บทเรียนสุดคลาสสิคจากการไม่มี-ไม่อัปเดตแบบก่อสร้าง กับการบริหาร “แบบ” เมื่อการก่อสร้างจบลง
โดย ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ นักวิชาการอิสระ virulrak@gmail.com
- อุปนายกสมาคม BIM แห่งประเทศไทย
- ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี Digital Twin Thailand
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสเซ็ท แอคทิเวเตอร์ (Asset Activator)
มีประโยคทรงพลังและน่าสนใจ อยู่สองประโยคที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองนึกตาม
ประโยคที่ 1 “คุณเปลี่ยนโลกไม่ได้หรอก สิ่งที่คุณควรเปลี่ยนคือตัวเอง”
ประโยคที่ 2 “ถ้าคุณอยากเปลี่ยนโลก จงเริ่มที่ตัวเองก่อน”
ใจความหลักของประโยคแรก คือ “การปรับใจ” เมื่อเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อให้ไปต่อได้
ใจความหลักของประโยคที่สอง คือ ให้เรามี “ศรัทธา” ที่จะไม่ยอมแพ้ ไม่เลิกล้มภารกิจ วันนี้ไม่ได้ วันหน้ามันต้องได้
โลกมนุษย์มีปรัชญาสองข้อให้เราสามารถใช้ไปพร้อมๆ กัน ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันในชีวิต ถามว่าเราสามารถใช้สองปรัชญานี้ในเรื่องเดียวกันได้ไหม?
จริงๆ คือ “ได้” โดยแยกมุมมองว่า ปัจจุบันเรา “ปรับใจ” เพื่อให้ทำงานได้ ไม่ตึงเครียด ไม่ท้อแท้ แต่เราต้องเก็บ “ศรัทธา” เอาไว้ ไม่ละทิ้งความเชื่อ มีความหวัง ทุกอย่างต้องดีขึ้น ต้องพัฒนาได้ เมื่อถึงเวลาของมัน
แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้น คือ เรามักจะมาครึ่งทางคือ “ปรับใจ” แล้วก็ตามด้วย “ทำใจ” และเลิก “ศรัทธา” ปัญหาในโลกของการทำงานหลายอย่าง จึงเป็นกลายปัญหา “ยอมรับ” ไปโดยปริยาย ยอมรับเข้าไปในระบบว่ามันต้องเสีย มันต้องเจ๊ง แบบนี้ล่ะ เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก
เมื่อเราหมดศรัทธา เรื่องที่ควร (จะเสีย) ‘ชั่วคราว’ ก็กลายเป็น (เสีย) ‘ถาวร’ ไป โดยที่มักไม่ได้มองว่า โลกภายนอกมีการเปลี่ยนแปลง มีเครื่องมือ มีเทคโนโลยี มีนวัตกรรม แม้กระทั่งสินค้าและบริการมาแก้ปัญหานั้นๆ มาได้ “ตั้งนานแล้ว” ในราคาถูกลงเรื่อยๆ เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้เงยหน้าขึ้นมาดู ทำให้ “ไม่รู้” เพราะไม่สนใจที่จะเปิดรับเรื่องใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต
มีกี่ครั้งที่ ท่านไปฟังสัมมนา หรือ งานแสดงสินค้า หรือมีคนมานำเสนอ สินค้าหรือบริการให้ท่านเห็น และ ท่านตกใจ พูดกับตัวเองว่า “เดี๋ยวนี้มันทำกันได้แบบนี้แล้วหรือ” และคนขายยิ้ม ตอบกลับมาว่า เทคโนโลยีนี้ มีมา 10 ปีแล้วครับผม บริษัทผมตั้งมา 3 ปีแล้ว
คำว่า ‘นวัตกรรม’ ในความเห็นของผม จึงเป็นคำที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับวัตถุหรือเทคโนโลยี แต่เป็นความเชื่อมโยงกับมายต์เซ็ตของ “การตื่นรู้” ของคนที่ได้สัมผัส เพราะ ‘นวัตกรรม’ ณ วินาทีนั้น คือ สิ่งที่ปลุก “ศรัทธา” ของเขา ให้กลับมาอีกครั้ง
ปัญหาที่เรา “ปรับใจ” และ “ทำใจ” รวมถึงคนทำงานส่วนใหญ่หมด "ศรัทธา" ไปด้วยแล้ว ก็เกิดขึ้นในโลกของ การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Property Management) ด้วยเช่นกัน ปัญหาสาหัสที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ ปัญหา As-Built Drawings (แบบที่เขียนขึ้นหลังจากการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว) ซึ่งทุกวันนี้ปัญหาที่เกิดจากการใช้ As-Built สามารถหาทางออกได้แล้ว ด้วยเทคโนโลยี Digital Twin
แต่ ณ ที่นี่ผมขอปูพื้นการใช้ As-Built ในเชิงการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ก่อน
What is As-Built Drawings
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ‘แบบตามสร้าง’ ไม่ใช่ภาษาวิชาการจากโลกสถาปัตยกรรมหรือโลกวิศวกรรมใดๆ คนส่วนใหญ่ในวงการจะเรียกทับศัพท์ ย่อว่า “อัสบิลท์” (As-Built) เป็นที่เข้าใจกันว่าคือแบบที่ “ควรจะ” เหมือนของจริงที่สร้างเสร็จ (ตามสร้างจริง)
ผู้ที่ผลิต “As-Built” คือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และ As-Built นี้ ถือเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องมีการส่งมอบคู่กับตัวอาคารจริงที่สร้างแล้วเสร็จ เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการตรวจสอบอาคาร ด้านความปลอดภัย ตรวจสอบว่า ผู้รับเหมาสร้างตามที่ปรากฎในแบบจริงหรือไม่?
แบบ As-Built นี้ เมื่อมีการส่งมอบอาคารเสร็จสิ้นจะกลายเป็นเอกสารสำคัญมากต่อ ฝ่ายบริหารอาคาร หรือ Facility Manager ในการนำไปใช้บริหารอาคารด้านการบำรุงรักษาเครื่องจักร การทำความสะอาด การรักษาความปลอดภัย การวางแผนฉุกเฉินต่างๆ รวมถึงการจัดอีเวนต์ชั่วคราวภายในอาคาร ไปจนถึงหากมีกรณีตกแต่งภายในและงานก่อสร้างเพิ่มเติม แบบ As-Built ก็จะเป็น “ฐานข้อมูลเริ่มต้น” ที่สำคัญมากในการทำงานต่อไปกับมัณฑนากรหรือผู้รับเหมาก่อสร้างตกแต่งภายใน
สิ่งที่ต้องกล่าวให้ชัดกับท่านผู้อ่าน คือ As-Built นี้ไม่ได้มีแต่ตัวแบบที่เป็นเส้นสาย หรือ ภาพวาดทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรมเท่านั้น แต่ยังมีเอกสารประกอบอื่นๆ เช่น รายการประกอบแบบ คู่มือการใช้งานของเครื่องจักร เอกสารรับประกันวัสดุต่างๆ มากันเป็นกองเพนิน พวกนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ As-Built Document ทั้งสิ้น เอกสารเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญในการยืนยันการมีสินทรัพย์ต่างๆ ขององค์กร
ดังนั้น หากมองในภาพกว้างมันคือ “Data” ที่จะต้องมีการนำไปบริหารต่อ ดังนั้น Data นี้ จึงเป็น ‘สินทรัพย์’ ชนิดหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับสถานะทางการเงินขององค์กร ต่อจากนี้ไป จะขอเรียกว่า As-Built Document เพื่อให้ภาพสมบูรณ์ขึ้น
ปัญหาของ As-Built Document
จากที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าแบบ As-Built Document มีความสำคัญมากต่อการดำเนินงานต่างๆ “หลัง” จากที่สร้างอาคารเสร็จแล้ว เทียบได้กับเป็น “แผนที่” ของการเดินทางไปสู่อนาคตของการบริหารสินทรัพย์อาคารนั้น หรือถ้าเปรียบป็นงานด้านบัญชี As-Built Document นี้คือ ‘งบดุล’ ที่มีการส่งต่อระหว่างผู้จัดการ (จากงานก่อสร้าง ถึง งานบริหารอาคาร)
แล้วแต่ปัญหาใหญ่ของ As-Built Document ที่คน “ปรับใจ” และ “ทำใจ” ไปแล้ว คืออะไร?
ปัญหาแรก : “ไม่มี As-Built Document”
จะเป็นไปได้อย่างไร? ในเมื่อเป็นเอกสารสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของการส่งงานจากผู้รับเหมาก่อสร้างให้เจ้าของอาคาร ซึ่งต้องเรียนว่า “เคยมี” แต่เมื่อเวลาผ่านไป 5-10-15 ปี มันหายไปไหนก็ไม่รู้ ยิ่งถ้าเป็นอาคารที่ไม่ค่อยมีการต่อเติมหรืออาคารไม่มีระบบจัดการที่ดี (ประเภทอยากต่อเติมอะไรก็ทำเลย ไม่อิงแบบใดๆ ทั้งสิ้น) หรือมีมืออาชีพมาเป็นผู้จัดการอาคาร As-Built Document ก็จะกลายเป็น “เอกสารประเภทสาบสูญ” นั่นเอง
ปัญหาที่สอง : “As-Built Document ไม่ตรงกับความเป็นจริง”
ถ้าตัดคนที่มีปัญหาเรื่อง ไม่มี As-Built Document ออกไป นับเฉพาะอาคารที่มีแบบเอกสาร ในฐานะคนที่อยู่ในวงการมานาน บอกได้เลยว่า อาคารที่มีเอกสารไม่ตรงกับอาคารสร้างจริง คือ 99%
ไม่ได้ล้อเล่นครับ ซึ่ง 99% คือ อย่างน้อย ในทางปฏิบัติจริงอาจจะมากกว่านั้น!!!
อ่านมาถึงตรงนี้อาจมีท่านผู้อ่านบางท่านบอกว่า ไม่มีใครมี As-Built Document ที่ถูกต้องเลยหรือ? ผมจะบอกว่า “มีครับ” แต่คนเหล่านั้นมีจำนวนน้อยมากๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาคารที่มีแบบถูกต้องมักอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้
(1) ผู้รับเหมาก่อสร้างมีความรับผิดชอบสูงมาก และทำงานระดับพรีเมี่ยม
(2) อาคารนั้นเพิ่งสร้างเสร็จไม่ถึงเดือน (แบบ As-Built Document จึงยังถูกต้องสมบูรณ์ไง)
ณ วันนี้ (กรกฎาคม 2564) ในวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่ไซต์ก่อสร้างปิดกันอยู่ ผมท้าเลยว่า แบบ As-Built ในประเทศไทยที่ถูกต้องตรงเป๊ะ คือ 0 ราย
แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมคือ คำว่า “ไม่ตรง” ไม่ใช่ Binary ว่า ไม่ตรงก็คือ Fail ใช้ไม่ได้ – ไม่ใช่อย่างนั้นครับ ความไม่ตรงที่ว่านี้ เหมือน Gray Zone ถ้าเปรียบเทียวว่า ‘สีขาวคือตรงเป๊ะ’ และ ‘สีดำคือเละตุ้มเป๊ะ’ อาคารต่างๆ ก็จะมีเฉดสีเทาเข้มอ่อนแตกต่างกันไป ประหนึ่ง Fifty shades of grey
ความเสียหายอันเกิดจาก As-Built Document ไม่ตรงตามความเป็นจริง
บางคนอาจคิดว่า “ในเมื่อทุกคนมีปัญหาเหมือนกันหมด แล้วจะเรียกว่ามันเป็นปัญหาได้ยังไง” หรือ “ก็แบบไม่ตรงก็ยังทำงานได้ทุกคนอ่ะ กิจการก็เจริญก้าวหน้าใหญ่โต”
ถ้าคิดแบบนี้ต้องลองถามง่ายๆ ดูว่า ในยุคโควิดถ้าประชาชนคนไทยติดเชื้อโควิด-19 ทุกคน เราจะบอกไหม? ว่าปัญหาโควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ซึ่งก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะคนที่ติดโควิด-19 ก็เหมือนกับคนที่แบบไม่ตรง บางคนไม่มีอาการ บางคนอาการเบา บางคนก็อาการหนักสาหัส เข้า ICU
แต่ประเด็น As-Built Document ไม่ตรงกับความจริง ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นปัญหาที่มาจากต้นเหตุเดียวกัน ในเชิงระบบการทำงาน ที่จะกล่าวต่อไป
ลองวิเคราะห์ก่อนว่า ในกรณีที่ อาคารไม่มี As-Built Document (ถือว่าดำสนิทเลย) หรือไม่ตรงอย่างมาก (เทาเข้มๆ) ส่งผลเสียหายอะไรบ้าง?
(1) คนตาย-บาดเจ็บ : หลายคนอาจตกใจว่า เอกสารไม่ตรง ทำให้คนตายเลย? อาจไม่ได้เป็นเหตุโดยตรงขนาดนั้น แต่เป็นเหตุทางอ้อม
กรณีที่เกิดขึ้นเป็นประจำและซ้ำซากที่สุด คือ กรณีอาคารเกิดเพลิงไหม้ และ เจ้าหน้าที่ผจญเพลิงถามหาแบบอาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ As-Built Drawings แต่ ‘ไม่มี’ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ต้องเดากันเอง จนไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ติดเพิลงไหม้ได้ทันการณ์ เป็นต้น
หรือใน กรณีเกิดเหตุก่อการร้ายในอาคารที่มีความซับซ้อน เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารต้องการแบบที่ ถูกต้องของอาคาร ปรากฎว่าไม่มี เจ้าหน้าที่ก็ต้องเสี่ยงกันเอง หรือไม่ก็อาศัยการเดาจากคนที่คุ้นเคยกับอาคารช่วยนำทาง เป็นต้น
บางครั้งอาจไม่ได้เป็นเรื่องของเหตุร้าย แต่อาจเป็นการพยายามซ่อมหรือเปิดงานระบบที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ท่อแก๊ส, ไฟฟ้า แต่เพราะไม่มีแบบที่อัปเดตถูกต้องหรือไม่ได้บันทึกไว้ ทำให้เปิดผิดจุดจนเกิดการระเบิดขึ้น ซึ่งเป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แถมเกิดจาก ‘เหตุ’ ที่สามารถแก้ไขได้อีกด้วย
(2) ความเสียหายทางการเงิน : ในประเด็นนี้จะขอสงวนไว้ในแง่ของค่าใช้จ่ายโดยตรง หรือ เวลาที่ต้องเสียไป โดยไม่มีความเสียหายทางชีวิตหรือร่างกาย
ในกรณีเหตุการณ์เพลิงไหม้ หากไม่มีคนอยู่ภายใน แต่เป็นความเสียหาย เช่น โรงงานที่มีสารเคมีเป็นเชื้อเพลิง และคนดับเพลิงต้องการที่จะปิดวาล์วที่ปล่อยสารเคมีออกมา ซึ่งการที่มีแบบไม่ตรง หรือไม่มีแบบ คำถามสำคัญ คือ วาล์วอยู่ไหน
หรือกรณีการทำงานทั่วไป เช่น งานจัดอีเวนต์มีการศึกษาสถานที่มาเป็นที่เรียบร้อย ออกแบบเวทีต่างๆ มา แต่พอมาถึงหน้างาน รูปร่างตำแหน่งของห้องและประตู ไม่ตรงกับเวทีที่ออกแบบมา กลายเป็นว่าต้องออกแบบ-คิดงานกันใหม่
แม้แต่ การซ่อมอาคารหรือการต่อเติมอาคาร หากข้อมูลไม่ครบและต้องดำเนินการโดยที่ไม่มีแบบเลย บางกรณีอาจร้ายแรงถึงขนาดต้อง “สำรวจ” และ “ทำแบบกันใหม่” เหมือนโบราณสถานที่ต้องส่องกล้อง วัดระยะกัน เพื่อให้ออกมาเป็นแบบก่อสร้างกันเลยทีเดียว ก็สำรวจสถานที่ใหม่เหล่านี้ ก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่งอกขึ้นมาใหม่
(3) ความขัดแย้ง : การทำงานใดๆ ในโลก ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาด้วยเหตุหลายๆ ประการ แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องเริ่มต้นที่ “ข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติ” ไม่มีฝ่ายไหนโต้แย้งเรื่องนี้แล้ว
ในกรณีที่ไม่มีแบบ อาจเป็นต้นเหตุที่นำพาไปสู่ความขัดแย้ง เมื่อฝ่ายหนึ่งบอกว่าได้ แต่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่ได้ ก็ต้องมาท้าทายกัน พอฝ่ายหนึ่งแพ้ก็ไม่ใช่ว่าอีกฝ่ายจะพอใจ เพราะไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องมาชี้ขาด
เช่นเดียวกับกรณีข้อพิพาททางกฎหมาย เอกสารที่กำกวมและไม่ถูกต้อง จะถูกโยนทิ้งไป เป็นหลักฐานที่ใช้ไม่ได้ กลายเป็นช่องว่างให้อีกฝ่ายเรียกร้องจากเราในทันที
(4) คอร์รัปชั่น : การใดๆ ในโลกที่ ไม่ชัดเจน กำกวม หรือไม่มีหลักฐาน บันทึกปรากฎ คือ ฐานรากแห่งการฉ้อโกง เช่นเดียวกับสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ฝ้า ใต้ดิน หลังผนัง หากไม่มีการบันทึกว่า “สิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร” เมื่อมาพบว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นจริง” ก็จะสร้างปัญหา เนื่องจากไม่รู้ว่าที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร เพราะไม่มีสิ่งใดอ้างอิง เช่น สเปคของท่อน้ำแตกที่อยู่ใต้ฝ้าไม่ควรเป็นเช่นนี้ แล้วในความเป็นจริงควรเป็นอย่างไร? ก็สรุปไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลอ้างอิง
ถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะพอเห็นแล้วว่า การที่ไม่มี As-Built Document หรือ มีไม่ตรงกับความเป็นจริงนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายได้มากเพียงใด และน่าตกใจหรือไม่ว่า เราสามารถ "ปรับใจ" และ "ทำใจ" กับปัญหาเหล่านี้ไป เรียบร้อย ได้ - เพราะอะไร - เรื่องของเรื่องมันก็มีสาเหตุอยู่ และ จะขอเฉลยให้ท่านทราบ ในบทความต่อไป พร้อมกับโซลูชั่นที่จะทำให้ท่านได้ความ “ศรัทธา” กลับมาอีกครั้ง