"ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์" คาดการณ์ว่า ในปี 2564 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ในด้านอุปทานการขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน จะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -31.3 ถึง -16.0 การขอใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -9.1 ถึง 11.2

ส่วนด้านอุปสงค์ คาดว่า หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -30.3 ถึง -14.8 แต่จำนวนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดว่าจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -18.3 ถึง -0.1 เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2563

 

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัด EEC ซึ่งเป็นจังหวัดในกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) มีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 ปี 2564

โดยอุปทานด้านการออกใบอนุญาตสรรที่ดิน พบว่าต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี หรือในรอบ 34 ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2556 และการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3 ปี 2564 ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี แต่มีทิศทางดีขึ้นโดยในไตรมาส 3 การออกใบอนุญาตก่อสร้างเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยโดยเป็นบวกร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า   ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย พบว่า จำนวนหน่วยลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น ไตรมาสที่ 10 นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 ที่เริ่มประกาศใช้มาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย

"ในภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - กันยายน) มีอัตราการขยายตัวติดลบในไตรมาส 1 ร้อยละ -2.6 ขณะที่ไตรมาส 2 มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ต่ำผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  แต่ไตรมาส 3 กลับมาติดลบอีกครั้งร้อยละ -0.3"

                ส่งผลให้ทั้งอุปทานและอุปสงค์ของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - กันยายน) หดตัวลงอย่างชัดเจน โดยอุปทานการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินลดลงทั้งจำนวนโครงการและจำนวนหน่วย ร้อยละ -31.3 และร้อยละ -34.6 ตามลำดับ แต่ด้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 โดยมีข้อสังเกตว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ส่วนด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าร้อยละ -18.3 และร้อยละ -16.3 ตามลำดับ

                 แต่ยังมีปัจจัยบวกจาก ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำมาก รวมถึงการที่รัฐบาลได้ขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทไปจนถึงสิ้นปี 2564 และลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือร้อยละ 10 ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยลดภาระของผู้ซื้อและผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

                 รวมถึงธนาคารแห่งประเทศได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยืดเยื้อมาถึงเกือบ 2 ปี นับเป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในจังหวัด EEC ลดลงไม่รุนแรงตามที่คาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ต้นปี

                  และรัฐบาลได้มีนโยบายในการเปิดประเทศในต้นเดือนธันวาคม 2564 โดยจังหวัดชลบุรี และระยองเป็นพื้นที่สีฟ้านำร่องการท่องเที่ยว และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ -6.1 ในปี 2563

                 ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2564 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ในด้านอุปทานการขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน จะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -31.3 ถึง -16.0 การขอใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -9.1 ถึง 11.2

ส่วนด้านอุปสงค์ในปี 2564 คาดการณ์ว่า หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -30.3 ถึง -14.8 แต่จำนวนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดว่าจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -18.3 ถึง -0.1 เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2563

 

สำหรับสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ไตรมาส 3 ปี 2564 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - กันยายน) มีดังนี้

1. สถานการณ์ด้านอุปทานที่อยู่อาศัย

1.1 การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน

ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินจากกรมที่ดินจำนวน 28 โครงการ 2,575 หน่วย จำนวนโครงการลดลงร้อยละ -46.2 และมีจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -59.5เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมี  52  โครงการ  6,358 หน่วย จะเห็นว่าในไตรมาสนี้ทั้งจำนวนโครงการและจำนวนหน่วยยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19  ถึงร้อยละ  -44.0 และร้อยละ -54.8 ตามลำดับ

และหากเปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง พบว่า ไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นไตรมาสที่มีจำนวนหน่วยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินในจังหวัด EEC ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี หรือในรอบ 34 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 4,043 หน่วย (ดูแผนภูมิที่ 1 และ 2)

สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – กันยายน) มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินจากกรมที่ดินจำนวน  99  โครงการ 9,665 หน่วย ลดลงทั้งจำนวนโครงการและจำนวนหน่วย โดยลดลงร้อยละ -31.3 และร้อยละ -34.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมี  144   โครงการ  14,767 หน่วย (แผนภูมิที่ 3 )

ในจำนวน 9,665 หน่วย โดยส่วนใหญ่ออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเป็นทาวน์เฮ้าส์มากที่สุด จำนวน  4,872 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.4 ของจำนวนการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั้งหมด แต่ลดลงร้อยละ    -37.4 รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยวจำนวน  2,425 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.1 ลดลงร้อยละ-37.3  และบ้านแฝดจำนวน  2,234 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.1 ลดลงร้อยละ -22.8 ส่วนที่เหลือเป็น อาคารพาณิชย์ และที่ดินจัดสรร ตามลำดับ (ดูแผนภูมิที่ 3 )

 

1.2 การออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย

            ด้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ทั้งที่เป็นบ้านที่ประชาชนสร้างเอง บ้านในโครงการจัดสรร และอาคารชุด มีจำนวนประมาณ  8,362 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 แต่ถึงอย่างไรการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3 ปี 2563 ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19  ถึงร้อยละ  -21.7 โดยแบ่งออกเป็นการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวนประมาณ  6,374 หน่วย และอาคารชุด จำนวนประมาณ 1,988 หน่วย ซึ่งที่อยู่อาศัยแนวราบมีการออก

ใบอนุญาตลดลงร้อยละ -5.8 แต่อาคารชุดมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 223.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563  (ดูแผนภูมิที่ 4 และ 5)

สำหรับใน 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - กันยายน) มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ทั้งที่เป็นบ้านที่ประชาชนสร้างเอง บ้านในโครงการจัดสรร และอาคารชุด มีจำนวนประมาณ 25,411 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 แบ่งออกเป็น

การออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบ จำนวนประมาณ 20,269 หน่วย

อาคารชุด จำนวนประมาณ 5,142 หน่วย

ซึ่งที่อยู่อาศัยแนวราบมีการออกใบอนุญาตลดลงร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 แต่อาคารชุดมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 116.3 แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563  (ดูตารางที่ 1)

2. ด้านอุปสงค์ที่อยู่อาศัย

                  2.1 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย

                  ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC จำนวน 10,087 หน่วย  มีมูลค่า 23,372 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -13.8 โดยเป็นลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สิบ นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 ที่เริ่มมีมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศออกมาควบคุมในเดือนเมษายน 2562  และต่อเนื่องมาในปี 2563 ถึงไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ถึงสี่ระลอกด้วยกัน และมูลค่าลดลงร้อยละ -13.1 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 มีจำนวน 11,698 หน่วย และมูลค่า 26,907 ล้านบาท

 

                  ทั้งนี้ในไตรมาส 3 ปี 2564 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบมากที่สุด จำนวน 7,920 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.5 ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ลดลงร้อยละ -12.5 และมีมูลค่าลดลงร้อยละ -10.9 หรือมีมูลค่า 18,404 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่มีจำนวน 9,052 หน่วย และมีมูลค่า 20,644 ล้านบาท ส่วนอาคารชุด มีจำนวน  2,167 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.5ลดลงร้อยละ -18.1 และมีมูลค่าลดลงร้อยละ -20.7 หรือมีมูลค่า 4,968 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่มีจำนวน 2,646 หน่วย และมีมูลค่า 6,263 ล้านบาท (ดูแผนภูมิที่ 6 และ 7)

 

                  สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ (หรือที่อยู่อาศัยที่โอนจากนิติบุคคล) มีจำนวน  5,335 หน่วย และโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือสอง (ที่อยู่อาศัยที่โอนจากบุคคลธรรมดา) มีจำนวน 4,752 หน่วย ทำให้สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ต่อที่อยู่อาศัยมือสองในไตรมาส 3 ปี 2564 เท่ากับ 53 : 47 ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ มีจำนวน  13,486 ล้านบาท และมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือสองมีจำนวน  9,886 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนมูลค่าที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ต่อมูลค่าที่อยู่อาศัยมือสองเท่ากับ 58 : 42

 

สำหรับใน 9 เดือนแรกปี 2564 (มกราคม - กันยายน) มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC จำนวน  26,339 หน่วย  มีมูลค่า 61,195 ล้านบาท จำนวนหน่วยและมูลค่าลดลง ร้อยละ -18.3 และร้อยละ -16.3 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 มีจำนวน  32,248 หน่วย และมูลค่า 73,115 ล้านบาท

                  โดยในจำนวนดังกล่าวมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบมากที่สุด จำนวน  19,203 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.9 ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ลดลงร้อยละ -22.4 และมีมูลค่าลดลงร้อยละ -18.2 หรือมีมูลค่า 45,531 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่มีจำนวน 24,750 หน่วย และมีมูลค่า 55,630 ล้านบาท ส่วนอาคารชุด มีจำนวน 7,136  หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.1 มีมูลค่า 15,664 ล้านบาท ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ร้อยละ -4.8 และร้อยละ -10.4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 7,498 และมีมูลค่า 17,485 ล้านบาท (ดูตารางที่ 2)

