ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พืชเกษตรที่มีศักยภาพเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย คือ ถั่วเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน งาดำ ข้าวกล้องหอมมะลิ และเห็ดฟาง ภายใต้เกณฑ์การวิเคราะห์ที่กำหนด คือ
1) เป็นพืชที่มีระดับโปรตีนสูงใกล้เคียงกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์คือ มีปริมาณโปรตีนร้อยละ 13-23 ต่อน้ำหนักอาหาร
2) เป็นพืชที่ไทยมีศักยภาพในเชิงผลผลิต/ขายได้ราคาดี/ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวสั้น/มีสายพันธุ์ไทย และ 3) เป็นพืชที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อันจะทำให้เกิดความยั่งยืนด้านอุปทาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย และยังสร้างผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกแห่งอนาคตเป็นของไทยเอง นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการใช้ถั่วเหลืองที่ต้องนำเข้า โดยคาดว่า ในปี 2564 มูลค่าถั่วเหลืองที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย อาจมีมูลค่าราว 300-500 ล้านบาท

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการเลือกพืชเกษตรชนิดใดชนิดหนึ่งมาใช้ทำเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการอาจต้องพิจารณาปัจจัยท้าทายอื่นเพิ่มเติมนอกจากการชั่งน้ำหนักระหว่างคุณภาพและราคาของพืชเกษตรที่เลือกมาเมื่อเทียบกับวัตถุดิบหลักที่นิยมในตลาด โดยพืชเกษตรแต่ละชนิดก็มีข้อดี/ข้อเสียแตกต่างกันไปในแต่ละรายละเอียด ทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องมีการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในแต่ละซัพพลายเชนให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ได้กลายเป็นกระแสอาหารแห่งอนาคต (Future Food) จากการที่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขื้น ตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางธรรมชาติ ทำให้หันไปนิยมแหล่งโปรตีนทางเลือกอื่นเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการผลิตและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จึงนับเป็นเทรนด์อาหารโลกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศตะวันตก แต่สำหรับอาหารโปรตีนทางเลือกในไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่และยังมีโอกาสทางธุรกิจอยู่อีกมาก ซึ่งจะรู้จักและเห็นกันส่วนใหญ่ในรูปแบบของโปรตีนจากพืช (Plant Based Protein) เนื่องจากปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการรายใหญ่ รายกลาง รวมถึงสตาร์ทอัพ เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้แล้ว แต่ในฝั่งของอุปทานโปรตีนจากพืช กลับพบว่าเป็นปัญหาสำคัญในเรื่องของวัตถุดิบ เนื่องจากวัตถุดิบหลักในการผลิตโปรตีนจากพืชที่นิยมในต่างประเทศคือ ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 36 ต่อน้ำหนักอาหาร โดยไทยต้องมีการนำเข้าเกือบทั้งหมด ส่งผลต่อความไม่ยั่งยืนด้านอุปทาน ตลอดจนราคาถั่วเหลืองที่เป็น Commodity จะผันผวนไปตามตลาดโลก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2564 มูลค่าถั่วเหลืองที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย อาจมีมูลค่าราว 300-500 ล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นมูลค่าที่ไม่มาก หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.6-1.0 ของมูลค่าตลาดถั่วเหลืองทั้งหมดของไทย แต่ก็เป็นการสะท้อนถึงความไม่ยั่งยืนด้านอุปทาน เพราะไทยต้องนำเข้าถั่วเหลือง ดังนั้น จะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากไทยสามารถชูพืชที่มีศักยภาพมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทยได้เอง ทดแทนการใช้ถั่วเหลืองและยังไม่ใช่แค่เป็นเพียงการรับจ้างผลิตเท่านั้น แต่ไทยยังสามารถมีผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชเป็นของตัวเองได้ บนความได้เปรียบที่ไทยเป็นฐานทรัพยากรพืชเกษตรที่หลากหลาย อันจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยและความยั่งยืนด้านอุปทานการผลิต

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พืชเกษตรที่มีศักยภาพเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย คือ ถั่วเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน งาดำ ข้าวกล้องหอมมะลิ และเห็ดฟาง ภายใต้เกณฑ์การวิเคราะห์ที่กำหนด คือ 1) เป็นพืชที่มีระดับโปรตีนสูงใกล้เคียงกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์คือ มีปริมาณโปรตีนราว 13-23 กรัมต่อน้ำหนักอาหาร 100 กรัม 2) เป็นพืชที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตในเชิงผลผลิต/ขายได้ราคาดี/ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวสั้น/มีสายพันธุ์ไทย และ 3) เป็นพืชที่รัฐบาลให้การสนับสนุน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

พืชเกษตรศักยภาพเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย

หมายเหตุ :
* เป็นปริมาณผลผลิตเฉลี่ยปี 2563
** เป็นปริมาณผลผลิตข้าวหอมมะลิ
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมอนามัย และกรมวิชาการเกษตร รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

