ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก เผยยอดขายที่พักอาศัยปี 2564 ทะลุ 12,000 ล้านบาทแม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หลายระลอก  โดยบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ได้รับการตอบรับดีมาก เนื่องจากความต้องการและพฤติกรรมในการเลือกซื้อของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

 

นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายที่พักอาศัยโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย  เปิดเผยว่าแม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านจนถึงปัจจุบันยังคงได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องและวิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย  แต่ในปี 2564 ทีผ่านมา ซีบีอาร์อีสามารถสร้างยอดขายที่พักอาศัยเป็นไปตามเป้ารวมกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยหลักจากการเปลี่ยนแปลงของดีมานด์และพฤติกรรมของลูกค้าที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มมากขึ้นและคุณภาพโครงการที่สูงขึ้น

 

“ยอดขายดังกล่าวมาจากคอนโดมิเนียม 42%  บ้านหรู 39%  และที่พักอาศัยตากอากาศ 19%  และเมื่อเทียบกับปี 2563 พบว่า ยอดขายบ้านหรูในปี 2564 เพิ่มสูงขึ้น 69% ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สามติดต่อกัน   ด้านยอดขายคอนโดมิเนียมที่ซีบีอาร์อีเป็นตัวแทนก็เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อนหน้า ซึ่งในปี 2563 ยอดขายคอนโดมิเนียมมีสัดส่วนลดลงไปค่อนข้างมากเนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ค่อนข้างรุนแรง  ในขณะที่ยอดขายที่พักอาศัยตากอากาศในปี 2564 ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากในปีที่แล้วมีโครงการที่พักอาศัยตากอากาศจำนวนไม่มากนักและไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่  แต่ทั้งนี้ ตลาดโครงการที่พักอาศัยตากอากาศมียอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว” นางสาวอาทิตยาให้ความเห็น

 

ที่ผ่านมา ซีบีอาร์อีพบว่าความต้องการซื้อที่พักอาศัยเพื่ออยู่เองของลูกค้าคนไทยยังมีอยู่มาก ซึ่งตรงกับทิศทางของบริษัทฯ ในปีที่ผ่านมา ที่ให้ความสำคัญในการนำเสนอโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมคุณภาพเยี่ยมบนทำเลศักยภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเพื่ออยู่อาศัยจริงเป็นหลัก   ลูกค้าส่วนใหญ่มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อทำกิจกรรมหลากหลายภายในบ้านกับครอบครัว และการทำงานจากบ้าน (Work from Home) ทำให้ลูกค้าให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น  มีการศึกษาหาข้อมูลเปรียบเทียบก่อนการตัดสินใจซื้อ มีความใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ผลักดันให้ผู้พัฒนาโครงการต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้โครงการมีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นผลบวกที่ได้จากวิกฤตโควิด-19 และหากผู้พัฒนาโครงการสามารถปรับตัวและจับทิศทางการเปลี่ยนแปลงได้ทันต่อสถานการณ์ก็จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้

 

สำหรับตลาดบ้านเดี่ยวในเมือง ซีบีอาร์อีพบว่าบ้านเดี่ยวที่ตั้งอยู่บนทำเลที่สามารถเดินทางสะดวกเป็นที่ต้องการของผู้ซื้ออย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งแม้ว่าราคาที่ดินจะค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าของคุณภาพการอยู่อาศัยและการเดินทางที่สะดวกสบาย ตลาดกลุ่มนี้ก็ยังคงมีดีมานด์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา ซีบีอาร์อีสามารถปิดการขายโครงการบ้านเดี่ยวด้วยราคาเฉลี่ยหลังละ 56 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่สูง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของดีมานด์และกำลังซื้อของตลาดบ้านเดี่ยวใจกลางเมือง โดยบ้านเดี่ยวที่ซีบีอาร์อีปิดการขายมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 267 ล้านบาท

 

“นอกจากตลาดลูกค้าคนไทยแล้ว ในปีที่ผ่านมาซีบีอาร์อียังพบว่ามีดีมานด์จากนักลงทุนชาวจีนให้ความสนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แนวราบระดับบนในประเทศไทย โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวใจกลางเมืองในทำเลใกล้ย่านธุรกิจซึ่งสามารถเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิได้อย่างสะดวก  เป็นความต้องการบ้านเดี่ยวในระดับราคาตั้งแต่ 30 ล้านบาท ถึง 150 ล้านบาท บางรายมีความต้องการบ้านเดี่ยวในระดับราคา 300 – 400 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่พักอาศัยและทำธุรกิจในประเทศไทยมานาน และชาวจีนที่มองหาโอกาสการลงทุนในประเทศไทยและเริ่มมองที่พักอาศัยแนวราบไว้เพื่ออยู่เอง โดยลูกค้าชาวจีนนิยมบ้านบนเนื้อที่ขนาดใหญ่ มีสวนกว้าง มีพื้นที่ใช้สอยที่เปิดโล่ง เพดานสูงโปร่ง ภายในห้องมีขนาดใหญ่ สามารถจอดรถได้หลายคัน มีสระว่ายน้ำส่วนตัว และตกแต่งสวยงามแบบพร้อมเข้าอยู่” นางสาวอาทิตยากล่าวเสริม

 

สำหรับตลาดคอนโดมิเนียม ถึงแม้ว่าโดยภาพรวมยังคงดูไม่คึกคัก เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการส่วนใหญ่ชะลอการเปิดตัวโครงการออกไปจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในปีที่ผ่านมา ซีบีอาร์อีสามารถสร้างยอดขายคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 106% จากโครงการระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ (ระดับราคา 350,000 บาท ต่อตารางเมตรขึ้นไป และมีราคาต่อห้องตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป) ซึ่งเป็นตลาดที่ยังคงมีกำลังซื้อสูงและมีความต้องการที่พักอาศัยคุณภาพเยี่ยมบนทำเลศักยภาพใจกลางเมือง พร้อมการบริการและบริหารโดยแบรนด์โรงแรมชั้นนำ ซึ่งซัพพลายของโครงการระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ถือว่ายังมีจำนวนจำกัด ในขณะที่ดีมานด์ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยคอนโดมิเนียมที่มีราคาต่อยูนิตสูงสุดที่ซีบีอาร์อีปิดการขายมีราคา 220 ล้านบาทต่อยูนิต ขณะที่คอนโดมิเนียมที่มีราคาต่อตารางเมตรสูงสุดที่ปิดการขายมีราคา 479,000 บาทต่อตารางเมตร 

 

นอกจากตลาดคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่แล้ว อีกตลาดคอนโดมิเนียมที่น่าสนใจและ ซีบีอาร์อีสามารถสร้างยอดขายได้ดี คือ โครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ในทำเลใกล้สถานศึกษา ซึ่งให้ผลตอบแทนค่าเช่าที่ดี เป็นที่สนใจของนักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในระยะยาวและสามารถเพิ่มมูลค่าในอนาคต ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเช่นนี้ ผลตอบแทนการลงทุนในรูปแบบอื่นอาจมีความผันผวนสูง  การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในทำเลที่ดี มีกลุ่มผู้เช่าที่ชัดเจน และมีแนวโน้มผลตอบแทนการเช่าที่ดีและมั่นคง รวมถึงมีศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต จึงเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ

 

สำหรับตลาดที่พักอาศัยตากอากาศในปีที่ผ่านมาลดความร้อนแรงลง จากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2563 ทำยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 388% เนื่องจากในปี 2564 ไม่มีโครงการเปิดตัวใหม่ในทำเลชั้นนำอย่างพัทยา เขาใหญ่ เชียงใหม่ และหัวหิน เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการยังชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป

 

ในด้านตลาดชาวต่างชาติ จากการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านซีบีอาร์อี พบว่า สัดส่วนลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 9% ของบ้านและคอนโดมิเนียมหรูที่ขายได้ทั้งหมด โดยคิดเป็นรคอนโดมิเนียม 41% บ้านเดี่ยว 35% และที่พักอาศัยตากอากาศ 24% โดยลูกค้าต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ ชาวจีน 38% ชาวอเมริกัน 18% และชาวดัตท์ 9% 

 

“สำหรับปี 2565 ซีบีอาร์อียังคงตั้งเป้าที่โครงการบ้านแนวราบและโครงการคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่เป็นหลัก โดยเน้นการทำการตลาดออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งในปีนี้จะเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ มีการจัดการฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น และเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีกำลังซื้อซึ่งมีความต้องการบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ รวมถึงกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่มีความต้องการซื้อบ้านในเมืองมากขึ้น และหากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซีบีอาร์อีคาดว่าตลาดที่พักอาศัยโดยรวมจะเริ่มมีการปรับตัวและค่อย ๆ แสดงสัญญาณฟื้นตัวได้ภายในปีนี้” นางสาวอาทิตยากล่าวสรุป