ธปท. จับมือสมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อย่างยั่งยืน
จากสถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (โควิด 19) ส่งผลให้การแพร่ระบาดมีความไม่แน่นอนสูง และมีแนวโน้มยืดเยื้อและผันผวนกว่าที่คาด กระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น แต่ละภาคเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวช้าออกไปและไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ระยะสั้นแบบเดิม เช่น การพักชำระหนี้เป็นครั้งคราว หรือปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะสั้น จึงไม่ตอบโจทย์ที่จะทำให้ทุกฝ่ายผ่านวิกฤตนี้ไปได้
ในการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมธนาคารไทย เห็นร่วมกันในการผลักดันมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยให้สอดคล้องกับคาดการณ์รายได้ของลูกหนี้ เช่น ในช่วงที่รายได้ของลูกหนี้ยังไม่กลับมาและอาจต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว ภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็ควรอยู่ในระยะต่ำ แล้วค่อย ๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป แต่ไม่ใช่การเลื่อนหรือพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือเป็นไปตามแถลงข่าว ธปท. เรื่อง มาตรการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ได้อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องการสั่งปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ย (แฮร์คัท) นั้น ธปท. และสมาคมธนาคารไทยขอเรียนว่า ที่ผ่านมา ทั้งสองหน่วยงานได้หารืออย่างใกล้ชิด และเห็นตรงกันว่าควรเร่งผลักดันให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดนี้สัมฤทธิ์ผล ให้สามารถประคับประคองลูกหนี้ที่ประสบปัญหาได้จริง ภายใต้หลักการสำคัญ คือ ลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาโควิด 19 สมควรได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดและสอดคล้องกับปัญหา อีกทั้งจะต้องไม่สร้างแรงจูงใจให้กับลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบให้หยุดชำระหนี้ (moral hazard) ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินยังเป็นกลไกสำคัญและมีกำลังไปช่วยลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเป็นเป้าหมายได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธปท. ชี้แจงว่า “เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ในภาวะวิกฤต ธปท. ได้พิจารณาปรับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เอื้อต่อการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับลดข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการ อาทิ การให้ความยืดหยุ่นในการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง เพื่อลดภาระต้นทุนของสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้มากไปกว่าการขยายเวลาชำระหนี้เพียงอย่างเดียว และการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง”
ขณะเดียวกัน นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “ธนาคารจะเร่งนำมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมนี้ เป็นแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยแต่ละธนาคารจะไปออกมาตรการเพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือลูกหนี้ (Product program) โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ทั้งนี้ การออก Product program เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของแต่ละธนาคารนั้น จะมีความหลากหลายและสอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย แต่ละกลุ่ม และเป็นธรรมทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือไปสู่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเป้าหมายได้ผลอย่างแท้จริง”
ธปท. และ สมาคมธนาคารไทย มุ่งหวังให้มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สมาคมธนาคารไทย