เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าปลายสัปดาห์ ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวลง แต่ยังไม่หลุดแนว 1,600 จุด
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
- เงินบาทขยับแข็งค่ากลับมาได้เล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากปรับตัวในทิศทางอ่อนค่าในระหว่างสัปดาห์ตามจังหวะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า อย่างไรก็ดีเงินบาทลดช่วงอ่อนค่าและทยอยปรับตัวแข็งค่ากลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามเงินหยวนและเงินเอเชียอื่นๆ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และการส่งสัญญาณปรับระดับการซื้อสินทรัพย์ผ่านโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินของธนาคารกลางยุโรป (ECB)
- ในวันศุกร์ (10 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 ก.ย.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิดของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคานำเข้า/ส่งออก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีกเดือนส.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนก.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนีราคาบ้าน อัตราการว่างงาน ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนส.ค. ของจีน ด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
- หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,635.35 จุด 0.91% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 90,658.68 ล้านบาท ลดลง 14.97% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 4.25% มาปิดที่ 548.71 จุด
- โดยภาพรวมหุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลงตลอดสัปดาห์ ตามแรงขายทำกำไรของนักลงทุน หลังหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตอบรับปัจจัยบวกไปค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาครับข่าวที่ระบุว่า ปธน. โจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยทางโทรศัพท์กับปธน. สี จิ้นผิงของจีน นอกจากนี้ยังมีแรงซื้อหุ้นบางกลุ่มที่อาจได้รับอานิสงส์จากการที่จะมีการเร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมดอย่างน้อย 50% ทุกจังหวัด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,620 และ 1,610 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,655 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ ประเด็นการเมืองภายในประเทศ ตลอดจนทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ผลผลิตอุตสาหกรรม มูลค่านำเข้าและส่งออกเดือนส.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร