กรณีศึกษา : การบริหารอาคารด้วย Digital Twin ตอบโจทย์โลก “Permanent Remote Work” ยุค New Normal
โดย ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ นักวิชาการอิสระ virulrak@gmail.com
- อุปนายกสมาคม BIM แห่งประเทศไทย
- ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี Digital Twin Thailand
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสเซ็ท แอคทิเวเตอร์ (Asset Activator)
จากบทความที่แล้ว Digital Twin คู่เสมือนโลกดิจิทัล Digital Transformation เพื่อการบริหารอสังหริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เราคุยกันว่า Digital Twin คืออะไร? และ มีประโยชน์ในภาพรวมอย่างไร? วันนี้เราจะลองเล่าเรื่องตัวอย่างของการใช้งานกันจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกันบ้าง เพราะท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) สังคมเข้าสู่ชีวิต New Normal หลายๆ คนถามว่า จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมกันได้เมื่อไหร่? เราจะกลับมาเจอกันได้เมื่อไหร่? สัมผัสกันตัวเป็นเป็นได้เมื่อไหร่?
สาเหตุที่ผู้คนโหยหาการกลับมาเจอกัน เพราะเราคือสัตว์สังคม ต่อให้เรามีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงกับคนอื่นได้ทั้งโลก แต่ความรู้สึกของการได้เจอหน้ากันจริงๆ ก็ยังเป็นความรู้สึกที่โลกออนไลน์ยังไม่สามารถมาแทนที่ได้
ทุกวันนี้หากเราทำการคุยธุระสำคัญกัน เราก็ยังต้องการ “ขอมาเจอหน้ากันหน่อยเถอะ” ทั้งๆ ที่คำว่า ‘เจอหน้า’ แค่เปิดกล้องก็เห็นได้ก็จริง แต่มันไม่ได้ “feel” ของการได้เห็นตัวเป็นๆ ในพื้นที่เดียวกัน
แต่อีกด้านหนึ่งผู้คนจะเริ่มเห็นว่า เมื่อ Work from Home มานานเป็นปีแล้ว ข้อดีที่ได้กลับมา คือ ‘บริหารเวลา’ ได้มากขึ้น ที่ชัดเจนที่สุดคือเราลดเวลากับค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ รวมถึงการ “Collaborate” ที่ดีขึ้น เพราะทุกคนเพียงคลิ๊กไปห้องประชุมไหนก็ได้ ตามที่ใจต้องการ ในทันที (แน่นอนว่าบางคนบอกว่าทำงานหนักขึ้นด้วย)
มีหลายสำนักวิเคราะห์ ทั้ง Management Consultant และ Tech Company ต่างๆ บอกตรงกันว่า หลายองค์กร เห็นประโยชน์จากปรากฎการณ์ Work from Home และจะไม่กลับไปตึกออฟฟิศเพื่อไปทำงานแบบเดิมอีกแล้ว เพราะวิกฤติโควิด-19 (Covid-19) นี้ได้ผลักดันให้คนทุกคนในองค์กร เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและปรับตัวได้เป็นที่เรียบร้อย
พอคนเริ่มรู้ว่า Work from Home เป็นเรื่องปกติ คนก็จะเริ่ม Work from the place that I want to be. และก็จะกลายเป็น Work form Anywhere ไป เพื่อให้คุณภาพชีวิตตนเองดีขึ้น
