EIC ประเมินโอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้มีสูงขึ้น หลัง กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไม่เป็นเอกฉันท์
• กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยแม้ กนง. จะประเมินเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากกว่าที่เคยประเมินไว้ สะท้อนจากการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เป็นขยายตัวที่ 0.7% และ 3.7% ในปีหน้า (จากเดิม 1.8% และ 3.9% ตามลำดับ) แต่กรรมการส่วนใหญ่ยังมองว่า มาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น
• กนง. ประเมินว่าสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึง จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้ และการจ้างงาน
• EIC ประเมินว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2021 และปี 2022 โดยหากเศรษฐกิจเป็นไปตามกรณีฐานตามการประเมินล่าสุดของ กนง. ที่มีสมมติฐานว่า การระบาดจะถูกควบคุมได้ในช่วงต้นไตรมาส 4 ของปีนี้ กนง. ก็จะเลือกคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม เพื่อเก็บ policy space ไว้ และเน้นการปรับมาตรการการเงินเพื่อกระจายสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี โอกาสของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งภายในปีนี้มีมากขึ้น (ความน่าจะเป็น 30%) จากความเสี่ยงด้านต่ำของการระบาดจากสายพันธุ์เดลต้า ภายใต้การฉีดวัคซีนอย่างช้า ๆ ก็ทำให้มีโอกาสที่การระบาดและมาตรการการควบคุมจะยาวนานกว่าคาด กระทบต่อการฟื้นตัวและแผลเป็นทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุผลให้ กนง. อาจตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ภายในปีนี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้เช่นกัน ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การควบคุมการระบาด พัฒนาการการฉีดวัคซีน และความเพียงพอของมาตรการทางการคลัง
• ในภาพรวม EIC มองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจช่วยลดภาระการชำระหนี้ได้บ้าง แต่จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัดในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว และเศรษฐกิจถูกกระทบจากรายได้ที่ลดลงจากมาตรการ lockdown และความกังวลของการระบาดเป็นหลัก ซึ่งทำให้การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการระบาด มาตรการการคลังที่อัดฉีดเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และการปรับมาตรการการเงินเพื่อกระจายสภาพคล่องให้ทั่วถึงขึ้นจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า
• EIC ประเมินว่า ภาครัฐจะพิจารณาปรับมาตรการการเงินที่มีอยู่และอาจออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเร่งจัดสรรสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มผู้ถูกกระทบจากการระบาดให้มีประสิทธิผลมากขึ้นตามการสื่อสารของ กนง. โดยในส่วนของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ อาจเห็นการปรับเงื่อนไขและลดข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับรูปแบบของการลดความเสี่ยงด้านเครดิตและลดต้นทุนทางการเงินของธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่แม้จะดีขึ้นแต่ยังไม่กระจายตัวและทั่วถึงอย่างเพียงพอ
• ด้านตลาดการเงิน ภาวะการเงินไทยยังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่เงินบาทปรับอ่อนค่าลงมากกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลต่อเนื่อง
กนง. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของการระบาดที่มากกว่าคาด แต่มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า มาตรการการเงินมีประสิทธิผลกว่าการลดดอกเบี้ย ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีเพื่อพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2021 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากกว่าที่ประเมินไว้และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยมองว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยคือ การเร่งควบคุมการระบาดและการกระจายวัคซีนเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชน และเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้กลับมาขยายตัว ขณะที่มาตรการทางการคลังและการเงินจะต้องเร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้คณะกรรมการเห็นว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง
การช่วยเหลือต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า
• เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.7% และ 3.7% ในปี 2021 และ 2022 โดยปรับลดลงจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อและรุงแรงกว่าที่ประเมินไว้ ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้าจากนโยบายการเปิดประเทศที่ล่าช้าและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง โดย ธปท. ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 1.5 แสนคนในปี 2021 และ 6 ล้านคนในปี 2022 (จาก 7 แสนคนและ 10 ล้านคนตามลำดับ)
• ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้นจากการระบาดระลอกสาม โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยพบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบปี แรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น และผู้ว่างงานระยะยาวเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการจ้างงานลูกจ้างเอกชน นอกภาคเกษตรมีลักษณะเป็น W-shaped โดยการระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อขึ้นจะทำให้การฟื้นตัวล่าช้าออกไปอีกในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี แม้ภาคการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากการระบาดในโรงงานและการขาดแคลนวัตถุดิบชั่วคราว
• อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิม การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
• ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้ และการจ้างงาน เพิ่มเติมจากผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
กนง. ประเมินว่าสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาด ทั้งนี้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมา ช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคตามปัจจัยในประเทศ
กนง. ระบุว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยดูแลตลาดแรงงานและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันการณ์ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจ ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงจะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
EIC คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2021 และปี 2022 แต่โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งภายในปีนี้มีมากขึ้นเช่นกัน โดย EIC ประเมินว่า ในกรณีฐาน กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2022 เนื่องจากการประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ กนง. ในกรณีฐานยังคงมีสมมติฐานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดอาจปรับดีขึ้นและสามารถผ่อนคลายการ lockdown ได้ในช่วงต้นของไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีน้อยลง นอกจากนี้ กรรมการส่วนใหญ่ยังมองว่า ประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะปัจจุบันจะมีจำกัด โดยปัญหาหลักคือ การกระจายสภาพคล่องไปยัง SMEs และครัวเรือนต่าง ๆ อย่างทั่วถึงมากกว่าปัญหาต้นทุนทางการเงิน นอกจากนั้น กนง. ต้องชั่งน้ำหนักกับผลกระทบข้างเคียงของการลดดอกเบี้ยลงไปใกล้ศูนย์มากยิ่งขึ้น เช่น 1) อัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงอีกอาจทำให้ประชาชนบางกลุ่มที่พึ่งพารายรับหลักจากดอกเบี้ยเงินฝาก เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ต้องหันมาออมเงินมากขึ้นและลดการใช้จ่ายลง 2) policy space จะลดลงอีกและไม่เพียงพอกับการรองรับกรณีที่เศรษฐกิจปรับตัวเลวร้ายกว่านี้ และ 3) การปรับลดดอกเบี้ยลงมามากอาจทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มในปริมาณมาก ส่งผลให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไปทำได้ยากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวที่มาจากระดับหนี้มีสูงเกินไป พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)และการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risk) ได้
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจที่มีอยู่มากโดยเฉพาะการระบาดที่อาจยาวนานกว่าคาดจะทำให้โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งภายในปีนี้มีอยู่พอสมควร (ประมาณ 30%) เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ที่มีอัตราการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นมากเทียบกับสายพันธุ์เดิม โดยเฉพาะในภาวะที่การฉีดวัคซีนยังอยู่ในระดับต่ำทำให้มาตรการ lockdown ในระดับที่ใช้อยู่อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมการระบาดให้ลดลงได้ภายในต้นไตรมาสที่ 4 ตามกรณีฐาน หากความเสี่ยงด้านต่ำเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด ผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ หรือการออกมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐทำได้น้อยกว่าคาดมาก ก็อาจทำให้คณะกรรมการส่วนใหญ่จำเป็นต้องหันมาดำเนินนโยบายผ่าน
การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจผ่านการลดภาระหนี้ดอกเบี้ยและการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนและ SMEs อีกทั้ง ยังช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินและลดภาระการชำระดอกเบี้ยของภาครัฐจากหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้นอกจากการพิจารณาลดดอกเบี้ยแล้ว กนง. อาจพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ซึ่งนำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงอาจพิจารณาปรับลดอัตราเงินนำส่งเพิ่มเติมได้
ธปท. จะพิจารณาปรับมาตรการการเงินที่มีอยู่และอาจออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเร่งจัดสรรสภาพคล่องไปสู่กลุ่มผู้ถูกกระทบจากการระบาดให้กระจายตัวทั่วถึงและเพียงพอมากขึ้นตามแนวทางที่ กนง. ได้สื่อสารไว้ ในภาพรวม แม้ ธปท. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับมาตรการการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SMEs ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ แต่ความคืบหน้าของโครงการยังเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่ทั่วถึงนัก โดย ณ วันที่ 27 กรกฏาคม 2021 มีผู้ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู 27,219 ราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.5% ของจำนวนธุรกิจ SMEs ที่จดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศที่มีอยู่ราว 7.7 แสนราย อีกทั้ง สินเชื่อที่อนุมัติผ่านโครงการแล้วยังมีมูลค่าเพียง 8.2 หมื่นล้านบาท จากวงเงินรวมทั้งหมด 2.5 แสนล้านบาท ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่สินเชื่อใหม่ในภาค SMEs จะหดตัวต่อเนื่องอีกในปีนี้ สำหรับโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการน้อยเช่นกัน โดยมีผู้ได้รับความช่วยเหลือเพียง 18 รายเท่านั้น ซึ่งสะท้อนได้ว่า เงื่อนไขของมาตรการและกฏระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมโครงการของภาคธุรกิจ จึงเป็นความท้าทายสำคัญที่ภาครัฐจะต้องเร่งพิจารณาปรับเงื่อนไขและลดอุปสรรคของโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการกระจายสภาพคล่อง โดยสำหรับโครงการสินเชื่อ SMEs ภาครัฐอาจต้องพิจารณากลไกที่เข้ามามีส่วนร่วมและลดความเสี่ยงด้านเครดิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การปรับลดค่าธรรมเนียมประกันสินเชื่อ บสย. การเพิ่มสัดส่วนการชดเชยความเสียหายของพอร์ตสินเชื่อ หรือ การประกาศรับความเสี่ยงของภาครัฐในรูปแบบ loan guarantee ในสัดส่วนสูงเพียงพอ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการกระจายสภาพคล่องแก่ธุรกิจ SMEs ที่กำลังถูกกระทบจากวิกฤต COVID-19 อย่างรุนแรงในส่วนของตลาดการเงิน ภาวะการเงินไทยยังมีแนวโน้มผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตามการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงจากปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.53% ปรับลดลง 21 bps นับจากต้นเดือนกรกฎาคม ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.18% ปรับลดลง 28 bps ในช่วงเวลาเดียวกัน (รูปที่ 1)
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม 2021 ซึ่งการปรับตัวลดลงดังกล่าวสวนทางกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ
1) ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า โดยยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ใหม่รายวันของสหรัฐฯ ตลอดจนจำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นการระบาดในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งการกลับมาระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงเลี่ยงการถือสินทรัพย์เสี่ยงและซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
2) การปรับลดมุมมองของตลาดต่อโอกาสการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดของสหรัฐฯ โดยตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ล่าสุดอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ในเดือนมิถุนายน (รูปที่ 2) สะท้อนถึงการปรับลดมุมมองนักลงทุนต่อโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ นักลงทุนได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะกลางลง โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นนั้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ซึ่งแตกต่างจากมุมมองในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ที่นักลงทุนมองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วในสหรัฐฯ
3) ปัญหา Supply-side constraints ที่มีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้ ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า โดยความล่าช้า ในภาคการผลิตและระดับสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ระยะเวลาการส่งมอบนานขึ้นและแรงกดดันด้านราคาปรับเพิ่มขึ้น ตลอดจนโรงงานหลายแห่งทั่วโลกต้องปิดสายการผลิตชั่วคราว นอกจากนี้ ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนวิกฤต COVID-19 แม้มาตรการ unemployment benefits จะเริ่มหมดอายุลงในบางรัฐแล้ว
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงตามการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ โดยการระบาดของไวรัสในประเทศและประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ที่เข้มงวดมากขึ้นทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปรับแย่ลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่ำลง และเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลง
รูปที่ 1 : ภาวะการเงินไทยผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ลดลง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg
รูปที่ 2 : นักลงทุนได้ปรับลดมุมมองของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg
เงินบาทปรับอ่อนค่าลงมากกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเงินบาทอยู่ที่ 33.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากต้นปี 9.4% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่มากกว่าค่าเงินของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค (รูปที่ 3) โดยในระยะสั้นนี้ เงินบาทมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับอ่อนค่าจาก
1. การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้เงินทุนไหลออกจากไทยในเดือนกรกฎาคม ทั้งในตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารทุน โดยความกังวลต่อการแพร่ระบาดในหลายประเทศได้ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น จึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
2. ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังขาดดุลต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่สองของปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลทั้งสิ้น 1.64 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 โดยการขาดดุลดังกล่าวเกิดจากการขาดดุลบริการจากค่าขนส่ง โดยเฉพาะค่าระวางสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุล นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่ชะงักส่งผลให้ความต้องการถือเงินบาทปรับลดลง เงินบาทจึงอ่อนค่าลงเร็ว
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดปรับดีขึ้นตามคาดในไตรมาส 4 ปีนี้ ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงปลายปี โดยหากค่าขนส่งสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากปัญหา Supply Chain disruption บรรเทาลงในช่วงที่เหลือของปี จะส่งผลให้ไทยมีการขาดดุลบริการลดลง นอกจากนี้ หากภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้ความต้องการเงินบาทปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ โดย EIC คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 32.5-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
รูปที่ 3 : เงินบาทปรับอ่อนค่าลงมากกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลต่อเนื่อง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg
บทวิเคราะห์โดย SCB EIC >>> https://www.scbeic.com/th/detail/product/7720
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ :
วชิรวัฒน์ บานชื่น (wachirawat.banchuen@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ณิชนันท์ โลกวิทูล (nichanan.logewitool@scb.co.th) นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com