บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ประกาศลงทุนในธุรกิจคาร์บอนเครดิต พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จัดตั้งธุรกิจคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย กับพันธมิตรระดับโลก บริษัท GSI เจ้าของแพลตฟอร์มจัดการธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยบล็อกเชนรายแรกของโลก เพื่อดำเนินการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ตั้งเป้า 5 ปี สร้างรายได้แตะ 2,044 ล้านบาท

นายธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) จัดตั้งธุรกิจคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย กับพันธมิตรระดับโลกคือ บริษัท GSI เจ้าของแพลตฟอร์มจัดการธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยบล็อกเชนรายแรกของโลก ที่มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี 

 

 

ทั้งนี้ ออลล์ อินสไปร์ มองว่า ธุรกิจคาร์บอนเครดิต เป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงถึง 60-70% และมีความต้องการสูงจากตลาดต่างประเทศ ขณะที่ราคาซื้อขายจะอิงจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยคาดการณ์ว่าในปี 65 บริษัทฯ ต้องการบรรลุเป้าหมายปริมาณในการค้าคาร์บอนเครดิต (Trade Carbon credit) ไว้ที่ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สร้างรายได้ราว 7 ล้านบาท

และตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2566 เป็นต้นไป พร้อมขยายธุรกิจไปสู่ Global Market ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ โดยคาดการณ์ปริมาณการซื้อ-ขายผ่าน Marketplace ของบริษัทฯ

ปี 2023 เท่ากับ 15.28 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สร้างรายได้ราว 331 ล้านบาท

ปี 2024 เท่ากับ 28.86 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สร้างรายได้ราว 886 ล้านบาท

ปี 2025 เท่ากับ 44.95 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สร้างรายได้ราว 1,741  ล้านบาท

และปี 2026 เท่ากับ 50.77 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สร้างรายได้ราว 2,044 ล้านบาท

โดย ออลล์ อินสไปร์ ถือเป็นนักลงทุนรายแรกของประเทศไทยที่เข้าสู่ธุรกิจคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่จะประกอบด้วย บริษัทร่วมทุนในประเทศไทยและในสิงคโปร์เพื่อครอบคลุมธุรกิจทั้งภายในประเทศไทยและในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินระบบ infrastructure ของแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง พร้อมเริ่มเปิดตัวMarketplace / Platform  ให้ลูกค้าสามารถเข้ามาใช้แพลตฟอร์มได้ ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มเติม features ต่างๆ ให้เต็มรูปแบบมากขึ้น โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 จะสามารถจัดตั้ง Investment Fund เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าในช่วงแรกจะใช้เงินลงทุนราว 150 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อคาร์บอนเครดิตรวบรวมจากผู้ผลิตรายเล็ก-รายกลาง

.

เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตฯ

ปัจจุบันปัญหาโลกร้อนได้ส่งผลกระทบกับชีวิตคนทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตและพัฒนาโลกโดยที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลานาน นับวันผลกระทบเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พันธกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นพันธกิจที่ต้องการความร่วมมือ จากทุกฝ่าย ทุกคน ร่วมกันสร้าง Net Zero คือ การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม หมายความว่าเราต้องทั้งลดการปล่อยก๊าซให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทั้งกำจัดก๊าซในปริมาณที่เทียบเท่ากันกับการปล่อยออกมา ภายใต้ Paris Agreement (ข้อตกลงปารีส) : ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ในการกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

เมื่อเดือนเมษายน 2564 มีประเทศที่ให้สัตยาบันในพันธกิจลดการปล่อยก๊าซถึง 195 ประเทศ นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่จะนำไปสู่การหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นไปได้จะควบคุมไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นพันธกิจที่มนุษยชาติต้องร่วมด้วยช่วยกัน คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2030 และ ลดให้เป็น Net Zero ภายในปี 2050

คาร์บอนเครดิต คือ การนำปริมาณการลดใช้ก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าเป้าหมายในแต่ละแห่งมาเปลี่ยนแปลงให้สามารถซื้อ-ขายได้ เปรียบเหมือนเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับเป็นใบอนุญาตการซื้อขายที่ก่อให้เกิดสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ สู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

คาร์บอนเครดิต ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างพันธกิจ Net Zero เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  /  ผู้ประกอบการรายใด ที่ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ ก็ยังสามารถทดแทนด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ผูประกอบการในการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ในตลาดโลก

ภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิต (MARKET SIZE) เมื่อปี 2020 มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ ประมาณ 12,000 ล้านบาท) คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือประมาณ 750,000 ล้านบาท ในปี 2030 ทั้งนี้ มูลค่าตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นอยู่กับความสามารถในการบรรลุพันธกิจ Net Zero ของทุกภาคส่วนทั่วโลก

ประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลกโดย 5 อันดับแรก  ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยนั้น อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก อยู่ที่ราว 256 ล้านตันต่อปี  ซึ่งคิดเป็น 1% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลกที่ถูกปล่อยออกมา ก๊าซเรือนกระจกนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าถึง 39%  สำหรับประเทศไทยตัวเลขในปี 2021 จำนวนประชากรประมาณ 67 ล้านคน  ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ยเทียบเท่าประมาณ 3.8 ล้านตัน ต่อปีแม้ว่าจะมีมาตรการมากมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ตัวเลข emissions ในไทยกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 53% จากปี 2000 (พ.ศ.2543)

สำหรับตลาดการซื้อ-ขาย Carbon Credits จะใช้หลัก Cap and Trade (การกำหนดเพดานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉพาะก๊าซ CO2) ในรูปของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้  ผู้ทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตคือ บริษัทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า cap ที่กำหนดไว้ ทำให้มี surplus (ส่วนเกิน) ที่สามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ กับบริษัทที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการผลิตมากกว่า cap ที่กำหนดไว้ (excess GHG emissions) สิ่งที่บริษัทต้องทำ คือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์หรือซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อทดแทน offset