หากกล่าวในเชิงการบริหารองค์กร หลายแห่งพนักงานปรับตัวจนกล้าพูดได้ว่า กลายเป็นองค์กรที่ทรานส์ฟอร์มไปสู่การทำงานแบบ Remote Work ถาวร หรือเป็น Permanent Remote Work แต่ Permanent Remote Work ไม่ได้แปลว่า องค์กรจะไม่มีพื้นที่สำนักงานอีกต่อไป เพียงแต่องค์กรจะมีพื้นที่สำนักงาน “น้อยลง”
ปัญหาเก่าๆ ของสำนักงาน ก็ยังมีอยู่ แต่ต่างไปคือพอเกิดปัญหา คนแก้ปัญหาได้ หรือคนที่มอำนาจตัดสินใจสั่งการ ส่วนใหญ่จะไม่อยู่ที่สำนักงานในเวลานั้น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเชิงการบริหาร การที่มีผู้เชี่ยวชาญแก้ปัญหาได้ และมีผู้มีอำนาจตัดสินใจได้อยู่ ณ จุดที่เกิดปัญหา ทำให้การเรียกระดมพลต่างๆ จบได้ในเวลาไม่นาน – การที่บุคคลภายนอกจะต้องเข้าไปทำการซ่อมหรือปรับปรุง จะมีไม่บ่อยครั้ง – แต่โลกโควิดที่ไม่มีใครอยู่ที่นั่น ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยากลำบาก การเอาคนเข้าไปวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นซ้ำซาก กว่าจะสรุปได้ ซึ่งการที่บุคคลภายนอกเข้าไปบ่อยครั้ง ก็คือ ความเสี่ยงต่อการติดโรคด้วย
บทความนี้ จะขอเล่าซีเนริโอ (Scenario) หรือสถานการณ์ของโลก Permanent Remote Work ณ ปัจจุบันในสองซีเนริโอ ระหว่าง อาคารสำนักงานที่ ไม่มี Digital Twin และ มี Digital Twin
เหตุการณ์ตั้งต้น คือ อาคารสำนักงานแห่งหนึ่ง มีบริษัท A เช่าพื้นที่ อยู่ 400 ตารางเมตร ชิ้นส่วนของฝ้าเพดานสวยมาก ราคานับล้านบาทในห้องประชุมสำนักงาน เกิดถล่มลงมากลางห้อง เกี่ยวท่อสปริงเกลอร์ บิด หัวสปริงเกลอร์หัก น้ำกระจายเต็มห้องประชุม แต่โชคดีที่ไม่มีการประชุมอยู่ มิเช่นนั้นคงมีคนบาดเจ็บ
โลกที่ไม่มี Digital Twin จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
จากบรรทัดต่อไปนี้ ขอเปรียบเทียบ รูปแบบและขั้นตอนการทำงานของอาคารที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยี Digital Twin ก่อน
สิ่งที่อาคารมี คือ แบบก่อสร้างเป็นปึกๆ กระดาษใหญ่ๆ ไว้อ้างอิง
สเต็ปที่ 1 : พนักงานธุรการบริษัท A โทรหาช่างอาคาร เพื่อแจ้งเหตุฝ้าถล่ม
สเต็ปที่ 2 : ช่างอาคาร (บุคคลภายนอกเข้าสำนักงานครั้งที่ 1) มาประเมินหน้างานครั้งแรก ปิดวาล์วน้ำ พบว่าฝ้าถล่มจริง แต่แจ้งพนักงานธุรการว่าฝ้านี่ไม่ใช่ของอาคาร แต่เป็นของผู้รับเหมาก่อสร้างของบริษัท A เอง คุณต้องไปคุยกับผู้รับเหมาก่อสร้างคนนี้ แต่อาคารได้รับความเสียหายคือฝ้าถล่มลงมา และเกี่ยวท่อสปริงเกลอร์ของอาคาร ต้องรายงานให้ผู้จัดการอาคารทราบ
สเต็ปที่ 3 : พนักงานธุรการ รีบโทรหาเจ้านาย เพราะนอกจากฝ้าพัง พรมบนพื้นพังแล้ว บริษัทยังจะต้องจ่ายเงินให้อาคารอีก
สเต็ปที่ 4 : หัวหน้าโทรหา ผู้จัดการของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทำฝ้า โดยผู้รับเหมาก่อสร้างส่งช่างฝ้ามาดูหน้างาน
สเต็ปที่ 5 : อีกด้านหนึ่งช่างอาคาร รับทราบว่าต้องซ่อมสปริงเกลอร์ จึงติดต่อช่างซ่อมสปริงเกลอร์ ถ่ายรูปส่งให้ดู
สเต็ปที่ 6 : ช่างฝ้ามาประเมินความเสียหายหน้างาน (บุคคลภายนอก-เข้าอาคารครั้งที่ 2) และแจ้งพนักงานธุรการว่าจะส่งช่างซ่อมพร้อมอุปกรณ์มาแก้ไข
สเต็ปที่ 7: พนักงานธุรการแจ้งผู้จัดการอาคารตามระเบียบ เรื่องการนำช่างจากภายนอก มาทำงานปรับปรุง ผู้จัดการอาคารถามกลับว่า ถ้าทางบริษัท A นำช่างฝ้ามาซ่อมฝ้าแล้วปิดฝ้า ฝ่ายอาคารจะซ่อมสปริงเกลอร์อย่างไร? สรุปว่าต้องรอให้ช่างสปริงเกลอร์มาซ่อมสปริงเกลอร์ก่อน
สเต็ปที่ 8 : ตัวแทนทีมซ่อมสปริงเกลอร์ถูกเรียกมาดูหน้างาน (บุคคลภายนอก-เข้าอาคารครั้งที่ 3) เพื่อวิเคราะห์และประเมินว่าต้องนำอุปกรณ์และอะไหล่มาดัดท่อ เปลี่ยนหัว เนื่องจากรูปถ่ายที่ฝ่ายอาคารส่งมาก่อนหน้านี้ ข้อมูลไม่ครบถ้วน ว่าแล้วก็เรียกทีมซ่อม นัดวันซ่อมอีกครั้ง
สเต็ปที่ 9 : ทีมซ่อมสปริงเกลอร์เดินทางมาซ่อมหน้างาน โดยมีการถ่ายรูปก่อนและหลังซ่อมสปริงเกลอร์เรียบร้อย (บุคคลภายนอก : เข้าอาคารครั้งที่ 4) ช่างอาคารรายงานหัวหน้าเพื่อดำเนินการเคลม ค่าเสียหายในระบบ เตรียมเรียกเก็บจากบริษัทผู้เช่าออฟฟิศ
สเต็ปที่ 10 : ทีมช่างผู้รับเหมาฝ้าเพดานเดินทางมาซ่อมฝ้าเพดานเป็นที่เรียบร้อย ปิดฝ้าใหม่ จบกระบวนการ (บุคคลภายนอก : เข้าอาคารครั้งที่ 5) ทุกอย่างดูเหมือนเดิม
สเต็ปที่ 11 : ต่อมาผู้บริหารของบริษัท A ผู้เช่าสำนักงานซึ่งไม่เคยเข้าสำนักงานนี้ ทราบเรื่องการเคลมหัว สปริงเกลอร์จากอาคาร ไม่พอใจ ขอนัดคุยกับผู้จัดการอาคาร โดยผู้จัดการอาคารนำหลักฐานพร้อม รูปถ่ายต่างๆ ตั้งแต่วันเกิดเหตุ มาให้พิจารณา ผู้บริหารจึงยอมจำนนด้วยหลักฐาน
สเต็ปที่ 12 : เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ผู้บริหารของบริษัทผู้เช่าสำนักงาน จึงสั่งสถาปนิกมาตรวจสอบความแข็งแรงของฝ้า โดยทำการเปิดฝ้า (เท่าที่จะทำได้) เพื่อประเมินสเปคและแบบก่อสร้าง (บุคคลภายนอก : เข้าอาคารครั้งที่ 6)
สเต็ปที่ 13 : สถาปนิกแจ้งผู้บริหาร เป็นรายงานว่า จากการเปิดฝ้าและพิจารณารายละเอียดการติดตั้งฝ้า ไม่ตรงกับที่สเปคในแบบ (ก่อนหน้านี้ไม่มีใครเปิดแบบ มีสถาปนิกคนนี้เปิดแบบอาคารเป็นครั้งแรก)และบางจุดมีความเสี่ยงที่จะถล่มได้อีก
สเต็ปที่ 14 : ผู้บริหารบริษัทผู้เช่าสำนักงานคนเดิม โทรหาผู้จัดการบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ให้มาแก้ไขฝ้าใหม่ทั้งหมด
สเต็ปที่ 15 : สรุปผู้รับเหมาก่อสร้าง รื้อฝ้าทั้งหมด ทำใหม่อีกรอบ (บุคคลภายนอก : เข้าอาคารครั้งที่ 7) โดยครั้งนี้สถาปนิกมาคุมงานไปด้วย เพื่อให้เนื้องานเป็นไปตามสเปค
