างโครงการ ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจอสังหาฯ มากกว่าเดิม และยังเป็นการช่วยประคองให้แรงงานอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด ลดการกระจายตัว เดินทางไปแพร่เชื้อสู่แคมป์อื่นๆ ซึ่งตอนนี้ผมมองว่าจะต้องเร่งควบคุมโรคระบาดให้ดีขึ้นก่อน