นอกจากนี้ ไทยยังมีพืชโปรตีนสูงที่มีศักยภาพรายการอื่นอีก ซึ่งมีราคาขายดีและระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้น เช่น กัญชง ที่นับว่าเป็นพืชที่น่าจับตาในขณะนี้ตามเทรนด์โลก รวมถึงพืชในท้องถิ่น เช่น เห็ดแครง ซึ่งเป็นพืชโปรตีนสูงที่นิยมปลูกมากในภาคใต้ ล้วนเป็นพืชที่น่าจะมีศักยภาพในการผลักดันเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ในระยะข้างหน้าไม่แพ้พืชโปรตีนสูงชนิดอื่น เพื่อความหลากหลายของผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช

• อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการเลือกพืชเกษตรชนิดใดชนิดหนึ่งมาใช้ทำเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตของไทย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการอาจต้องพิจารณาปัจจัยท้าทายอื่นเพิ่มเติมนอกจากการชั่งน้ำหนักระหว่างคุณภาพและราคาของพืชที่เลือกมาเมื่อเทียบกับวัตถุดิบหลักที่นิยมในตลาดอย่างถั่วเหลือง โดยพืชเกษตรแต่ละชนิดก็มีข้อดี/ข้อเสียแตกต่างกันไปในแต่ละรายละเอียด ทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องมีการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในแต่ละซัพพลายเชนให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องจับตาเรื่องความผันผวนด้านราคาที่อาจกระทบต่อต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายการพืชที่มีราคาสูง แม้จะกระทบต่อราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการ แต่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างเป็นระบบจากผลผลิตต้นน้ำที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคงต้องมีการบริหารด้านคุณภาพผลผลิตควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

สำหรับในส่วนของความท้าทายในการผลิตพืชเกษตรต้นน้ำ คงเป็นเรื่องการใช้ AgriTech ที่ยังไม่แพร่หลายนัก ซึ่งคงต้องมีการเร่งใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในเชิงคุณภาพและปริมาณ ทั้งในรายการพืชที่อาจปลูกได้ในระดับ Scale ไม่ใหญ่นัก เช่น ต้นอ่อนทานตะวัน/เห็ดฟาง เป็นต้น ด้วยการหันไปปลูกในโรงเรือน/การปลูกพืชแนวตั้ง ขณะที่พืชในระดับ Scale ใหญ่อย่างข้าว ก็อาจใช้โดรน/รถเก็บเกี่ยวอัตโนมัติ เป็นต้น นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ปรับตัวลดลงในบางเวลา ยังอาจกระทบต่อการตัดสินใจในการปลูกพืชดังกล่าวได้ในระยะข้างหน้า

สรุป ท่ามกลางอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชที่มีแนวโน้มเติบโตดีตามเทรนด์โลก การที่ไทยสามารถชูพืชเกษตรที่จะใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตโปรตีนจากพืชที่เป็นอาหารแห่งอนาคตได้เอง นับเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอุปทานวัตถุดิบ เพื่อทดแทนการใช้ถั่วเหลืองซึ่งต้องนำเข้าและมีราคาผันผวนไปตามตลาดโลก โดยพืชที่มีศักยภาพคือ ถั่วเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน งาดำ ข้าวกล้องหอมมะลิ และเห็ดฟาง ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะพืชแต่ละชนิดก็มีข้อดี/ข้อเสียแตกต่างกันไปในแต่ละรายละเอียด ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาปัจจัยท้าทายอื่นเพิ่มเติมนอกจากการชั่งน้ำหนักระหว่างคุณภาพและราคาของพืชที่เลือกมาเมื่อเทียบกับวัตถุดิบหลักที่นิยมในตลาด

นอกจากนี้ ในฝั่งของอุปสงค์โปรตีนจากพืชของไทยที่พบว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่น่าจะทำให้ตลาดโปรตีนจากพืชของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว คงต้องขึ้นอยู่กับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชในแต่ละวัตถุดิบสำคัญให้สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของรสชาติ ผิวสัมผัส คุณค่าทางโภชนาการ สี ความน่ารับประทาน การไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ (Allergen Risk) อีกทั้งการสร้างความน่าสนใจมากขึ้นผ่านกลยุทธ์ทาง Content Marketing อย่างการเล่าเรื่องราวของสินค้า (Storytelling) เช่น วัตถุดิบข้าวกล้องหอมมะลิที่ใช้มาจากแหล่งผลิตคุณภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างทุ่งกุลาร้องไห้ที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) รวมถึงการรับรองเป็นสินค้าออร์แกนิก จะยิ่งเป็นการสร้างจุดขายให้กับผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านการทำการตลาดทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ก็จะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าให้ชัดเจนมากขึ้นด้วย ขณะที่การสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในแง่ของผู้ปลูกพืชเกษตรผ่านการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ การรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การช่วยเหลือด้านเงินลงทุนแก่ผู้ประกอบการอาหารโปรตีนจากพืช จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตลอดทั้งซัพพลายเชนของอาหารโปรตีนแห่งอนาคตจากพืชในไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน