ในปี 2564 การลงทุนโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 46% ต่อปี ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 4.1 แสนล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนมองหาโอกาสในการเพิ่มมูลค่าและเปลี่ยนทรัพย์สิน

การลงทุนโรงแรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2564 เพิ่มขึ้นถึง 46% เมื่อเทียบกับปี 2563 และมีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 4.1 แสนล้านบาท (1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดโรงแรมได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณเงินทุนที่เพิ่มขึ้นจากบรรดานักลงทุนที่ต้องการขยายการลงทุนสู่ตลาดนี้ อ้างอิงจากรายงานฉบับล่าสุดของแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ปริมาณการลงทุนโรงแรมในเอเชียแปซิฟิก (ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา: แผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี เอเชียแปซิฟิก มีนาคม 2565

“โรงแรมเป็นหนึ่งในตลาดที่พร้อมจะได้รับประโยชน์เมื่อมีการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้อีกครั้ง สำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น ตลาดโรงแรมนั้นให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับความเสี่ยง รวมถึงยังมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาด นอกจากนี้ โรงแรมยังได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะทรัพย์สินที่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เพราะโรงแรมมีการปล่อยเช่าห้องพักเป็นรายวัน ไม่ใช่รายเดือนหรือรายปีอย่างอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น” นายสตีฟ แคร์รอล หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี เอเชียแปซิฟิก กล่าว

ซีบีอาร์อีพบว่าตลาดโรงแรมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากนักลงทุนที่มองหาโอกาสในการเพิ่มมูลค่า ดังนั้น การเปิดพรมแดนและการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางส่งผลให้บรรดานักลงทุน เช่น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) การลงทุนส่วนบุคคล และการลงทุนในหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ เข้าซื้อกิจการโรงแรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อยกระดับการบริการให้แก่ผู้เข้าพักด้วยความคาดหวังถึงความต้องการสะสมจากนักท่องเที่ยว และปรับเปลี่ยนโรงแรมบางแห่งให้เป็นพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยร่วมกัน (Co-living Space)

ซีบีอาร์อีเริ่มเห็นว่ามีการเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในฮ่องกงและสิงคโปร์ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยราคาประหยัดท่ามกลางสภาวะตลาดเช่าที่พักอาศัยที่ไม่มีความยืดหยุ่นนัก นายอรรถกวี ชูแสง หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า "สำหรับประเทศไทย เจ้าของโรงแรมและผู้พัฒนาโครงการกำลังปรับวิธีการใช้พื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตในวิถีใหม่หลังจากผ่านประสบการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่บางรายอาจหาโอกาสในการขายโรงแรมของตนเอง”

“สำหรับโรงแรมต่าง ๆ ที่ให้เปิดบริการอยู่ ผู้ให้บริการและนักลงทุนหลายรายได้ใช้ประโยชน์จากช่วงที่มีการแพร่ระบาดซึ่งมีผู้เข้าพักน้อยไปกับการปรับปรุงโฉมโรงแรมใหม่เพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาพักเต็มจำนวน โดยลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ที่ถูกมาใช้เป็นจุดเด่นเพื่อสร้างความแตกต่าง” นายอรรถกวี กล่าวเสริม

การฟื้นตัวอย่างมั่นคง เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคมีการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางและเปิดพรมแดนมากขึ้น ตลาดที่พักตากอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความต้องการท่องเที่ยวของผู้คนที่สะสมมานานและนำไปสู่การฟื้นตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว การที่นักท่องเที่ยวต่างต้องการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีพื้นที่กลางแจ้งกว้างขวางส่งผลให้อัตราการเข้าพักและราคาห้องพักในโรงแรมหลายแห่ง เช่น มัลดีฟส์ ได้กลับมาสู่ระดับเดียวกับก่อนช่วงเกิดโรคระบาดแล้ว

ซีบีอาร์อีคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จะมีความต้องการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มรีสอร์ทหรือโรงแรมตากอากาศ เนื่องจากการแข่งขันระอุขึ้นบนความคาดหวังของนักลงทุนว่าอัตราการเข้าพักและจำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ในทางกลับกัน นักลงทุนยังคงมีความระมัดระวังในการลงทุนโรงแรมในเมืองซึ่งเป็นที่คาดว่าโดยรวมแล้วจะฟื้นตัวช้ากว่า ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ยังคงระมัดระวังในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง

ผู้ปล่อยสินเชื่อในบางประเทศยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดโรงแรมมากขึ้น โดยสถาบันการเงินหลักในออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้เพิ่มการปล่อยสินเชื่อให้กับนักลงทุนด้านโรงแรมที่มีประสบการณ์ ขณะที่ความคาดหวังด้านราคา ซึ่งรวมถึงส่วนลดต่าง ๆ เป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเนื่องจากกระแสเงินสดของโรงแรมเริ่มฟื้นตัวสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด

“เนื่องจากตลาดโรงแรมนี้มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว โรงแรมจึงต้องเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวหลายประเภทที่จะเดินทางเข้ามาในช่วงหลังการแพร่ระบาด นอกจากนี้ เทคโนโลยีจะมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งเพื่อเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีและความปลอดภัยสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาเพื่อพักผ่อน และเพิ่มประสิทธิภาพของห้องประชุมและการพบปะทางธุรกิจต่าง ๆ สำหรับผู้ที่เดินทางเพื่อติดต่อทางธุรกิจ การตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภคเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่จะผลักดันให้มีการนำเอาแนวคิดเรื่อง ESG หรือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) มาใช้ในตลาดโรงแรมและเป็นตัวกำหนดธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายแครอล กล่าวเสริม