การลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Reduction) เป็นเรื่องที่สภาวิศวกรให้ความสำคัญและร่วมดำเนินการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อบรรลุเป้าหมายรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนสิ้นศตวรรษ ตามเป้าหมายที่ผู้นำโลกเห็นพ้องในการประชุม Conference of the Parties (COP) ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

สภาวิศวกร เป็นภาคีหลักร่วมดำเนินการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา โดยการสนับสนุนของ 5 กระทรวง (กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากร-ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนสามารถบรรลุเป้าหมายแรกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 300,000 ตัน CO2 จากสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการมุ่งสู่ Net Zero จึงพร้อมสนับสนุนเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ในปี พ.ศ. 2566

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า “การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องสำคัญ โดยสภาวิศวกรมุ่งส่งเสริมให้วิศวกรในทุกสาขามีส่วนร่วมดำเนินการ ปัจจุบันเทรนด์โลกให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อีกทั้งเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า วัสดุ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานโครงสร้างอาคารได้รับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐาน มีความคงทน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่ร่วมกันของโลก

อาคารที่ทำการสภาวิศวกรแห่งใหม่ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 9,000 ตารางเมตรนี้ สภาวิศวกรให้ความสำคัญถึงสภาพแวดล้อมทางภายภาพ กรอบอาคาร ระบบวิศวกรรม และมุ่งการอนุรักษ์พลังงานตามมาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES) รวมทั้งสภาวิศวกรส่งเสริมให้ใช้ ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก’ มาตรฐาน มอก. 2594 ซึ่งเป็น low carbon cement ในการก่อสร้าง สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 62,000 กิโลกรัม CO2 (เทียบเท่าปลูกต้นไม้ 7,341 ต้น) นับเป็นบทบาทสำคัญของสภาวิศวกรที่ดำเนินการสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกในการส่งเสริมและขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก”