บทความโดย ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์
นักวิชาการอิสระด้าน Property Technology
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสเซ็ท แอคทิเวเตอร์ (Asset Activator)
อุปนายกสมาคม BIM แห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี Digital Twin Thailand

ขึ้นชื่อว่าโรงงานอุตสาหกรรม ย่อมเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงระดับสูง ยิ่งถ้าเป็นโรงงานที่มีความเกี่ยวข้องกับวัตถุติดไฟง่าย มีความเสี่ยงต่อการระเบิด ยิ่งต้องเป็นสถานที่ที่มีการป้องกันภัยในระดับสูงสุด โดยทั่วไปคือ ควรอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและนิคมนั้นควรอยู่ในระยะห่างจากเขตชุมชนเช่นกัน

แต่จากกรณีเหตุระเบิดไฟไหม้อย่างรุนแรงของโรงงานหมิงตี้เคมีคอล เมื่อกลางปีกรกฎาคมที่ผ่านมา (2564) ซึ่งตัวโรงงานตั้งมาก่อนตั้งแต่ปี 2532 ก่อนการประกาศผังเมืองรวมของจังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2544 ที่กำหนดให้พื้นที่บริเวณนั้นและใกล้เคียงเป็นเขตอุตสาหกรรม จนต่อมามีหมู่บ้านต่างๆ มากมายไปตั้งล้อมอยู่อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเมืองและที่อยู่อาศัย ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุไม่คาดคิด กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

 จะเห็นว่าโรงงานหมิงตี้ ตั้งมาก่อนนานมากตั้งแต่ปี 2532 จนต่อมามีหมู่บ้านต่างๆ มากมายมาตั้งล้อมอยู่ กลายเป็นไข่แดงที่อันตรายมาก

จากเหตุการณ์นี้มีข้อสังเกตหลายประเด็น

ประการที่ 1 : ผังเมืองประเทศไทยมีความล่าช้าไม่อัปเดตเท่าทันความเจริญเติบโตของเมือง
ผลที่ตามมาคือในเขตชานเมืองที่เริ่มมีความเป็นเมือง แต่มีโรงงานไปตั้งอยู่ก่อนนานแล้วหลาย 10 ปี ก่อนผังเมืองครอบคลุมไปไม่ถึง กลายเป็นว่ามีหมู่บ้านจัดสรรหรือชุมชนที่อยู่อาศัยต่างๆ ไปล้อมไว้แทน

ประการที่ 2 : แม้โรงงานหมิงตี้จะมีใบอนุญาตต่อเนื่อง แต่เนื่องจากไม่มีกฎข้อบังคับในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างระบบความปลอดภัยให้โรงงานเพิ่มเติมให้ทันกับโลกยุคใหม่
ผลคือโรงงานผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเบื้องต้น แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสั่งอพยพคนจำนวนมาก หรือต้องใช้กำลังคนจากหน่วยงานมากมายเข้าสนธิกำลังกันเพื่อแก้ปัญหา กลับไม่สามารถทำได้เท่าท่วงที หรือไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ในที่สุดใช้เวลานานกว่า 3 วันกว่าจะพ้นวิกฤติ

ถึงเวลาเทคโนโลยีออกโรง
หากโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อยู่ในสถานะเดียวกับโรงงานเคมีหมิงตี้มีการอัปเกรดการใช้เทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ เข้ามาช่วยเสริมระบบความปลอดภัย โอกาสในการควบคุมสถานการณ์ย่อมทำได้ดีกว่าอย่างแน่นอน

แต่ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นนั้น ควรเกิดจากการโฟกัสเรื่องอะไรบ้างละ?
(1) เรื่องการเข้าถึงข้อมูลแบบอาคารที่แม่นยำ-รวดเร็ว-เรียลไทม์ : ประเด็นปัญหานี้เป็นปัญหาเดิมๆ ของทุกงานบริหารอาคารและอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่แค่การดับเพลิง แต่รวมถึงการเข้าควบคุมเหตุฉุกเฉินต่างๆ ด้วย เพราะโดยทั่วไปแบบอาคารมักเป็นการอัปเดตไม่มีวันสิ้นสุด โดยเฉพาะหากอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นโรงงานหรืออาคารเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