                  นอกจากนี้ยังพบว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ประเภทบ้านสร้างใหม่ (หรือที่อยู่อาศัยที่โอนจากนิติบุคคล) มีจำนวน   14,032  หน่วย และโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือสอง (ที่อยู่อาศัยที่โอนจากบุคคลธรรมดา) มีจำนวน 12,307 หน่วย ทำให้สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ต่อที่อยู่อาศัยมือสองใน 9 เดือนแรกของปี 2564 เท่ากับ  53 : 47

                  ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ มีจำนวน 35,602 ล้านบาท และมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือสอง มีจำนวน 25,593 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนมูลค่าที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ต่อมูลค่าที่อยู่อาศัยมือสองเท่ากับ 58 : 42

 

 

สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบใน 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - กันยายน) ของ 3 จังหวัด EEC ในด้านจำนวนหน่วย พบว่า เป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่ (หรือบ้านสร้างใหม่ที่โอนจากนิติบุคคล) มีจำนวน  9,119 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 24,291 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสอง (บ้านมือสองที่โอนจากบุคคลธรรมดา) มีจำนวน 10,084 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 21,240 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่ต่อที่อยู่อาศัยมือสองใน 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - กันยายน) เท่ากับ 47 : 53 ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของบ้านสร้างใหม่ต่อบ้านมือสองมีสัดส่วน 53 : 47

                  ในจำนวนหน่วยนี้เมื่อจำแนกตามระดับราคา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับราคา 2.01 3.00 ล้านบาทมากที่สุด มีจำนวน 7,027 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.6 ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 3,992 หน่วย บ้านมือสองจำนวน 3,035 หน่วย รองลงเป็นระดับราคา 1.51 2.00 ล้านบาท มีจำนวน  4,581 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.9 โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 2,203 หน่วย บ้านมือสองจำนวน 2,378 หน่วย และเป็นระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท มีจำนวน 2,649 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.8 โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 1,740 หน่วย บ้านมือสองจำนวน  909 หน่วย ตามลำดับ

                  เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับดับราคา    2.01 3.00 ล้านบาทมากที่สุด มีจำนวน 17,407 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.2 ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบทั้งหมด โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน  9,873 ล้านบาท บ้านมือสองจำนวน 7,533 ล้านบาท รองลงเป็นระดับราคา 3.01 5.00 ล้านบาท มีจำนวน 10,067 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.1

โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 6,641 ล้านบาท บ้านมือสอง จำนวน 3,427 ล้านบาท และเป็นระดับราคา 1.51 – 2.00  ล้านบาท มีจำนวน 8,174 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.0 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 3,930 ล้านบาท บ้านมือสองจำนวน 4,244 ล้านบาท ตามลำดับ (ดูแผนภูมิที่ 8 และ 9)

 

 

สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดใน 9 เดือนแรกของปี 2564 ของ 3 จังหวัด EEC ในด้านจำนวนหน่วย พบว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่มีจำนวน 4,913 หน่วย  คิดเป็นมูลค่า 11,311 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดมือสอง มีจำนวน 2,223 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 4,353 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่ต่ออาคารชุดมือสองใน 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม - กันยายน) เท่ากับ 69 : 31 ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของอาคารชุดสร้างใหม่ต่ออาคารชุดมือสองมีสัดส่วน 72 : 28

             ในจำนวนหน่วยนี้เมื่อจำแนกตามระดับราคา พบว่าส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับดับราคา 1.51 – 2.00 ล้านบาทมากที่สุด มีจำนวน 2,228 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.2 ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 1,860 หน่วย อาคารชุดมือสองจำนวน 368 หน่วย รองลงเป็นระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท มีจำนวน 1,490 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.9 โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 1,095 หน่วย อาคารชุดมือสองจำนวน 395 หน่วย และเป็นระดับราคาไม่เกิน 1.01 – 1.50 ล้านบาท มีจำนวน 1,318 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.5 โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 770 หน่วย อาคารชุดมือสองจำนวน 548 หน่วย ตามลำดับ

             ถ้าพิจารณาจากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ พบว่าส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับดับราคา   1.51 – 2.00 ล้านบาทมากที่สุด มีจำนวน 3,805 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.3 ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดทั้งหมด โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 3,172 ล้านบาท อาคารชุดมือสองจำนวน 633 ล้านบาท รองลงเป็นระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท มีจำนวน 3,655 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.3 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 2,695 ล้านบาท อาคารชุดมือสองจำนวน 959 ล้านบาท และเป็นระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท มีจำนวน 2,588 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.5 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 2,045 ล้านบาท อาคารชุดมือสองจำนวน 543 ล้านบาท ตามลำดับ  (ดูแผนภูมิที่ 10 และ 11)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์