เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 ปี ขณะที่หุ้นไทยลดช่วงบวกทั้งหมดลงช่วงปลายสัปดาห์ 2-6 ส.ค.
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย KResearch
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
- เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 ปีที่ 33.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าท่ามกลางสัญญาณเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศ ที่มีผลกระทบต่อเนื่องไปยังแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งกระตุ้นให้เกิดกระแสการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะเริ่มทยอยลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ภายในปีนี้เป็นอย่างเร็ว อนึ่ง ในช่วงระหว่างวันที่ 2-6 ส.ค. เงินบาทอ่อนค่าลงแล้ว 1.4%
- ในวันศุกร์ (6 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 ก.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-13 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.10-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้า-ส่งออกเดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. (เบื้องต้น) ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนก.ค. ประกอบด้วย การส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และการปล่อยกู้สกุลเงินหยวนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
- หุ้นไทยกลับมาปิดใกล้เคียงระดับปิดสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,521.72 จุด ลดลง 0.01% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 73,390.55 ล้านบาท ลดลง 7.31% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.03% มาปิดที่ 510.48 จุด
- หุ้นไทยปรับตัวขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ตามทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ ประกอบกับมีแรงซื้อคืนหุ้นในกลุ่มธนาคารและพลังงานเข้ามาบางส่วน อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามแรงขายลดเสี่ยงของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-13 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,475 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,535 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน ประเด็นการเมืองภายในประเทศ รวมถึงการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/64 ของบจ. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค.ของญี่ปุ่น ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภค
###
รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)