การปรับปรุงอาคารโดยไม่มีการอัปเดต ‘แบบอาคาร’ ให้ตรงตามความเป็นจริง และบ่อยครั้งแบบอาคารก็มักอยู่ในอาคารที่เกิดเหตุ จนไม่สามารถเข้าไปเปิดค้นได้
ผลที่เกิดขึ้น คือ เมื่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือทีมช่วยเหลือมาถึงก็ต้องมาเดากันว่าจะเข้าอาคารอย่างไร? อุปกรณ์ช่วยเหลืออยู่ตรงไหน? ส่วนไหนเป็นวัตถุอันตราย? ทำให้เสียเวลาจนไม่สามารถทำการช่วยเหลือได้ทันการ เกิดความเสียหายมหาศาล

(2) ลักษณะของข้อมูลที่ง่ายต้องการเข้าถึงและทำความเข้าใจ : ในกรณีที่มี ‘แบบ’ ประเด็น คือ ในสถานการณ์การผจญเพลิงหรือเหตุฉุกเฉินนั้นๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะแบกแบบพิมพ์เขียวเป็นกระดาษมานั่งดู และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าแบบมาจากแหล่งข้อมูลชุดเดียวกัน ไม่ใช่คนละแบบกัน นั่นก็จะทำให้ยิ่งเกิดความสับสน

(3) การใช้เทคโนโลยี Remote Control : กรณีโรงงานหมิงตี้ หากมีการนำเทคโนโลยี Remote Control มาใช้ในการควบคุมเครื่องจักร ก็จะสามารถควบคุมวาล์ว หรือระบบที่ใช้ในการปิดระบบเก็บสารเคมี หรือวัตถุเหลวอื่นๆ ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างปลอดภัย สะดวกรวดเร็วขึ้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้มาใช้

เทคโนโลยีที่ควรคำนึงถึง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ในทางกลับกันในฐานะเจ้าของอสังหาริมทรัพย์และผู้ขับเคลื่อนงานบริหารอาคาร ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยใดหรือเลือกใช้เทคโนโลยีเบื้องต้นอะไร? เพื่อมาช่วยป้องกันเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย ไปจนถึงช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด

ปัจจัยที่ควรต้องคำนึกถึง ได้แก่
1. เทคโนโลยีการบริหารจัดการข้อมูลอาคารผ่านระบบ Cloud
นี่คือเทคโนโลยีเบื้องต้นในการนำแบบก่อสร้างและต่อเติมทั้งหมดมาปรับปรุงให้ถูกต้อง ส่งผ่านระบบ ดิจิทัลให้มีการเก็บในระบบ Cloud เพื่อที่ต่อไปนี้แบบอาคารจะไม่หายไป สามารถเข้าถึงได้จากหลายหน่วยงาน จากผู้รับผิดชอบต่างๆ

2. กำหนดให้มีการอัปเดตแบบบนระบบ Cloud ให้ตรงกับหน้างานจริง
การปรับแบบให้ตรงกับความเป็นจริง ต้องใช้กลไกทั้งในแง่เทคโนโลยีและการตรวจสอบทางกฎระเบียบ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันในหลายฝ่าย ทั้งจากภาครัฐที่จำเป็นต้องลงทุนพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจและมีความสามารถในการเข้าไปตรวจสอบการสร้างอาคารจริง เทียบกับแบบที่อยู่ในระบบ Cloud ส่วนภาคเอกชนต้องสามารถขออนุญาตต่อเติม และเข้ามาอัปเดตแบบในระบบ Cloud ได้โดยตรง (กรณีที่เป็นการต่อเติมไม่อยู่ในข่ายต้องขออนุญาต)

3. การใช้เทคโนโลยี Digital Twin มาเป็นมาตรฐานเสริมสร้างความปลอดภัย
Digital Twin ตามนิยามคือตัวตนในโลกดิจิทัลที่สะท้อนความเป็นจริงตรงกันตลอดเวลา ทั้งในแง่รูปทรงและข้อมูลประกอบ

ทุกวันนี้องค์กรชั้นนำของโลกและอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ นำเทคโนโลยี Digital twin จะใช้อย่างต่อเนื่องในการติดตามข้อมูลและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง สามารถคาดการณ์ (Prediction) รวมถึงสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อศึกษาผลกระทบได้ (Simulation) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนสูงๆ หรือต้องการความแม่นยำมากๆ อย่างอุตสาหกรรม Oil & Gas, การแพทย์ และการผลิตอากาศยาน

ปัจจุบันองค์ประกอบด้านฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ และบุคลากรที่มีความสามารถด้าน Digital Twin เริ่มปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนในประเทศไทย รวมถึงเทคโนโลยีเอื้ออำนวยให้เข้าถึงได้ง่ายและมีราคาถูกลงกว่าในอดีตมาก จึงเหมาะเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานภาครัฐสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มากำหนดเป็นมาตรการโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยเบื้องต้นให้แก่ประชาชนและผู้ใช้พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมได้

ภาพการใช้ Digital Twin ในกิจการ oil & gas ของบริษัท DNV (dnv.com)

3 องค์ประกอบสู่การวางรากฐาน Digital Twin ไม่ยากอย่างที่คิด

การวางรากฐานเพื่อพัฒนาให้เกิด Digital Twin ได้นั้น ผู้ประกอบการต้องลงทุนทั้งในแง่การสร้าง Data เฉกเช่นเดียวกับการว่าจ้างสถาปนิกและวิศวกรมาออกแบบโรงงานอุตสาหกรรมนั้นๆ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบต้องเป็นผู้ลงทุนสร้างแพลตฟอร์มเพื่อจัดเก็บและบริหารจัดการ Data เหล่านั้นเพื่อให้เกิด Digital Twin ของทุกโรงงานในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม

องค์ประกอบของ 3 เทคโนโลยีหลักที่จะทำให้เกิด Digital Twin ได้แก่

เทคโนโลยีที่ 1: Building Information Modeling (BIM)
BIM คือ แบบก่อสร้างของอาคาร ที่มีคุณลักษณะเป็น 3D และมีความเป็น Database สามารถเชื่อมโยงกับระบบ Database อื่นๆ ได้ และมีศักยภาพในการถูกปรับปรุงแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว โดยสภาวะของ BIM คือ Single Source of Truth หรือ แบบเพียงหนึ่งเดียวที่อยู่บน Cloud จะไม่มีคำว่าเป็น ‘แบบของใคร’ หรือเวอร์ชั่นไหนอีกต่อไป

ปัจจุบันการใช้ BIM Technology ในวงการออกแบบก่อสร้างอาคารของไทย เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม จนเป็นภารกิจหลักของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคม BIM แห่งประเทศไทยเองที่เพิ่งมีการก่อตั้งเมื่อปี 2562

การส่งแบบขออนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน ซึ่งจะนำไปเก็บไว้บน Cloud ควรมีการส่งในรูปแบบของ BIM เป็น Database และ เป็น 3 มิติ เพราะแบบในรูปแบบเดิมๆ เก่า ประเภทไฟล์ CAD หรือ PDF เป็นเพียงแบบ 2 มิติ นำไปใช้ได้ยากและนำไปวิเคราะห์ต่อยอดไม่ได้

Plant Design ด้วยเทคโนโลยี BIM (ภาพจาก AutoDesk)

เทคโนโลยีที่ 2 : Internet of Things (IoT)
เมื่อมี BIM Model เป็นที่เรียบร้อย และได้รับการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องมีการติดตามสถานการณ์จริง ความเป็นไปของอุปกรณ์ต่างๆ ในอาคารหรือโรงงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น ความดัน หรืออุณหภูมิ

เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) จะเข้ามามีบทบาทในการส่งข้อมูลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยตำแหน่งของอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณเหล่านี้ จะเชื่อมโยงกับตำแหน่งบน BIM Model ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ผู้เห็นข้อมูลเป็นครั้งแรกจะสามารถเข้าใจได้ทันทีและง่ายดาย ทำให้สามารถเข้าแก้ปัญหาได้ทันทีและรวดเร็ว

ทั้งนี้ข้อมูลที่สะท้อนมาอย่างต่อเนื่องจาก IoT จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถมาทำการวิเคราะห์หรือทำนายสถานการณ์ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เป็นการป้องกันความเสียที่จะเกิดขึ้น

ปัจจุบันต้นทุนอุปกรณ์ IoT ถูกลงไปมาก มีผู้ผลิตให้เลือกหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งตัวเทคโนโลยีก็ตอบโจทย์ความต้องการของอุปกรณ์ภายในโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างลึกซึ้ง จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการในการลงทุนเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อแลกกับการป้องกันและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ซึ่งนำมาต่อยอดในการลดงานซ่อมบำรุงและประหยัดพลังงานได้อีกมหาศาล

เทคโนโลยีที่ 3 : Data Analytics
เมื่อมี BIM Model และ Internet of things พร้อมก็ต้องมีการประมวลผล โดยใช้เทคโนโลยี Data Analytics เพื่อทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

ถึงวันนี้เทคโนโลยี Data Analytics เข้าถึงได้ง่ายขึ้น บางครั้งถึงกับเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์แวร์แพ็คเกจที่ใช้ในการดำเนินการผลิตของโรงงาน อีกทั้งในประเทศไทยก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมมิ่งที่สามารถพัฒนาโปรแกรมเฉพาะทางเพื่อมาตอบสนองความต้องการเฉพาะได้

สิ่งสำคัญคือการวิเคราะห์เหล่านั้น ต้องส่งมาถึงผู้ประกอบการ (หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ) และเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนที่เหตุภัยพิบัติจะเกิดขึ้น รวมถึงเชื่อมต่อข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์เหล่านั้นเข้าสู่ระบบของรัฐ ที่ต้องออกเป็นมาตรการบังคับเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง

ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในการดำเนินการมาตรฐานระดับโลกของ SCG Chemical REPCO NEX โดยในไทยมีโรงงานที่ดำเนินการได้ตรงตามมาตรฐานระดับโลกทั้ง 3 เทคโนโลยี และมีมาตรการปลอดภัยเข้มงวด รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องบน Cloud นั่นคือ บริษัท SCG REPCO Nex หรือ SCG Chemical ที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นองค์กรต้นแบบเกณฑ์มาตรฐานในการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ในการบริหารความปลอดภัยเพื่อประโยชน์ของสาธารณะได้

หากสามารถดำเนินการให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ นอกจากจะมีข้อมูลวิ่งตรงมาถึงผู้มีอำนาจหน้าที่และเจ้าหน้าที่ด้านการบรรเทาสาธารณภัยแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปถึงศักยภาพด้านการควบคุมจากระยะไกล (Remote Control) ได้

ทั้งหมดนี้อาจฟังดูเป็นการพลิกโฉมและลงทุนครั้งมโหฬารทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชนที่ดูห่างไกล แต่เชื่อเถอะว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายขึ้นและถูกลงในทุกวัน เหมือนที่เคยเห็นอาคารอัจฉริยะ รู้ใจมนุษย์ยิ่งกว่าตัวเราเองอย่างเคยเห็นแค่ในหนังไซไฟ แต่ถึงวันนี้ทุกอย่างทำได้จริงไปเกินครึ่งแล้ว เหมือนที่ครั้งหนึ่งโทรศัพท์แค่ใช้โทรคุยกัน แต่ในเวลาไม่ถึง 10 ปี คงไม่ต้องบอกว่าสมาร์ทโฟนทำอะไรได้บ้าง เช่นเดียวกันปรากฏการณ์ Digital Twin จะเกิดกับวงการอสังหาริมทรัพย์บ้านเรา