เมื่อปรากฏการณ์ Pet Humanization เป็นปัจจัยเร่งให้ธุรกิจโฮ่งเหมียวเฟื่องฟู
Key Highlights
- ปรากฏการณ์ Pet Humanization หรือพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัวมีความเด่นชัดขึ้น ส่วนหนึ่งจากผลพวงของการระบาดของโควิด-19 ทำให้มูลค่าตลาดของธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงโลกมีแนวโน้มเติบโต และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 217,651 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 6.9 ล้านล้านบาทในปี 2026 หรือ เติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% (CAGR) ขณะที่มูลค่าตลาดของธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในไทยคาดว่าจะเติบโตสูงกว่าที่ 8.4% (CAGR) โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 66,748 ล้านบาท ในปี 2026
- ผู้เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะจ่ายหนัก จ่ายเพิ่มเพื่อให้สัตว์เลี้ยงของตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและมีความสุขเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะคิดผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในระดับที่ Premium มากขึ้น เช่น บริการสุขภาพสัตว์เลี้ยงเฉพาะทาง บริการนักสืบสัตว์เลี้ยง ธุรกิจอาหารเสริมสัตว์เลี้ยง ธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์สัตว์เลี้ยง และธุรกิจประกันภัยสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
- Krungthai COMPASS แนะนำให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เลี้ยงและสัตว์เลี้ยงที่ไม่หยุดนิ่ง เช่น การพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากโปรตีนจากพืชและแมลง รวมทั้งให้ความสำคัญการการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ ยังควรใช้สิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ (BOI) เพื่อให้การต่อยอดธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น
Rebecca A. Johnson ผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ มหาวิทยาลัยมิสซูรี ได้กล่าวไว้ว่า แค่เรามองสัตว์เลี้ยงตัวโปรดของเรา สมองก็จะหลั่งสารออกซิโทซิน ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น และช่วยผ่อนคลายความเครียดและเหนื่อยล้าจากการทำงานได้ กระทั่งทำให้ผู้เลี้ยงเกิดความผูกพัน รวมทั้งดูแลเอาใจใส่และเลี้ยงดูเป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าคนนิยมที่จะมีสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้านเพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ยิ่งส่งผลให้ปรากฎการณ์ Pet Humanization เด่นชัดขึ้น จากการที่ต้องใช้ชีวิตและกักตัวอยู่ที่บ้านนานๆ จึงต้องหากิจกรรมคลายเครียดต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง โดยจากข้อมูลของ The American Pet Products Association (APPA) ระบุว่า ในปี 2021 สัดส่วนครอบครัวชาวอเมริกันที่มีสัตว์เลี้ยง (Pet Ownership) จะเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากเฉลี่ยที่ 67% ในช่วงปี 2018-2020 โดยเฉพาะสุนัข และแมวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าประเภทอื่น
Pet Humanization คืออะไร?
Pet Humanization โดยทั่วไปจะหมายถึงพฤติกรรมการเลี้ยงของเจ้าของที่เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตนเสมือนลูก หรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ซึ่งจะแตกต่างจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีทัศนคติต่อสัตว์เลี้ยงของตนว่าเป็นเพียงสัตว์เลี้ยง นั่นคือ จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เพื่อไว้ใช้งานหรือต้องการประโยชน์บางอย่างจากสัตว์เลี้ยง เช่น เลี้ยงไว้เพื่อเฝ้าบ้าน และมีรูปแบบการเลี้ยงเป็นไปแบบง่ายๆ ทั้งนี้ กลุ่มเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีทัศนคติต่อสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว หรือ Pet Humanization นี้จะมีรูปแบบการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีและให้ความสำคัญต่อสัตว์เลี้ยงมากขึ้น
โดยกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยและต่อเนื่อง จึงนับเป็นปรากฏการณ์ก็ว่าได้ สะท้อนจากผลการสำรวจของ Morgan Stanley Research ชี้ว่า เกือบ 70% ของผู้เลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงของตนเองเสมือนสมาชิกในครอบครัว และอีก 66% ของผู้เลี้ยงมีความรักความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงของตนมาก รวมทั้ง 47% ของผู้เลี้ยงยังเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของตนเสมือนลูกอีกด้วย นอกจากนี้ 37% ของผู้เลี้ยงก็จะยอมหามาให้ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าน้องหมา น้องแมว อยากได้อะไร ผู้เลี้ยงเหล่านี้ก็จะหามาให้นั่นเอง ทั้งนี้ Morgan Stanley ได้นิยามพฤติกรรมการเลี้ยงดังกล่าวไว้ว่าเป็น “Petriarchy” หรือที่เรียกกันว่า “ทาสหมา ทาสแมว” นั่นเอง (รูปที่ 1)
พฤติกรรม Pet Humanization ส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง?
1. มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น จากความรักความผูกพันของผู้เลี้ยงที่มีต่อสัตว์เลี้ยง ทำให้ผู้เลี้ยงมีความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของตนมีความสุข (Gardyn, R, 2001) สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคม The American Pet Products Association (APPA) ระบุว่าการใช้จ่ายของครัวเรือนต่อสัตว์เลี้ยงหนึ่งตัวจะเพิ่มขึ้นจาก 980 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 เป็น 1,292 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025 เช่นเดียวกับรายงานของ The Household and Pet Care CPG ที่ชี้ว่า ในปี 2018-2023 ยอดขายในกลุ่มอาหาร ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับสัตว์เลี้ยง จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 15% ต่อปี
หนึ่งในค่าใช้จ่ายสัตว์เลี้ยงที่สำคัญ คือ ค่าอาหาร ซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้เลี้ยงมองหาอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในระดับ Premium มากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลของ ADM Outside Voice ชี้ว่า 30% ของเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั่วโลกใช้เวลานานขึ้นในการค้นหาตัวเลือกอาหารที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงให้ความสำคัญกับคุณค่าด้านโภชนาการอาหาร รวมทั้งคุณภาพและมาตรฐานของอาหารที่ดีสำหรับสัตว์เลี้ยง อีกทั้งมองหาอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณประโยชน์คล้ายคลึงกับอาหารของมนุษย์ สะท้อนจากข้อมูลของ ADM Outside Voice ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีความเต็มใจจ่ายแพงขึ้น เพื่อให้ได้อาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่ดี ส่งผลให้อาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ Mondi เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยม พบว่าผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าเป็นอันดับแรก เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานการผลิตที่ดี จะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายของสัตว์เลี้ยง
ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมของโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยจากข้อมูล Mordor Intelligence Analysis คาดว่า ในปี 2021 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมของโลก จะอยู่ที่ 83,022 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 105,096 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2026 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% ต่อปี ทั้งนี้ แม้ว่าอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมจะมีราคาที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอาหารสัตว์เลี้ยงแบบทั่วไป แต่ก็มีการผลิตที่ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและคุณค่าด้านโภชนาการตอบโจทย์ผู้เลี้ยงที่ต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยง ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มคุณค่าทางอาหารในด้านต่างๆ เช่น ช่วยระบบย่อยอาหารหรือระบบขับถ่าย ช่วยบำรุงผิวหนังและขน ช่วยบำรุงสุขภาพปากและฟัน และช่วยบำรุงกระดูกและข้อต่อ รวมทั้งอาหารสัตว์เลี้ยงแบบธรรมชาติ ปลอดสารเคมี และอาหารอินทรีย์ เป็นต้น
2. เกิดบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ Pet Humanization เนื่องจากการบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงแสนรักเข้าใกล้บริการของมนุษย์เข้าไปทุกที โดยปัจจุบันเราเริ่มเห็นบริการใหม่ๆ หรือการต่อยอดธุรกิจสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ตอบโจทย์ความต้องการใน Segment ที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริการด้านสุขภาพที่มีการนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีเฉพาะทางมาให้บริการสัตว์เลี้ยง เช่น ศูนย์กายภาพบำบัดสัตว์โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ที่ควบคุมและดูแลโดยสัตวแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งใช้อุปกรณ์ลู่วิ่งสายพานใต้น้ำ เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อและเอ็น ทำให้สัตว์เลี้ยงกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง นอกจากนี้ อีกหนึ่งบริการที่น่าสนใจ คือ นักสืบสัตว์เลี้ยง เป็นบริการใหม่ที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน โดยหากเกิดเหตุการณ์สัตว์เลี้ยงแสนรักของผู้เลี้ยงพลัดหลงหรือสูญหายคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ๆ ซึ่งนักสืบสัตว์เลี้ยงจะทำการค้นหาสัตว์เลี้ยงจากขน หรือปัสสาวะ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น อุปกรณ์ตรวจจับอุณหภูมิ หรือจมูกไฟฟ้าเพื่อใช้ในการติดตามค้นหาสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้ ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้บริการสำหรับสัตว์เลี้ยงถูกพัฒนาและนำเสนอในรูปของแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เช่น “Dutch” แพลตฟอร์มให้บริการ Pet Telemedicine “DoorDash” แพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ ที่จับมือกับ “PetSmart” เชนค้าปลีกด้านสัตว์เลี้ยงที่มีสาขามากกว่า 1,500 สาขาทั่วสหรัฐฯ พัฒนาบริการจัดส่งสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงแบบ On-Demand ทั้งอุปกรณ์ดูแลสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ ของเล่น เป็นต้น
3. การใช้สัตว์เลี้ยงมาทำแคมเปญเพื่อโฆษณาหรือเป็นจุดขายในสินค้ามากขึ้น ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าสินค้าต่างๆ แม้ไม่ใช่สินค้าที่เกี่ยวกับ หรือใช้กับสัตว์เลี้ยงโดยตรง ก็มักจะใช้สัตว์เลี้ยงมาเป็นจุดขายหรือ Tie-in ร่วมกับสินค้ามากขึ้น เช่น การโฆษณาของกระดาษทิชชู่ บริษัทประกัน หรือแม้กระทั่งคอนโดมีเนียม ที่ชูการอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้เป็นจุดขาย เป็นต้น ทั้งนี้สอดคล้องกับข้อมูลของ Mandala Analytics (www.mandalasystem.com) ที่พบว่าคนไทยค้นหา และให้ความสนใจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมวอยู่ตลอด โดยจากแนวโน้มปริมาณการค้นหาใน Google ทำให้เห็นว่ามีเพจจำนวนมากเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่ผลิตคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ การทำโฆษณาร่วมกับสัตว์เลี้ยงทำให้แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับคน และน่าจดจำมากขึ้น เพราะคนสามารถจินตนาการความเชื่อมต่อระหว่างสินค้ากับสัตว์ที่รู้จักได้ง่าย
พฤติกรรม Pet Humanization อยู่ในกลุ่มผู้บริโภควัยไหนมากที่สุด
ผู้บริโภคในกลุ่ม Millennials หรือกลุ่มอายุ 18-34 ปี เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง และมีแนวโน้มในอนาคตจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีพฤติกรรมเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูกในสัดส่วนที่มากที่สุด โดยจากผลการสำรวจของ Morgan Stanley Research ชี้ว่าผู้บริโภคอายุ 18–34 ปี ถึง 75% จะมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง รวมทั้ง 65% มีความต้องการหรือวางแผนเลี้ยงสัตว์เพิ่มภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ (รูปที่ 4 ซ้ายมือ) นอกจากนี้ ผู้บริโภคอายุ 18–34 ปี ยังเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีพฤติกรรมเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูก และให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงมาเป็นอันดับแรกอีกด้วย (รูปที่ 4 ขวามือ)
ธุรกิจไหนที่ได้รับประโยชน์บ้าง?
Krungthai COMPASS มองว่า ปรากฏการณ์ Pet Humanization จะส่งผลดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจสัตว์เลี้ยงซึ่งมีจำนวนมาก ทั้งตลาดส่งออกและตลาดในประเทศไทย นอกจากนี้ บางธุรกิจอาจยังไม่มีในไทย ซึ่งก็อาจเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการอาจมอง Success Case ในต่างประเทศมาประยุกต์และต่อยอดธุรกิจในไทยได้ อาทิ
1. ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มอาหารเสริม สำหรับแนวโน้มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ยังมีโอกาสเติบโตและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก โดยจากข้อมูลของ Euromonitor คาดว่า ในปี 2021 มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก จะอยู่ที่ 110,268 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 156,960 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2026 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3% ต่อปี เช่นเดียวกับมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ในปี 2021 คาดว่าจะอยู่ที่ 40,638 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60,495 ล้านบาท ในปี 2026 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8.3% ต่อปี ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายโอกาสทั้งในประเทศและตลาดโลก ทั้งนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมันและสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 อยู่ที่ 1,468 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวสูงถึง 22.4%YoY ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของโลกซึ่งอยู่ที่ 13.7% อีกด้วย โดยเฉพาะตลาดหลักของไทยอย่างสหรัฐฯ และอาเซียน ที่ขยายตัวถึง 27.5%YoY และ 29.6%YoY ตามลำดับ (รูปที่ 5) เนื่องจากสินค้าของไทยมีคุณภาพได้มาตรฐาน อีกทั้งผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม
นอกจากนี้ ธุรกิจกลุ่มอาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงก็ได้รับนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก จากรายงานการวิจัยตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของบริษัท Packaged Facts ในสหรัฐฯ ชี้ว่า ในปี 2020 ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ มียอดขายเพิ่มขึ้น 21%YoY หรือมีมูลค่าเกือบถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งมาจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่สัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีความเฉพาะสำหรับกลุ่มสัตว์เลี้ยงสูงวัยที่เสริมสุขภาพของไขข้อและกระดูก นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ และออร์แกนิก ซึ่งผู้เลี้ยงให้ความสนใจและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยผลการสำรวจพบว่า 77% ของผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ และ 68% จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงประเภทออร์แกนิก
2. ธุรกิจให้บริการดูแลสัตว์เลี้ยง ได้แก่ การให้บริการโรงแรมหรือที่พักสำหรับสัตว์เลี้ยง การฝึกสัตว์เลี้ยง และการบริการตัดแต่งสำหรับสัตว์เลี้ยง ยกตัวอย่างบริษัท Groomit ในสหรัฐฯ ได้เปิดให้ผู้สนใจจองผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อรับบริการตัดแต่งขนสัตว์เลี้ยงถึงบ้าน ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง รวมทั้งสัตว์เลี้ยงได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ การให้บริการเดินทางรับส่งสัตว์เลี้ยง ก็มีให้เห็นกันบ้างแล้วสำหรับในไทย โดย บริษัท แกร๊บแท็กซี่ (ประเทศไทย) ได้เปิดให้บริการ GrabPet เรียกรถสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางพร้อมสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นทางเลือกให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่อาจไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หรือไม่ต้องการขับรถเอง
3. ธุรกิจอุปกรณ์ และเฟอร์นิเจอร์สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น ปลอกคอ ภาชนะอาหาร บ้านสัตว์ กรง แผ่นรองฉี่สัตว์เลี้ยงและทรายแมว เป็นต้น โดยอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ System Toilet สำหรับแมว หรือเป็นการนำทรายแมวชนิดพิเศษและแผ่นรองฉี่มาใช้ร่วมกัน ทำให้สามารถลดจำนวนครั้งในการเปลี่ยนทรายและแผ่นรองได้น้อยลง และยังช่วยลดกลิ่นได้อีกด้วย รวมทั้งผ้านวมสำหรับนอนของสัตว์เลี้ยงที่ช่วยดับกลิ่นและช่วยลดการเกาะติดของขนสัตว์ เป็นต้น
4. ธุรกิจคาเฟ่สัตว์เลี้ยง ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์และกลุ่มคนรักสัตว์ได้เป็นอย่างดี ที่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปนั่งเล่นและรับประทานอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย รวมทั้งผู้เลี้ยงก็สามารถรับประทานอาหารไปพร้อมกับสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มคนรักสัตว์แต่อาจจะไม่สามารถเลี้ยงสัตว์เองได้ก็สามารถมานั่งเล่น หรือใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงที่ทางคาเฟ่จัดหามาให้ได้อย่างน่าประทับใจ ยกตัวอย่างเช่น KitTea ร้านคาเฟ่แมวในรัฐซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ หรือในบ้านเราก็มีคาเฟ่สัตว์เลี้ยงอยู่พอสมควร เช่น BLABLA-b๋oo Premium Dog Café, Dog In Town - Dog Cafe คาเฟ่หมาเอกมัย, Caturday cat café เป็นต้น
