"กรมการแพทย์" ย้ำ จะไม่ให้ผลตรวจ RT-PCR เป็นปัญหาต่อการรับรักษาคนไข้ ถ้ามีเตียง แต่สถานการณ์เตียงในรพ. ตอนนี้ในกลุ่มสีเหลืองและสีแดงวิกฤตมาก เต็มอัตรากำลัง

นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า กรณีผู้ติดเชื้อหากตรวจแล้วผลเป็นบวกจากชุดตรวจคัดกรองโควิดด้วยตัวเอง  หรือ แอนติเจนเทสคิด ว่า ในวันนี้จะแนะนำให้แยกกักรักษาที่บ้าน ขั้นตอนคือโทรไปที่ 1330 หรือ ตอนนี้สปสช.ทราบดีว่าตอนนี้คู่สาย อาจไม่พอ เนื่องจากประชาชนตรวจเยอะ ทางสปสช. แนะนำ ให้เข้าไปที่เว็บไซต์ สปสช. ก็จะมี QR Code กรอกข้อมูลทิ้งไว้และเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับ เพื่อ เป็นการขึ้นทะเบียนไว้ในระบบแยกกักตัวรักษาที่บ้าน หากอาการไม่มาก

ถ้าเป็นกระบวนการทำเองในรูปแบบดังกล่าว สปสช. จะเป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้ จับคู่กับ คลินิกชุมชนอบอุ่นหรือศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การดูแลพี่น้องประชาชน แบบแยกกักตัวที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก

หลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว  หลักการต่อไป คือ จะประเมินอาการ มีการโทรติดต่อ หลังจากนั้นก็จะมีการส่งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดไข้ เครื่องวัดค่าออกซิเจนในกระแสเลือด เพื่อติดตามอาการตัวเองที่บ้าน รวมถึงจะมีแพทย์พยาบาลโทรไปสอบถามอาการวันละ 2 รอบเพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่บ้านเป็นอย่างไร รวมถึงจะมีการจัดส่งอาหาร 3 มื้อไปที่บ้าน เพราะการแยกกักตัวที่บ้านตามหลักการคือไม่อยากให้ออกจากห้องพัก

ส่วนการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะมีการพิจารณาจากคนไข้ที่เข้าเกณฑ์ คือหากเริ่มมีอาการ เช่น มีไข้ ไอ แน่นหน้าอก หรือมีปัจจัยเสี่ยง มีโรคร่วม เช่น มีโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองเดิม โรคอ้วน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ถึงแม้จะไม่มีอาการก็สามารถให้ยาได้เลย   หลักการตอนนี้ คือรีบให้ยาทันที โดยยาฟาวิพิราเวียร์ จะได้ผลคือจะต้องรีบให้ภายใน 3-4 ชั่วโมง หลังจากมีอาการ แต่หากไม่มีอาการไม่มีโรคร่วมอย่างไม่ให้ยาดังกล่าว ส่วนยาฟ้าทะลายโจรคำแนะนำ ตอนนี้ คือให้ในผู้ที่ไม่มีอาการโดยจะไม่ให้ยาพร้อมกันกับยาฟาวิพิราเวียร์

ส่วนกรณีต้องตรวจผลโควิดซ้ำ หลังจากตรวจด้วยชุดคัดกรองโควิด  ด้วยตัวเองแล้ว นายแพทย์ สมศักดิ์ ระบุว่า ตามหลักวิทยาศาสตร์ ถ้ามีอัตราของผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนใหญ่ผลบวกจะเป็นบวกจริง  ส่วนบวกปลอมจะน้อยมาก  แต่ขณะนี้ก็มีบางส่วนที่มีผลบวกปลอมประมาณร้อยละ3- ร้อยละ5   ส่วนร้อยละ 95 ขึ้นไป เป็นบวกจริง ก็ไม่ต้องตรวจซ้ำ ถือว่าการแยกกักตัวรักษาที่บ้านทำได้เลย แต่ถ้าผลเป็นลบ แนะนำว่า หากเป็นไปได้ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรืออยู่ในชุมชนที่เสี่ยง อีก 2-3 วันให้ตรวจซ้ำ

"ตอนนี้เตียงสีแดงไม่มีเลย ในส่วนของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ อย่าง โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตน์ฯ เตียงสีแดงเต็มตลอด ส่วนห้องฉุกเฉินจะมีคนไข้ที่เป็นสีแดงรออยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังเข้ารักษาไม่ได้

สภาพโรงพยาบาลส่วนใหญ่ตอนนี้ ไอซียู  เป็น ไอซียู รวม จะไม่สามารถนำผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อ มารวมกับผู้ป่วยติดเชื้อได้ เพราะจะทำให้คนที่ไม่ติดโควิด เป็นโควิดได้ ก็เลยหาทางว่า หากจะเข้าโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้องไอซียูที่นอนเรียงกัน จะต้องทำRT-PCR  เราจะไม่ให้รอผล ถ้าหากมีเตียง   ซึ่งได้มีการคุยกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขอให้ผู้ป่วยแอ็ดมิทเข้าไปก่อน และทำRT-PCRไปพร้อมๆกันเช่น ถ้าเป็นไปได้ให้แยกผู้ป่วยเตียงนี้ ให้ห่างจากผู้ป่วยเตียงอื่นๆ เพื่อป้องกัน หากผู้ป่วยรายนั้นไม่ได้ติดเชื้อ และผลRT-PCR ออกมาเป็นลบ จะได้แยกออกมาจากวออร์ดโควิด"

โดยหลักการต่อไปนี้ จะไม่ให้ผลตรวจ RT-PCR เป็นปัญหาต่อการแอดมิท ถ้ามีเตียง  ซึ่งตอนนี้ผลตรวจ RT-PCR  อย่างเร็วคือ 2-3 ชั่วโมงได้มีการเร่งในส่วนนี้ไปแล้ว ในกรณีนี้ รวมถึงคนไข้ที่ไม่สามารถแยกกักตัวรักษาที่บ้านได้ แล้วต้องไป ศูยน์พักคอยรักษาผู้ติดเชื้อชุมชน แต่ขอให้แยกโซนและทำ RT-PCR  ไปพร้อมๆกัน

            สำหรับกรณีที่ไม่สามารถแยกกักตัวรักษาที่บ้านได้  หลักการ คือไม่สามารถที่จะแยกตัวเองออกจากคนในบ้านได้ เช่น แยกห้องนอนไม่ได้ทั้งบ้านอยู่รวมกัน  แต่หากสามารถแยกห้องในการกักตัวรักษาที่บ้านได้ ห้องน้ำสามารถใช้รวมได้  แต่ขอให้ใช้เป็นคนสุดท้าย และขอให้ทำความสะอาด พยายามแยกทุกอย่าง ห้ามกินข้าวด้วยกัน แยกของใช้ ขยะแยก

           ทั้งนี้ ศูนย์พักคอยในชุมชน ไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม แต่สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ ความสามารถของศูนย์พักคอย จะไม่เท่ากับโรงพยาบาลสนาม  เนื่องจากเราเน้นว่าอยากให้เป็นลักษณะชุมชนดูแลกันเองแล้วก็มีทางผู้อำนวยการเขตกรุงเทพมหานครเป็นผู้บัญชาการหลัก ที่จะดูแลศูนย์พักคอยเหล่านี้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาจะมีโรงพยาบาล สำรองเอาไว้

ต้องยอมรับว่าการระบาดของผู้ติดเชื้อไปเกินกว่าจำนวนเตียงที่มีแต่ตอนนี้ ได้มีวิธีการ เช่น เอาผู้ป่วยบางส่วนไปยังโรงพยาบาลบุษราคัม ที่ในแต่ละวันจะมีเตียงว่าง / ส่วนกองทัพบก ก็มีการจัดตั้งคล้ายกับโรงพยาบาลสนาม โดยจะมีการระดมแพทย์จากโรงพยาบาลค่ายทั่วประเทศมาช่วย  เนื่องจากกรุงเทพฯตอนนี้ทางโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์  โรงพยาบาลสังกัดกทม. โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ อัตรากำลังเต็มหมดแล้วหากได้แพทย์จากกองทัพฯมาช่วยแล้วทำเป็นลักษณะของศูนย์แรกรับ และส่งต่อเหมือนที่นิมิบุตร ก็จะมีการรับคนไข้เข้ามาอยู่ชั่วคราว และเมื่อโรงพยาบาลบุษราคัมหรือที่ไหนว่างก็จะมีการหมุนเวียนคนไข้ต่อไป.