ปัญหาเรื่องช่างลักษณะนี้ หากเป็นโลกก่อนยุคโควิด-19 คงจะเป็นเพียงเรื่องที่ไร้ประสิทธิภาพ เรื่องที่น่ารำคาญ แต่ในยุคนี้การที่คนภายนอกต่างๆ เข้าสำนักงานหลายๆ ครั้ง เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยบางอาคาร หรือบางสำนักงาน ที่มีงานซ่อมแซมปรับปรุงอาคาร (Renovate หรือ Remodeling) ถึงขนาดปิดออฟฟิศและจ้างคนคุมงานจากภายนอกเลยด้วยซ้ำ – ดังนั้นถ้านับเวลากว่าจะจบกระบวนการดังกล่าว อาจจะมี 2 เดือน
โลกที่มี Digital Twin ในอนาคตอันใกล้
จากเหตุการณ์แบบเดียวกันกับข้างต้น ต่างตรงที่อาคารมีเทคโนโลยี Digital Twin และทีมงานพร้อมสนับสนุนด้านข้อมูล
สเต็ปที่ 1 และ สเต็ปที่ 2 คงไม่ต่างจากเหตุการณ์ข้างต้น แต่เมื่อมาพิจารณาในขั้นตอนต่อไป
สเต็ปที่ 3 : ช่างอาคาร ปรึกษากับผู้จัดการอาคาร เปิดดู Digital Twin ของโครงการ พร้อมบันทึกว่า ตำแหน่งสปริงเกลอร์ที่ควรจะเป็น ควรอยู่ตรงไหน และรายการที่เสียหาย มีใครใน Database ของ Digital Twin ที่เป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง
สเต็ปที่ 4 : ผู้จัดการอาคารได้ Stakeholders ต่างๆ จาก Database ของ Digital Twin ได้แก่ ฝ่ายอาคาร, บริษัทเจ้าของสปริงเกลอร์, บริษัทรับเหมาฝ้าเพดาน, บริษัทผู้เช่าพื้นที่ และเชิญประชุมออนไลน์ เพื่อเปรียบเทียบ “สิ่งที่ควรจะเป็น (Digital Twin)” กับ “สิ่งที่เป็นอยู่(สภาพความเสียหายจริง)”
สเต็ปที่ 5 : ในวันประชุม มีช่างอาคารรอสแตนบาย เพื่อ Live สด ผ่านกล้อง ปีนดูใต้ฝ้า สำรวจความเสียหาย (บุคคลภายนอก : เข้าอาคารครั้งที่ 2) และมีทีม Digital Twin เตรียม ออนไลน์ เพื่อเตรียมเปิด Digital Model เปรียบเทียบแบบเรียลไทม์
สเต็ปที่ 6 : การประชุมเริ่มขึ้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งระดับ คนทำงาน ระดับจัดการ และระดับบริหารบางส่วน ที่มีอำนาจตัดสินใจ เข้ามาออนไลน์ พร้อมกัน โดยช่างอาคารนำเสนอความเสียหายของฝ้า และนำเสนอความเสียหายของสปริงเกลอร์
สิ่งที่ค้นพบคือ ฝ้าไม่ได้ถูกติดตั้งอย่างถูกต้องตามที่แสดงในโมเดล Digital Twin จึงเป็นเหตุให้ฝ้าพัง และส่งผลเสียหายถึงสปริงเกลอร์ โดยทางผู้จัดการของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างฝ้าเพดานยอมจำนนต่อข้อมูล รับทราบและยินดี ทำให้ใหม่ให้ถูกต้องทั้งหมด พร้อมกับรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมสปริงเกลอร์โดยตรง ร่วมถึงพรมที่เสียหาย ทั้งหมดจบในที่ประชุมออนไลน์และมีการบันทึกเป็นมติเรียบร้อย
สเต็ปที่ 7 : เข้าสู่วาระการวางแผนซ่อมแซม ทราบว่าการซ่อมของสปริงเกลอร์ ใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง และฝ้า ใช้เวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมง จึงให้มีการนัดหมายให้มาทำในวันเดียว คือวันหยุด วันเสาร์ จึงนัดหมายกันเรียบร้อย
ในระหว่างการประชุมทีมซ่อมสปริงเกลอร์ ขอให้ทางช่างอาคารที่ Live สดอยู่ ส่องกล้องให้เห็นมุมที่สำคัญ และ เปรียบเทียบกับ Digital Twin เพื่อยืนยันเรื่องชิ้นส่วนท่อที่ต้องเอาไปเปลี่ยน โดยทีม Digital Twin คอยสนับสนุนเรื่องการแสดงโมเดลให้กับช่างทั้งทีมซ่อมสปริงเกลอร์และทีมซ่อมฝ้าเพดานให้เห็นว่าแบบเดิมที่ถูกต้องเป็นอย่างไร -งานจบเป็นที่เรียบร้อย
สเต็ปที่ 8 : ทีมช่างฝ้า และ ช่างซ่อมสปริงเกลอร์ เข้าซ่อมอาคารในวันเดียวกัน (บุคคลภายนอก-เข้าอาคารครั้งที่ 3)
ตัวอย่างที่ยกมา บางท่านอาจจะบอกว่า พระเอกของเรื่องนี้ คือ “การประชุมออนไลน์” หรือ “ความสามารถในการประสานงานของช่าง” แต่ในความจริงแล้ว ‘Digital Twin คือ พระเอก ที่ทำให้การจัดการของสองสถานการณ์นี้แตกต่างกัน
ทำไม? การประชุมออนไลน์ ถึงไม่ใช่พระเอก
อาจจะมีคนถามว่า ทำไมซีเนริโอแรกถึงไม่มีการประชุมออนไลน์ สาเหตุที่ไม่ประชุม เพราะไม่มีคอนเซ็ปต์ของการ Collaboration มาตั้งแต่ต้นของการวางหลักการทำงาน
ปัจจุบันสไตล์การทำงานของงานช่าง คือ เจออะไรก็แก้เรื่องนั้น แก้อะไร ก็จบแค่นั้น หากมีปัญหาเชิงข้อมูล ลองเปิดหาจากแบบก่อสร้าง ถ้าหาไม่เจอก็ลองเดาๆ เอาหน้างาน เป็นการทำงานแบบทำไป แก้ไป
การใช้ Digital Twin Technology ในอาคารนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่การจ้างคนมาทำ Model 3D และมี Data เท่านั้น แต่เป็นการ ‘ติดอาวุธ’ ให้ทีมทำงาน โดยเฉพาะผู้ดูแลอาคารในเชิง Collaboration มาแต่ต้น โดยช่างอาคาร กับ ผู้รับเหมาก่อสร้าง อินทีเรียในอาคารที่มี Digital Twin ต้องมีการประสานงานเรื่องข้อมูลมาตั้งแต่การพัฒนาแบบตกแต่งสำนักงาน ฉะนั้นคนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กันมาก่อน รู้จักกันมาก่อนแล้ว ผ่านกระบวนการทำงานที่ต้อง Merge Digital Twin Database ระหว่าง Digital Twin ของอาคาร กับ Digital Twin ของ Interior Works เข้าหากัน VS เทียบกับกระบวนการเก่าที่ “เอาแบบก่อสร้างของอาคารกับของอินทีเรีย สำนักงานมากองรวมกัน (ในโอกาสต่อไปจะมาขยายความเรื่องนี้)
ดังนั้นคำตอบของคำถามที่ว่าซีเนริโอแรก ทำไมไม่ประชุมออนไลน์กัน เพราะเขาไม่รู้จักกัน และไม่คุ้นเคยเรื่องการประสานข้อมูลร่วมกันมาก่อน ต่างคนต่างมองเป็นคนละชิ้น สนใจเฉพาะงานของตัวเอง ดังนั้นต่อให้มีเทคโนโลยีการประชุมออนไลน์ก็ไม่มีประโยชน์
ส่วนคำถามที่ว่าพระเอกคือ ความสามารถของพนักงานหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ‘ไม่’ เพราะความสามารถของเขามีอยู่มาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่เขาไม่สามารถใช้ความสามารถนั้นได้ Digital Twin คือ “Enabler” ที่จะช่วยเสริมให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่งานช่างทั่วไป แต่เป็นงานบริหารจัดการได้ด้วย เพราะมีข้อมูลทุกอย่างในมือพร้อม ทั้งเรื่อง ก่อสร้าง เรื่องเวลา เรื่องคน
หากไม่มีเทคโนโลยี Digital Twin แม้ว่าทุกคนจะพร้อมประชุมออนไลน์พร้อมกันเรียลไทม์ แต่การนำเสนอข้อมูลก่อสร้างแบบเดิมๆ ที่คงไม่พ้นกระดาษหรือพิมพ์เขียว ซึ่งผู้บริหารเองไม่ได้มีความชำนาญในการอ่าน ดูไปก็ไม่รู้เรื่อง
Digital Twin Model คือ Model สามมิติเหมือนอาคารจริง ไม่ต้องใช้ทักษะใดๆ ในการทำความเข้าใจข้อมูลนี้ เหมือนกับการเล่มเกม Online ที่ทุกคนเข้าใจได้
หากมีแต่แบบก่อสร้างกระดาษ การสร้างความเข้าใจของปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้บริหารระดับสูงของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้นจะเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ผู้บริหารจะเข้าใจได้จะมีเพียงแค่ “ภาพของความเสียหาย” จากการที่ช่าง Live Video ใต้ฝ้าเท่านั้น
การมี Digital Twin เป็นโมเดลที่สามารถแสดงแบบอาคาร เห็นท่อหรือฝ้า ซึ่งปกติจะไม่สามารถเห็นได้ ทำให้พนักงานสามารถแสดง “ภาพของสิ่งที่ควรจะเป็น” ได้
เมื่อทุกคนเห็นทั้ง “ภาพของสิ่งที่ควรจะเป็นว่าสมบูรณ์-ถูกต้องต้องเป็นอย่างไร” (โดย Digital Twin) และ “ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น” (Physical Situation) คู่ขนานกัน จึงทำให้การเจรจาหาข้อยุติได้ไม่ยาก เพราะทุกคนเข้าใจ-ตรงกัน-ได้พร้อมกัน ไม่ต้องอธิบายกันมาก
เทียบกับสถานการณ์แรก ช่างอาคารรู้ว่าอธิบายไปคนทั่วไปก็ไม่เข้าใจ บรรดาระดับเจ้านายของแต่ละฝ่ายคงมีแต่ขัดแย้งกัน จึงเลือกที่จะค่อยๆ ซ่อมกันไปในระดับปฏิบัติการ ให้จบงานในระดับช่าง มีปัญหาก็ให้แก้กันหน้างาน จนกลายเป็นเข้าออกพื้นที่ 7 รอบ
การใช้ Digital Twin เพื่อบริหารอาคารในโลกยุค New Normal จะช่วยเพิ่ม Collaboration จากการดูข้อมูลชุดเดียว ช่วยให้การทำงานในรูปแบบ Permanent Remote Work เป็นไปอย่างมีปประสิทธิภาพ ลดความขัดแย้งของการสื่อสาร เมื่อเข้าใจตรงกันก็จะส่งผลให้ลดจำนวนครั้งของการทำงานลดลง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไปโดยปริยาย
ณ วันนี้อาคารหลายๆ แห่งที่สร้างขึ้นใหม่ ผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำของประเทศไทย ใช้เทคโนโลยี Digital Twin ในงานก่อสร้างอยู่แล้ว หากท่านเป็นผู้ว่าจ้างหรือเป็นเจ้าของอาคาร ท่านอาจมี Digital Twin ในมืออยู่แล้ว แค่รู้จักนำมาทวิสต์ปรับใช้ในงานบริหารอาคารสินทรัพย์ ก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มาสร้างความปลอดภัยต่อการแพร่ระบาดของโรคได้เช่นกัน