5. ธุรกิจประกันสัตว์เลี้ยง โดยธุรกิจประกันภัยได้เข้ามามีบทบาทในการรับประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง เพื่อสร้างความอุ่นใจและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้เลี้ยง จากรายงานของ North American Pet Health Insurance Association 2021 (NAPHIA) ชี้ว่าสัตว์เลี้ยงเกือบ 3.4 ล้านตัว ในสหรัฐฯและแคนาดาได้รับประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วยตั้งแต่ปี 2016 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 18.9% และ 12.6% ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงในสหรัฐฯ มีการใช้จ่ายสำหรับประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมวเฉลี่ยอยู่ที่ 49.92 และ 28.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน สำหรับประกันภัยสำหรับสัตว์เลี้ยงในไทย เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น เช่น TIP PET LOVER ของทิพยประกันภัย และเมืองไทย Cats & Dogs Plus ของเมืองไทยประกันภัย เป็นต้น
6. ธุรกิจจัดนิทรรศการและการแสดงสินค้าเพื่อคนรักสัตว์ การจัดงานอีเว้นท์เกี่ยวกับสัตว์กลายเป็นเทรนด์หนึ่งที่มีให้เห็นต่อเนื่องและคนก็ให้ความสนใจมากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายหลังที่การระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลาย การจัดงานลักษณะนี้จะกลับมาคึกคักขึ้นอีก โดยในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มีการงานอีเว้นท์ใหญ่ๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นเกือบทุกเดือนตลอดปี และกระจายไปในหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคด้วย ซึ่งผู้ที่เข้าชมงานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากข้อมูลของบริษัท อิมแพ็คเอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ พบว่า จำนวนผู้เข้าชมงานอีเว้นท์เกี่ยวกับสัตว์เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 200,000 คนในแต่ละครั้ง
Implication:
• Krungthai COMPASS แนะนำให้ ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างจุดขายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เลี้ยงและสัตว์เลี้ยงที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อโอกาสในการส่งออกและตลาดในประเทศที่ยังเปิดกว้าง เช่น การพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากโปรตีนจากพืชและแมลงที่ได้รับความนิยมมากขึ้น สะท้อนจากผลการสำรวจของ The American Pet Products Association (APPA) ระบุว่า 51% ของผู้เลี้ยง มีความต้องการอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน สอดคล้องกับผลการสำรวจของบริษัท Petco พบว่า 55% ของผู้เลี้ยงมองหาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความยั่งยืนให้กับสัตว์เลี้ยงของตนด้วย
• นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มกิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ ผู้ประกอบการยังมีโอกาสเข้าถึงการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะเวลา 3 ปี และยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและการวิจัย รวมถึงอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก และจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment: BOI) พบว่า ในปี 2020 มีบริษัทในกิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ ได้รับการอนุมัติจาก BOI คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 2,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 24%
• ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ โดยเฉพาะ E-Commerce จากผลการสำรวจของ Morgan Stanley Research พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ผู้บริโภคมีจับจ่ายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของยอดขายสินค้าในกลุ่มสินค้าสัตว์เลี้ยงของร้านค้าปลีก เมื่อเทียบกับในปี 2019 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่มีสัดส่วนเพียง 23% นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2020 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง ผู้บริโภคมีจับจ่ายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 36% และคาดว่าพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงผ่านทางออนไลน์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งเพราะกลุ่มลูกค้าที่มี Potential กลุ่มใหญ่สุด คือ ผู้บริโภคในกลุ่ม Millennials หรือผู้มีอายุ 18-34 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมการชอปปิงออนไลน์