การใช้เครื่องมือทางกฎหมายของจีนและสหรัฐฯ จุดเริ่มต้นของการแข่งขันเป็นผู้นำโลกในยุคใหม่
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีไบเดนในเดือนมกราคม 2564 ที่เคยเชื่อว่าจะบรรเทาลงจากยุคทรัมป์นั้นกลับไม่เป็นไปตามนั้น ในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือน ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศได้ยกระดับไปอีกขั้น จากระดับทวิภาคีเป็นระดับพหุภาคี โดยสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการหาพันธมิตรในการกดดันจีน ผ่านการรวมกลุ่มชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง G7 และกลุ่มพันธมิตรทางทหารอย่างองค์การ NATO ในขณะที่ประเด็นความขัดแย้งก็ได้ยกระดับความรุนแรงในทุกมิติ ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน ความมั่นคงทางทหาร เทคโนโลยี และด้านสิทธิมนุษยชน
นับตั้งแต่การเข้าร่วม WTO ของจีนในปี 2544 การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็เร่งตัวอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโตถึง 11 เท่า แตะระดับ 14.72 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ในปี 2564 ผลจากการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ต่อปี ส่งผลให้ช่องว่างทางขนาดเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯลดลง ในขณะที่อำนาจต่อรองของจีนกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โครงการ Belt and Road Initiative เป็นอีกความพยายามของจีนที่จะเพิ่มบทบาทของตนในเวทีโลกมากขึ้น สร้างความกังวลให้สหรัฐฯ ผู้ซึ่งเป็นผู้คุมกฎและระเบียบโลกไว้ เมื่อมีอำนาจใหม่ผงาดขึ้นมาแข่งขันและเป็นคู่แข่งที่มีอุดมการณ์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
การตอบโต้ในยุคของประธานาธิบดีไบเดนไม่ใช่แค่การแข่งขันด้านอาวุธยุทโธปกรณ์การทหารเท่านั้น แต่เป็นการแข่งขันในทุกมิติ และเปลี่ยนจากการต่อสู้ในรูปแบบเดิมที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการต่อสู่บนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่วางกลยุทธ์ในสมรภูมิการแข่งขันเพื่อช่วงชิงตำแหน่งผู้นำโลกยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญสูงสุด โดยในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือนตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งของไบเดน
สหรัฐฯ ได้มีการผ่านร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับ โดยมีเป้าหมายเพื่อกีดกันและแข่งขันกับจีน โดยสามารถแยกวัตถุประสงค์ได้ดังนี้
1) กฎหมายเพื่อกีดกันจีนในการนำเข้าและส่งออกสินค้าและเทคโนโลยี ต่อเนื่องจากยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีการตั้งกำแพงทางภาษีเพื่อลดการขาดดุลทางการค้าขอองสหรัฐฯ และการกีดกันการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากจีน ด้วยเหตุผลทาง Cyber Security รวมถึงการกีดกันจีนไม่ให้ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์อย่าง Semiconductorผ่านการบรรจุบริษัทเหล่านี้ในบัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์ หรือ “Entity List” ซึ่งกำหนดให้บริษัทและบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ ต้องขอใบอนุญาติก่อนดำเนินการซื้อขายกับบริษัทเหล่านี้ ทั้งนี้ ยุคของประธานาธิบดีไบเดนยังคงใช้เครื่องมือนี้ในการกีดกันจีนอย่างต่อเนื่อง โดยขยายขอบเขตและเหตุผลในการเพิ่มรายชื่อ จากเรื่องความมั่นคงทางด้านการทหารและเทคโนโลยี ครอบคลุมประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยล่าสุดสหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามนำเข้าวัสดุโซล่าร์เซลล์จากบริษัทจีน 5 แห่ง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยให้สาเหตุบนพื้นฐานการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง
2) กฎหมายเพื่อกีดกันการระดมทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2564 ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี ห้ามให้บริษัทและบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ ลงทุนในบริษัทจีนทั้งหมด 59 บริษัท ที่ถูกบรรจุลงในรายชื่อ “Non-SDN Chinese Military-Industrial Complex Companies List (NS-CMIC)” โดยเป็นการปรับแก้เพิ่มและปรับบางรายชื่อออกจาก Executive Order:13959 สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ จากเดิมที่มี 31 บริษัท ซึ่งนักลงทุนสหรัฐฯ มีเวลา 1 ปี ในการถอนการลงทุนเต็มรูปแบบ โดยบริษัทที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว สหรัฐฯ ได้ระบุว่ามีการดำเนินธุรกิจที่อาจสร้างความกังวลด้านประเด็นความมั่นคง หรือเป็นบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพจีน หรือมีบทบาทในอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฮเทคที่อาจเกี่ยวข้องกับการสอดแนม (Surveillance)
3) กฎหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามและถือเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดในสมรภูมิการแข่งขันในครั้งนี้ โดยอาจถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่หันมาเดิมเกมในรูปแบบใหม่ โดยการเพิ่มบทบาทของภาครัฐในการร่วมกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติ (State-led Capitalism) ต่างจากอุดมการณ์เดิมที่เชื่อมั่นในกลไกตลาด (Free Market) ล่าสุดในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา วุฒิสภาของสหรัฐฯลงมติด้วยคะแนนเสียง 68-32 ผ่านร่างกฎหมาย “Innovation and Competition Act of 2021” มูลค่าเม็ดเงินกว่า 250,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ครอบคลุมการเบิกจ่ายระยะเวลา 5 ปี โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีความยาวกว่า 2,400 หน้า นับเป็นกฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้เม็ดเงินมหาศาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ แบ่งการจัดสรรงบออกเป็น การส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (52,000 ล้านเหรียญฯ) การส่งเสริมอุตสาหกรรมนวัตกรรมปฏิวัติ (อาทิ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ไบโอเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์) ผ่าน National Science Foundation (81,000 ล้านเหรียญฯ) การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานพลังงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ (17,000 ล้านเหรียญฯ) การส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศ (10,000 ล้านเหรียญฯ)
ความน่าสนใจของการแข่งขันครั้งนี้ คือการใช้เครื่องมือทางกฎหมายของสหรัฐฯ และจีนมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก หากแต่ต่างกันในห้วงของเวลาการนำมาใช้ สหรัฐฯ เริ่มเรียนรู้เครื่องมือในการกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (ผ่าน Innovation and Competition Act) ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนทำมานานแล้วผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ที่เริ่มมีการกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยี บรรจุอย่างชัดเจนมาตั้งแต่แผนฯ ฉบับที่ 12 (2554-2558) เรื่อยมาจนถึงแผนฯ ฉบับที่ 14 (2564 – 2568) ที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมอย่างควอนตัมคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเซมิคอนดักเตอร์
ในขณะที่ จีนเริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือในการกีดกันต่างๆ เช่นที่สหรัฐฯ ใช้มาโดยตลอด โดยล่าสุด ในวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ทางการจีนได้ผ่านกฎหมาย ““Anti-Foreign Sanctions Law” เพื่อเพิ่มอำนาจทางกฎหมายของจีนในการตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ของชาติตะวันตก โดยทางการจีนสามารถกำหนดให้บุคคลหรือองค์กรต่างชาติบรรจุลงใน Counter-sanction list หากพบว่ามีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการมีส่วนร่วมกำหนดหรือดำเนินการ ตามมาตรการคว่ำบาตรของต่างชาติที่เลือกปฏิบัติต่อพลเมืองหรือองค์กรของจีน โดยทางการจีนสามารถออกมาตรการคว่ำบาตรกลับ ด้วยการปฏิเสธการเข้าประเทศจีน การเนรเทศออกจากประเทศ การห้ามทำธุรกรรมกับบุคคลหรือองค์สัญชาติจีน รวมถึงการอายัติทรัพย์สินต่างๆ ที่อยู่ในประเทศจีนได้ นอกจากนั้น กฎหมายยังอนุญาติให้พลเมืองจีนและองค์กรที่เสียประโยชน์ สามารถฟ้องร้องเรียกค้าเสียหายชดเชยต่อผู้ที่อยู่ในมาตรการคว่ำบาตรได้ ซึ่งการตอบโต้ของจีนในลักษณะนี้ไม่เคยมีมาก่อน แต่จากความพร้อมทั้งในด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี รวมถึงการทหารของจีนทำให้จีนมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และเลือกใช้เครื่องมือนี้ในห้วงเวลาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยใช้การวางยุทธศาสตร์ชาติผ่านกฎหมาย เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแข่งขันเป็นผู้นำโลกในยุคใหม่ และเป็นการพลิกโฉมการต่อสู้ในรูปแบบเดิมที่มีลักษณะครั้งคราวเป็นการต่อสู่บนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว โดยหนทางในการแข่งขันครั้งนี้ยังอีกยาวไกลและยากจะคาดเดาถึงผลลัพธ์ ซึ่งนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกรวมถึงไทยคงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านนี้เป็นสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น ไทยเองต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์ของทั้งสองขั้วมหาอำนาจ เพราะทั้งสองมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับไทยสูงทั้งด้านเศรษฐกิจและการทูต โดยเฉพาะไทยเองซึ่งตั้งอยู่ในอาเซียนซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญท่ามกลางความขัดแย้งนี้ คงต้องดำเนินนโยบายที่รักษาสมดุลจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย