สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ระลอก 3 ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก รวมถึงความล่าช้าของการฉีดวัคซีนและการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่าง ๆ มีส่วนสำคัญให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. ปรับลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

                ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.อยู่ที่ 44.7 จากเดือน เม.ย.64 ซึ่งอยู่ที่ 46.0 โดยดัชนีลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 38.9 จาก 40.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 41.3 จาก 42.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 53.9 จาก 54.7

                นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยลบสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นเดือนพ.ค.นี้ ได้แก่ ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตต่อประชาชนและภาคธุรกิจ, การกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่ยังไม่แน่อน,

                โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 1/64 ติดลบ 2.6% และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 64 เหลือโต 1.5-2.5%, ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ, กังวลภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้ไม่สอคล้องค่าครองชีพ, เงินบาทแข็งค่า

                ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ, การฉีดวัคซีนในประเทศเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%, การส่งออกเดือนเม.ย. ขยายตัว 13%, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น

 

ก.พาณิชย์ ชี้ โควิดรอบ3 ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค. ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

                สอดคล้องกับการสำรวจของกระทรวงพาณิชย์ โดย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3

                 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤษภาคม 64 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.6 เทียบกับระดับ 43.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต ในทุกภาค และทุกอาชีพ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 36.4 มาอยู่ที่ระดับ 34.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับลดลงจากระดับ 48.2 มาอยู่ที่ระดับ 46.5

                หากจำแนกรายภูมิภาค จะพบว่าลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลาง มีสัดส่วนการลดลงมากที่สุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 44.2 มาอยู่ที่ระดับ 39.7 รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 41.5 มาอยู่ที่ระดับ 38.5 ภาคเหนือจากระดับ 43.5 มาอยู่ที่ระดับ 40.5

                เมื่อจำแนกรายอาชีพ ก็ลดลงทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาปรับลดลงจากจากระดับ 41.6 มาอยู่ที่ระดับ 37.1 ซึ่งมีสัดส่วนการปรับลดลงมากที่สุด กลุ่มไม่ได้ทำงานปรับลดลงจากระดับ 37.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.9 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด และมีความไม่มั่นคงในการดำรงชีพ

                ส่วนกลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 49.6 มาอยู่ที่ระดับ 47.4 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 43.1 มาอยู่ที่ระดับ 41.2 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 42.4 มาอยู่ที่ระดับ 40.6 กลุ่มเกษตรกร จากระดับ 44.3 มาอยู่ที่ระดับ 42.6 และกลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 41.0 มาอยู่ที่ระดับ 39.3

                เชื่อว่าถ้าสามารถกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดให้กลับเข้าก่อนการระบาดได้โดยเร็ว จะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยฟื้นปรับตัวดีขึ้นตามลำดับได้

 

กสิกรไทยคงประมาณการจีดีพีปี 64 ที่ 1.8%  จับตาภาระการคลัง เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และต้นทุนธุรกิจที่กำลังเพิ่มขึ้น

                ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ไว้ที่ 1.8% โดยมองว่าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการฉีดวัคซีน แต่หากสามารถเร่งกระจายวัคซีนได้มากพอภายใน 2-3 เดือนนี้ คงทำให้ภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม

                ทั้งนี้ภาครัฐยังต้องเตรียมรับมือกับอีก 4 โจทย์สำคัญ ได้แก่ ภาระทางการคลัง เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และต้นทุนธุรกิจที่กำลังเพิ่มขึ้น อันทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น

                โดยเฉพาะ "หนี้ภาคครัวเรือน" จากผลสำรวจความคิดเห็นหลังมีโควิดรอบ 3 ว่า สถานการณ์หนี้รายย่อยถดถอยลง โดยมีกลุ่มเปราะบางที่เผชิญทั้งปัญหารายได้ลด ค่าใช้จ่ายไม่ลด และภาระหนี้สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 10.8% ในโควิดรอบ 2 มาที่ 22.1% ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและน่าจะแตะระดับ 90% ต่อจีดีพีภายในปีนี้ จะมีผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจัง หลังผ่านโควิดรอบนี้

                และการปรับขึ้นของต้นทุนหรือราคาสินค้าที่มีผลซ้ำเติมผู้ประกอบการธุรกิจที่โควิดฉุดกำลังซื้อและตลาดมีการแข่งขันสูง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี โดยประเมินเบื้องต้นว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น 1% จะกระทบค้าปลีก SMEs ประมาณ 23,600-23,800 ล้านบาท