สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการหดตัวของตลาดรวมอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย 4 จังหวัดยุทธศาสตร์ภาคใต้ คือ ภูเก็ต สุราษฎร์ฯ สงขลา นครศรีธรรมราช ที่ได้รับผลกระทบหนักจากการท่องเที่ยวที่ซบเซา ทำให้คนส่วนใหญ่ขาดรายได้ กระทบต่อกำลังซื้อ มีผลต่ออัตราการดูดซับยังอยู่ในระดับต่ำ โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 63 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่เพียง 1,813 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 6,664 ล้านบาท
 

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยเป็นผลสำรวจในช่วงครึ่งหลัง ปี 2563 และเป็นการสำรวจโครงการบ้านจัดสรรและอาคารชุดที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า  6 หน่วย โดยในช่วงที่ทำการสำรวจ พบว่า มีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขาย ณ ครึ่งหลัง ปี 2563 ทั้งหมด 339 โครงการ จำนวน 17,765 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 77,296 ล้านบาท 

 

           ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาพรวมที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย ณ ครึ่งหลังปี 2563 ของภาคใต้ลดลงเกือบทุกจังหวัด โดย จ.สุราษฎร์ธานีมีการลดลงมากที่สุด ร้อยละ -8.8 รองลงมาคือ จ.นครศรีธรรมราช ลดลงร้อยละ -3.8  และ จ.ภูเก็ต ลดลงร้อยละ -2.2 ขณะที่ จ.สงขลาเป็นจังหวัดเดียวที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 63 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่เพียง 1,813 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 6,664 ล้านบาท
 

           ทั้งนี้จำนวนหน่วยเหลือขาย และหน่วยขายได้ใหม่ ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตาโดย ณ ครึ่งหลัง ปี 2563 ในภาคใต้ มีอุปทานเหลือขายจำนวน 15,952 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 70,632 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 9,798 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 40,753 ล้านบาท และอาคารชุด 6,154 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 29,879 ล้านบาท เมื่อแยกตามสถานะของการก่อสร้างของหน่วยเหลือขายทั้งหมด 

พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.5 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รองลงมาร้อยละ 34.4 ยังไม่ก่อสร้าง และที่เหลือร้อยละ 20.0 ก่อสร้างเสร็จแล้ว หากแยกตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ ร้อยละ  42.6  อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยยังไม่ก่อสร้างร้อยละ  35.8 และสร้างเสร็จแล้วร้อยละ  21.6 ส่วนอาคารชุดส่วนใหญ่อยู่ระหว่างก่อสร้างร้อยละ  50.2  ยังไม่ก่อสร้างร้อยละ  32.3 และสร้างเสร็จแล้วร้อยละ 17.5 ตามลำดับ 

           สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยภาคใต้ในพื้นที่สำรวจ ปี 2564 โดยคาดว่า ณ ครึ่งแรกปี 2564 จะมีที่อยู่อาศัยรอการขายจำนวน 16,738 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 76,070 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 16,941 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 76,697 ล้านบาท ในครึ่งหลังปี 2564 ในขณะที่อัตราดูดซับต่อเดือนของบ้านจัดสรร คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ในครึ่งแรกปี 2564 และอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ในครึ่งหลังปี 2564 ส่วนอัตราดูดซับต่อเดือนของอาคารชุดคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ในครึ่งแรกปี 2564 และอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ในครึ่งหลังปี 2564

            สำหรับการเคลื่อนไหวด้านการเปิดตัวโครงการใหม่ประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยคาดว่าจะมีการเปิดโครงการใหม่ประมาณ 2,308 หน่วย ในครึ่งแรกปี 2564 และเปิดใหม่อีก  2,711 หน่วย ในครึ่งหลังปี 2564 ในขณะที่จำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ ณ ครึ่งแรกปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ  8,663 หน่วย มูลค่า 22,400 ล้านบาท และหน่วยโอนกรรมสิทธิ์จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 9,893 หน่วย มูลค่า 25,125 ล้านบาท ในครึ่งหลัง ปี 2564

 

           นายพัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต กล่าวว่า ภาพรวมอสังหาฯภูเก็ตถือว่าแย่มาก ถ้ายอดขายได้ 10% ถือว่าดี เพราะตอนนี้ทาวน์เฮาส์มีเหลือขายเยอะมาก จากคนขาดรายได้ สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้เกิดการแย่งลูกค้าที่ได้สินเชื่อจากธนาคาร ผู้ประกอบการบางรายใช้กลยุทธ์การเข้าหาลูกค้าที่มีศักยภาพในการขอสินเชื่อโดยเสนอเงื่อนไขและราคาที่ดีกว่า ทำเลที่ดีกว่าคู่แข่งเพื่อแย่งลูกค้าทันที ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นของแคมเปญจากที่ปัจจุบันก็มีแคมเปญแรงๆ เช่น อยู่ฟรี 2 ปีเพื่อให้ผู้ซื้อไม่ต้องแบบภาระการผ่อนส่งค่างวดในช่วง 1-2 ปีแรก

ส่วนตลาดระดับบนราคา 8 ล้านบาทขึ้นไป ยอดขายค่อนข้างดี เพราะผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อมองว่าเป็นช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้ข้อเสนอที่ดีก่อนที่เศรษฐกิจและตลาดจะฟื้นตัวหลังจากเปิด ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์

             สำหรับโครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ก็ยังมีสิ่งกังวลใจ โดยเฉพาะไทยยังถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงจึงไม่แน่ใจว่าเมื่อเปิดโครงการแล้ว จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแค่ไหน รวมทั้งสายการบินยังไม่พร้อมบินได้ทันที เอเจนต์ไม่สามารถการันตีว่านักท่องเที่ยวจะมามากน้อยแค่ไหน  หากเลวร้ายที่สุดคือนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นมาน้อยแล้วนักท่องเที่ยวไทยลดลงด้วย ภูเก็ตจะหนักกว่าเดิม เพราะที่ผ่านนักท่องเที่ยวหลักคือ จีน อินเดีย รัสเซีย ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้ยังบินมาไม่ได้ แต่เราคาดหวังว่าการเปิดครั้งนี้เป็นโมเดลทดสอบ เพราะถ้าเราไม่เปิดก็จะไม่มีโอกาสเปิด เราไม่มีโอกาสที่จะฟื้นฟูเสียที 3 เดือนนี้ต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จริง เชื่อว่าไตรมาส 4 น่าจะมีนักท่องเที่ยวสูงขึ้น

 

               นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยบริษัท ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า  โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นโครงการนำร่องที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้ อีกหนึ่งความหวังในการผลักดันให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และอสังหาฯ กลับมาฟื้นตัว และหากการเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในครั้งนี้ส่งผลบวกให้ลูกค้าต่างชาติกลับมาได้จริง สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องทำคือ การเตรียมความพร้อมและสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าต่างชาติ

              สำหรับโอกาสของการกลับเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยของกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาตินั้น มองว่า กลุ่มลูกค้าชาวจีน ยังให้ความสนใจที่อยู่อาศัยในประเทศไทย สะท้อนจากตัวเลขการโอนที่อยู่อาศัยในปี 63 ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มลูกค้าชาวจีนมีสัดส่วนกว่า 60% รองลงมาคือ รัสเซีย เยอรมนี อังกฤษ


               ทั้งนี้อสังหาฯ ที่มีมูลค่าไปสูงมากโดยมีราคาเฉลี่ยประมาณ 3 ล้านบาท นักลงทุนจีนจะไม่กังวลมากนักเกี่ยวกับการเจรจาซื้อขาย โดยส่วนใหญ่สามารถสื่อสารติดต่อกันผ่านทางด้านออนไลน์ตั้งแต่ขั้นตอนการจองซื้อ เยี่ยมชมโครงการ รวมไปถึงการเซ็นสัญญาซื้อขายและการโอนกรรมสิทธิ์ สาเหตุที่นักลงทุนจีนตัดสินใจซื้อง่ายโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนเนื่องจากมองว่าการลงทุนในอสังหาฯ ก็เสมือนการซื้อหุ้นซึ่งไม่จำเป็นต้องนั่งบริหารเอง แต่ต้องมีข้อมูลรายงานความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด มีความชัดเจนในเรื่องของผลตอบแทนว่าอยู่ในระดับใดหรือต้องใช้ระยะเวลากี่ปีในการทำกำไรสูงกว่าราคาที่ซื้อมา