REIC เผยดัชนีราคาที่ดินเปล่า “กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก” ราคาสูงขึ้นรับการขยายตัวเส้นทางรถไฟฟ้าเตรียมเปิดใหม่ปี 65
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยรายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2564 มีค่าดัชนีเท่ากับ 339.0 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าราคาที่ดินยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นไตรมาสที่ 6 แล้ว นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ผ่านมา
ซึ่งค่าเฉลี่ยอัตราขยายตัวย้อนหลังไป 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2562 ดัชนีราคาที่ดินเปล่าในแต่ละไตรมาสเพิ่มขึ้นโดยมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 14.8 ต่อไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.1 ต่อไตรมาสเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แสดงว่าแม้ราคาที่ดินเปล่าฯ จะยังมีการเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ซึ่งน่าจะเป็นผลจากปัจจัยสำคัญหนึ่งคือ ความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ใกล้จะแล้วเสร็จในปี 2565
ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 256
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงหลังจากโควิดสายพันธ์โอมิครอนเริ่มระบาด ทำให้ดัชนีราคาของที่ดินเปล่าฯในแต่ละไตรมาสเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัวลง โดยเฉลี่ยเหลือประมาณร้อยละ 13.8 ต่อไตรมาส เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงต่อเนื่องกันถึง 6 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดต่อเนื่องถึง 4 ไตรมาส
การเปลี่ยนแปลงของดัชนีของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล แสดงให้เห็นว่าในช่วงที่โควิดระบาดราคาที่ดินเปล่าฯ ก็ยังมีการเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ซึ่งน่าจะเป็นผลจากปัจจัยสำคัญหนึ่ง คือ ความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ที่ใกล้จะแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งในไตรมาสนี้โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับราคาเพิ่มขึ้นในบริเวณที่เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว บริเวณที่เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านเป็นหลัก และบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
แผนภูมิ ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล
ที่ดินกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ราคาสูงขึ้น รับการขยายตัวเส้นทางรถไฟฟ้า
ทั้งนี้สังเกตว่าในช่วงไตรมาส 4/64 ที่ดินกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ราคามีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น เพราะรถไฟฟ้าหลายสายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ใกล้จะแล้วเสร็จ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี), รถไฟฟ้าสายสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง), และ รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)
แผนภูมิ อัตราขยายตัวของดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล
โดยราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านในไตรมาสนี้ พบว่า 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ
อันดับ 1 BTS สายสุขุมวิท ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)
พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตจตุจักร บางนา พญาไท และพระโขนง เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลังมาประมาณ 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 305.8 หรือเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 30.6
อันดับ 2 สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และในไตรมาสนี้ มีความคืบหน้าการก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 89.5 มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)
พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตบางกะปิ มีนบุรี และสะพานสูง เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลังมาประมาณ 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 325.6 หรือเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 32.6
ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาตามเส้นทางรถไฟฟ้า 5 อันดับแรก ไตรมาส 4/64
อันดับ 3 สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และในไตรมาสนี้ มีความคืบหน้าการก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 88.7 และมีแผนที่จะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2565 มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)
พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตบางพลี ประเวศ และเมืองสมุทรปราการ เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลังมาประมาณ 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 273.7 หรือเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 27.4
อันดับ 4 Airport Link ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)
พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตดินแดง วังทองหลาง สวนหลวง และห้วยขวาง เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบย้อนหลังมาประมาณ 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 290.2 หรือเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 29
อันดับ 5 MRT ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต โดยทั้ง 2 โครงการ มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ราคาที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านในเขตบางซื่อ เป็นบริเวณที่ราคาเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง
หากเปรียบเทียบย้อนหลังมาประมาณ 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้า MRT เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 343.9 หรือเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 34.4 ส่วน สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) หากเปรียบเทียบย้อนหลังมาประมาณ 10 ปี พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 337.0 หรือเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 33.7