6 วิธีคุม งบสร้างบ้าน
6 วิธีคุม งบสร้างบ้าน
งบสร้างบ้าน เรื่องสำคัญในการ สร้างบ้าน บ่อยครั้งที่การ สร้างบ้าน มักมีปัญหางบบานปลายจนควบคุมไม่ได้ ขณะเดียวกัน การคุมงบสร้างบ้านแบบประหยัดมากเกินไป ก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก TerraBKK ขอเสนอ 6 วิธีคุม งบสร้างบ้าน เป็นแนวทางเบื้องต้นในการควบคุมงบสร้างบ้าน แบบไม่เครียด เพื่อให้ได้บ้านที่สะท้อนความเป็นตัวเราในการอยู่อาศัย ภายใต้งบประมาณที่กำหนด และช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ รายละเอียดดังนี้
วิธีที่ 1 : เลือกผู้รับเหมาหลากหลายอย่างชาญฉลาด
เจ้าของบ้านไม่น้อยที่กลัวว่าจะเสียเวลา หากมัวแต่คัดเลือกผู้รับเหมา บ้างก็คัดเลือกเอาคนที่คุยกันรู้เรื่อง โชคดีพบเจอผู้รับเหมาถูกใจก็ดีไป ไม่เช่นนั้นคงเกิดปัญหาหลากหลายรูปแบบ เช่น ผู้รับเหมาที่ดูเรื่องงบประมาณเป็นหลัก จนบางทีคุณภาพวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ไม่ถูกใจเรา ขณะที่บางเจ้า ก็ทำตามใจเราทุกอย่างจน งบสร้างบ้าน บานปลายไปอีก เป็นต้น กว่าจะเจอผู้รับเหมาถูกใจ ถูกงบประมาณ ต้องลองเสี่ยงกี่ครั้งก็เกินคาดเดา ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเลือกผู้รับเหมาเพราะเขามานำเสนอเป็นคนแรก ควรมองหาผู้รับเหมาหลากหลายเจ้าเพื่อเปรียบเทียบหาเจ้าที่ดีที่สุด ภายใต้งบประมาณ ประวัติการงาน ดูคุณภาพผลงานที่ผ่านมา อาจจะขอเบอร์ติดต่ออดีตลูกค้าที่ผ่านมาเพื่อตรวจสอบข้อมูลก็ได้ อย่ากลัวว่าจะเสียเวลามากเกินไปกับการคัดเลือกผู้รับเหมา ให้มองว่าเป้าหมายผู้ที่จะสร้างบ้านเรานั้น ต้องเป็นผู้รับเหมาที่เคารพการตัดสินใจเรา ควบคุมงบประมาณก่อสร้างได้ มีความน่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพในการบริหารงานเสร็จสมบูรณ์ภายใต้อายุสัญญา
วิธีที่ 2 : สร้างเล็กไว้ก่อน และเน้นเปิดโล่ง
ลักษณะครอบครัวพ่อแม่ลูกพอมีพอกิน บ้านขนาดเล็กควรเน้นสร้างสิ่งที่ต้องการใช้งานได้จริง แน่นอนว่าบ้านขนาดเล็กย่อมใช้ งบสร้างบ้าน ต่ำกว่าบ้านหลังโต แต่ถ้าหากเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ มีแมวหมาให้เลี้ยงดูแล ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่กันอย่างแออัดคับแคบ บ้านหลังใหญ่ควรเน้นสร้างบ้านแบบโปร่งโล่ง เพื่อความยืดหยุ่นในการใช้สอยประโยชน์พื้นที่ ห้องครัวที่เปิดโล่งสามารถเป็นได้ทั้งห้องทำครัว, ห้องดินเนอร์ หรือห้องปาร์ตี้ของคนในครอบครัวก็ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ด้วย เช่น งานผนังภายใน, ประตู, ทางเดิน, สายไฟหรือท่อประปา เป็นต้น ข้อดีอีกประการคือ การเปิดโล่งจะไม่ถูกจำกัดไอเดียในการจัดวางข้าวของเครื่องใช้ เพราะสามารถโยกย้ายตำแหน่งได้อย่างง่าย เมื่อรู้สึกเบื่อมุมเดิมๆ
วิธีที่ 3 : บ้านสวยจากความขาดๆเกินๆ
ไอเดียสร้างบ้านใหม่ๆ เมื่อเราเกิดอยากจะเปลี่ยนแปลงบางอย่างไปจากเดิมๆ สร้างความต่างระหว่างบ้านทั่วไปกับบ้านแนว Art เช่น ผนังฉาบปูนที่ไม่ทาสีผนัง กลายเป็นผนังปูนเปลือย เป็นต้น อาจจะสร้างห้องใต้หลังคา สำหรับนอนอ่านหนังสือ มองดูดาวตอนกลางคืน หรือ การสร้างสวนดอกไม้ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่สนามหน้าบ้าน แต่จัดบนระเบียงชั้นดาดฟ้าก็ได้ ลองมองหาสิ่งที่ชอบ จับใส่พื้นที่ใหม่ๆ แบบเรียบง่าย ก็กลายเป็นความงามที่ไม่สิ้นเปลื้อง งบสร้างบ้าน ได้เช่นกัน
วิธีที่ 4 : มีส่วนร่วมสร้างบ้านด้วยตนเอง
บางทีงานเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่จำเป็นต้องถึงมือผู้รับเหมา เช่น ติดหลอดไฟตบแต่งห้อง , เปลี่ยนก๊อกน้ำ เป็นต้น งานเล็กน้อยเหล่านี้สะสมเป็นเงินก้อนโตได้ หากคุณสามารถแบ่งเบาภาระด้วยการลงมือทำเอง นอกจากจะประหยัด งบสร้างบ้าน แล้ว ยังช่วยให้เราคุ้นเคยมากขึ้น กรณีมีปัญหาติดขัดภายหลัง ก็จะสามารถปรับปรุงซ่อมได้ทันที เช่น ก๊อกน้ำรั่ว เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่แนะนำว่าต้องทำทุกสิ่งอย่างเพื่อควบคุมงบประมาณก่อสร้าง เพราะงานระบบบางอย่างปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมืออาชีพ ดีกว่ามานั้งเสียเงินแก้ปัญหาตามมาทีหลัง เช่น งานระบบน้ำ งานระบบไฟ เป็นต้น
วิธีที่ 5 : หาแหล่งวัสดุอุปกรณ์เองบ้าง
แหล่งวัสดุอุปกรณ์สร้างบ้าน สำหรับผู้รับเหมาแล้ว มักได้เปรียบในสิ่งของที่เน้นปริมาณมากๆ เช่น อิฐ, ปูน, ไม้สร้างบ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาจมีข้าวของบางอย่างที่เราสามารถหาได้ในราคาที่ถูกกว่า หรือของที่ถูกใจเราได้มากกว่า เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น หากเปรียบเทียบแล้ว ของที่เราหาได้ถูกใจและราคาถูกกว่า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยลด งบสร้างบ้าน ได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากเป็นของใช้ที่ถูกกว่าเพราะเป็นของมือสอง ควรเน้นความปลอดภัยในการใช้งานเป็นหลัก เลือกใช้แล้วแต่กรณีตามวิจารณญาณ
วิธีที่ 6 : ลดขยะจากการใช้งาน
หลักการประหยัด งบสร้างบ้าน ในข้อนี้ก็คือ ใช้สิ่งที่ยังคงสามารถใช้งานได้ งานก่อสร้างมักจะมีของเสียเป็นวัสดุ ที่เราสามารถนำกลับมาใช้ในรูปแบบอื่นได้ จากความคิดสร้างสรรค์ของเราเอง เช่น นำไม้อัดเหลือใช้มาสร้างชั้นวางของ, เอากระเบี้องที่แตก มาวางเพิ่มลวดลายบนพื้นปูนหน้าบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า เจ้าของต้องไปเดินหาวัสดุในพื้นที่ก่อสร้างเพื่อนำมา reuse ชนิดคนขึ้เหนียว แนะนำว่าเอาแบบพอประมาณ โดยไม่ลืมความสุขในการอยู่อาศัยแบบปลอดภัยด้วย -- เทอร์ร่า บีเคเค