 

ข้อมูลกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเตียงกทม. และปริมณฑล วิกฤต เต็มเกือบทั้งหมด  ข้อมูลวันที่ 24 ก.ค.2564

ผู้ป่วยสีแดง

ไอซียูความดันลบ เตียงทั้งหมด 297 เตียง ครองเตียง 336 เตียง เตียงว่าง -39 เตียง (ไม่มีเตียงแล้ว)

ห้องดัดแปลงความดันลบ เตียงทั้งหมด 570 เตียง ครองเตียง 835 เตียงว่าง -256 เตียง (ไม่มีเตียงแล้ว)

ห้องไอซียูรวม เตียงทั้งหมด 421 เตียง ครองเตียง 439 เตียง  เตียงว่าง -18 เตียง (ไม่มีเตียงแล้ว)

ผู้ป่วยสีเหลือง

ห้องแยกโรค เตียงทั้งหมด 4,358 เตียง ครองเตียง 4,698 เตียง เตียงว่าง –340 เตียง (ไม่มีเตียงแล้ว)

ห้องสามัญ เตียงทั้งหมด 11,652 เตียง ครองเตรียง 12,959 เตียง เตียงว่าง -1,307 เตียง (ไม่มีเตียงแล้ว)

 

ผู้ป่วยสีเขียว

ฮอลพิเทล เตียงทั้งหมด 16,643 เตียง ครองเตียง 15,622 เตียง  เตียงว่าง 1,021 เตียง

เตียงสนาม เตียงทั้งหมด 3,036 เตียง ครองเตียง 2,779 เตียง เตียงว่าง 257 เตียง

 

ข้อมูลล่าสุด วันที่ 27 กค 64 ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึงการตรวจด้วยชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเอง หรือ แอนติเจนเทสคิด หรือ ATK  ว่า หากได้ผลบวกแล้ว ให้เรียกว่า เป็นผู้ที่น่าจะติดเชื้อโควิด 19 โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 95 เป็นผลบวกจริง แต่จะมีร้อยละ 3-5 ที่พบผลบวกลวงได้  หากเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแล้วตรวจได้ผลลบในครั้งแรก อาจจะต้องมีการตรวจซ้ำ

ถ้าให้ผลบวก จากชุดตรวจคัดกรองโควิดด้วยตัวเอง เข้าระบบการรักษาที่บ้าน หรือ home isolation ได้เลย ไม่ต้องตรวจโควิดซ้ำด้วยวิธีRT-PCR  หากสามารถแยกกักคนเดียวได้ที่บ้าน

แต่หากไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้  ให้เข้าสู่ “ศูนย์พักคอยดูแลผู้ติดเชื้อชุมชน” ที่มีกว่า 20 แห่งในกรุงเทพฯ  หลักการคือให้ผู้ป่วย เข้าไปก่อน โดยให้ตรวจ RT-PCR คู่ขนานไป  โดยให้แบ่งเป็น2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ตรวจแอนติเจนเทสคิด แล้วผลบวก มีผลยืนยันเรียบร้อย กับ กลุ่มที่อยู่ระหว่างรอผลRT-PCR  เพื่อความแน่ใจของผลตรวจเชื้อ ไม่สามารถเอามาอยู่ใกล้กันได้ รวมถึงในสถานพยาบาลด้วยหากเป็นไปได้ ให้แบ่งจุดหัว-ท้ายของวอร์ดผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอผล RT-PCR

ขณะที่ ยาฟาวิพิราเวียร์ อยู่ในคลังสำรองกว่า 10 ล้านเม็ด และ ในเดือนหน้าสิงหาคม จะทยอยเข้ามาทุกสัปดาห์ รวม 40 ล้านเม็ด

พร้อมแก้ปัญหาการเบิกยาที่วุ่นวาย โดยตอนนี้ได้ตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากให้ลดลง และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม เช่น กรมการแพทย์ ทำโรงพยาบาลเสมือนจริง เอาคนไข้ในระบบ1668 มาขึ้นทะเบียนรักษาตัวที่บ้าน จัดส่งยาไปให้ ที่บ้าน  รวมทั้งร่วมกับภาคประชาสังคม จิตอาสา เอารายชื่อผู้ติดเชื้อมาขึ้นทะเบียนรักษาตัวที่บ้าน แล้วจัดส่งยา

***ย้ำประชาชน หากติดเชื้อ สบายดีไม่มีอาการไม่มีโรคร่วม กินยาลดไข้ ยาฟ้าทะลายโจร แต่หากเริ่มมีอาการ แนวทางตอนนี้ คือ ขอให้เริ่มยาให้เร็วที่สุด เมื่อเริ่มมีอาการ ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวไม่มีอาการสามารถให้ยาได้เลย

 

สปสช.เผย มีผู้ติดเชื้อเข้าระบบรักษาตัวที่บ้านแล้ว 37,000 ราย และรอเข้าสู่ระบบ อีก 3,092 ราย ขณะที่ บอร์ดสปสช. ปรับเกณฑ์เบิกจ่ายเงินล่วงหน้าให้คลินิก ศูนย์บริการสุขภาพ ในระบบ ดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้านทันที ไม่ต้องรอเบิกจ่ายย้อนหลัง.

ทันตแพทย์ อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ยืนยันว่า หากผลตรวจบวก จาก ATK  สามารถเข้าระบบแยกกักตัวรักษาที่บ้านได้เลย ไม่ต้องรอผลตรวจยืนยัน RT-PCR เมื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบแล้ว ก็จะถูกจับคู่ว่าอยู่ใกล้กับสถานพยาบาลหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นแห่งไหน

สำหรับ รักษาตัวที่บ้าน ต้องเป็นผู้ป่วยสีเขียว เป็นการติดเชื้อไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมาก และกลุ่มที่เคยป่วยนอนในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว จากอาการเหลืองและกลายเป็นสีเขียว ต้องอายุไม่เกิน 60ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เป็นโรคอ้วน โดยแพทย์เห็นแล้วว่าสามารถรักษาที่บ้านได้.  สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนึงที่ไม่สามารถทำการรักษาที่บ้านได้ จะต้องมีการตรวจยืนยันเพื่อเข้าสู่การรักษายังสถานพยาบาล และศูนย์พักคอยฯ

 

โดยสปสช. จะมีงบประมาณให้กับคลินิก หน่วยบริการ สถานพยาบาล ในระบบดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ในการจัดซื้ออุปกรณ์แพทย์ ตามรายการที่ใช้ จริงที่จะส่งให้ผู้ป่วย รวมถึงค่ายา ค่ารถส่งต่อผู้ป่วย ค่าเอกซเรย์

ซึ่งตอนนี้ สปสช.ปรับเกณฑ์เบิกจ่าย ดูแลผู้ติดเชื้อจากที่ต้องจ่ายย้อนหลัง  ปรับมาเป็น จ่ายล่วงหน้า ให้กับคลินิก สถานพยาบาล หน่วยบริการสุขภาพ  เช่น รับคนไข้ผู้ติดเชื้อไปแล้ว ทางสปปช. จะจ่ายเงินล่วงหน้าให้เลย ตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่แต่ละแห่งรับไว้ คนละ 3,000 บาทต่อคนต่อสัปดาห์ และจ่ายล่วงหน้า เพื่อให้คลินิกมีงบประมาณเบื้องต้นสำหรับการไปสั่งอาหาร ไปซื้อยา ไปซื้ออุปกรณ์ให้กับผู้ป่วย โดยจะเป็นการจ่ายทุก 15 วัน ให้กับคลินิกสถานพยาบาลหน่วยบริการสุขภาพที่รับดูแล ผู้ป่วยติดเชื้อในระบบรักษาตัวที่บ้าน

 

สำหรับข้อมูล ผู้ติดเชื้อที่ เข้าระบบ รักษาตัวที่บ้าน มีเคสสะสมอยู่ที่ 37,000 ราย โดยวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ เข้าระบบ 2,843 ราย สามารถจับคู่ผู้ป่วยกับคลินิก-ศูนย์บริการสุขภาพ ได้แล้ว 35,511ราย  และยังรอที่จะเข้าสู่ระบบ อีกประมาณ 3,092 ราย

ส่วนกรณีบอร์ดสปสช. อนุมัติให้ซื้อชุดตรวจ ATK ตรวจฟรีให้กับประชาชน ทพ.  อรรถพร ระบุว่า ตอนนี้บอร์ดสปสช. มีมติเรียบร้อยแล้ว โดยจะประสานไปยังเครือข่าย โรงพยาบาลราชวิถี  และทางโรงพยาบาลราชวิถีจะประสานไปยังองค์การเภสัชกรรม เพื่อดูในขั้นตอนต่างๆ  หลังจากนั้นจะเปิดหาบริษัทเพื่อเสนอราคาในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้  หลังจากองค์การเภสัชกรรมเปิดให้มายื่นราคาเรียบร้อยแล้ว  ภายในต้นเดือนสิงหาคม จะสามารถนำชุดตรวจ ATK ให้กับโรงพยาบาล โดยจะเริ่มในโรงพยาบาล พื้นที่สีแดงก่อน ซึ่งยังไม่สามารถส่งให้ประชาชนโดยตรง แต่ต้องผ่านโรงพยาบาลก่อน เพื่อให้โรงพยาบาลเหล่านี้ ส่งต่อให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงมารับไปตรวจเองที่บ้าน