สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  • เงินบาทปรับตัวในกรอบแคบๆ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี เงินบาทดีดตัวแข็งค่ากลับมาช่วงสั้นๆ ในเวลาต่อมาตามการปรับโพสิชันในระหว่างที่รอบันทึกการประชุมเฟด เงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามจังหวะสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากกระแสการคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะมีการเริ่มปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ QE ลงภายในสิ้นปีนี้เป็นอย่างเร็ว หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
  • ในวันศุกร์ (20 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ส.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมสัมมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ค. ของไทย และสถานการณ์โควิด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/64 (ครั้งที่ 2) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,553.18 จุด เพิ่มขึ้น 1.63% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 80,548.25 ล้านบาท ลดลง 3.33% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.10% มาปิดที่ 503.46 จุด
  • หุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้จากสัปดาห์ก่อนแม้จะมีแรงกดดันจากสถานการณ์โควิดในประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย โดยการดีดตัวขึ้นของหุ้นไทยในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ หลักๆ เป็นผลจากแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารที่ขานรับการผ่อนปรนให้กลับมาเปิดบริการในห้างได้ และกลุ่มการเงินซึ่งได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถของนอนแบงก์บางราย อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆ ระหว่างสัปดาห์ หลังบันทึกการประชุมเฟดทำให้ตลาดตีความว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดวงเงิน QE ภายในปีนี้

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,535 และ 1,525 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,565 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประเด็นการเมืองภายในประเทศ ตลอดจนการประชุมประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. (เบื้องต้น) ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Index เดือนก.ค. ตลอดจนจีดีพีไตรมาส 2/64 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่นและยูโรโซน


...... 
รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)