นโยบายด้านที่อยู่อาศัยของผู้ว่า กทม.
ในบรรดานโยบาย 214 ข้อซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครท่านใหม่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ใช้เป็นจุดขายในการรณรงค์หาเสียง และต่อมาได้แจ้งให้ข้าราชการในสังกัดไปศึกษาทำความเข้าใจนั้น มีหลายหมวดหลายหัวข้อ แต่หากดูเฉพาะที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับหมวดอสังหาริมทรัพย์โดยตรงมี 6 หัวข้อหลัก คือ
(1) การจัดทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูก
(2) การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวคิดบ้านมั่นคง
(3) การศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ
(4) การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยโดยสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย
(5) การสร้างแนวทางรับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน หมู่บ้าน และคอนโดเก่า
(6) การปูพรมทำฐานข้อมูลชุมชนเพื่อจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานดูแลประชาชน โดยมีรายละเอียดดังนี้
การจัดทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูก จะดำเนินการออกสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูกในเมือง ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ระเบียบกฎหมายที่กรุงเทพมหานครดูแลรับผิดชอบ เช่น การดัดแปลงปรับปรุงอาคาร การจัดทำฐานข้อมูลชุมชน การจัดทำแผนที่ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง พัฒนาฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูกเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้มีรายได้น้อย และคนไร้บ้านที่ต้องการที่อยู่อาศัยราคาถูก ทั้งนี้พบว่ามีห้องเช่าราคาถูกที่ดัดแปลงอาคารเก่า หรืออยู่ตามชุมชน ตรอกซอกซอยในพื้นที่เมืองจำนวนมาก โดยกลุ่มคนไร้บ้านหรือกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้เพียงพอระดับหนึ่งอาจสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเพื่อการอยู่อาศัยรายวันราคาถูกได้ เช่น ห้องเช่ารายเดือนราคาประมาณ 1,000-1,500 บาท
การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวคิดบ้านมั่นคง จะสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวคิดบ้านมั่นคง ผ่านการร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างชุมชน กรุงเทพมหานคร และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งมิติการทำงานออกเป็นด้านที่ดิน ด้านการออม และด้านการช่วยเหลือของรัฐ
ในด้านที่ดินนั้น จะเก็บข้อมูลรายละเอียดแปลงที่ดินที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งพื้นที่ดินของเอกชนที่ไม่มีการพัฒนา พื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เต็มประสิทธิภาพของภาครัฐ เพื่อพิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพ ศึกษาการนำแปลงที่ดินที่ไม่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้จากกฎหมายควบคุมอาคารและผังเมือง เพื่อนำมาปรับปรุงให้สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาศัยอำนาจจากกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกําหนดเงื่อนไข ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสําหรับอาคารในโครงการที่รัฐจัดให้มีหรือพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่สําหรับผู้มีรายได้น้อย ที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถยกเว้นผ่อนผันกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย
ในด้านการออมนั้น จะให้ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับการรวมกลุ่มการออมและการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดที่อยู่อาศัยที่มั่นคงจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนในการสร้างระบบการออมที่ช่วยเหลือกันทั้งชุมชน สามารถนำเงินออมไปเป็นเงินตั้งต้นในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเข้ากลไกการสนับสนุนของรัฐได้
ในด้านการช่วยเหลือของรัฐนั้น จะช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนผ่านการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนศูนย์ดูแลเด็กเล็กในชุมชน ดูแลเด็กเล็กในช่วงที่ผู้ปกครองทำงาน ลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรหรือส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กในชุมชน สนับสนุนค่าเรียนฟรี สนับสนุนค่าอาหารให้นักเรียน และเพิ่มช่วงเวลาที่นักเรียนสามารถอยู่ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการสาธารณสุข ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล
อนึ่ง โครงการบ้านมั่นคงนั้นเป็นโครงการที่มีอยู่แล้วภายใต้การดูแลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั้งในเขตเมืองและชนบทโดยการสนับสนุนในมิติต่าง ๆ
การศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานคร จะศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ ทบทวนเครื่องมือหรือกลไกที่มีอยู่เดิมในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แต่เนื่องจากกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานครถูกตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จึงสมควรศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มโอกาสในการดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัย
สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นหน่วยงานการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร มียุทธศาสตร์ช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ทั้งข้าราชการ ลูกจ้าง และประชาชน โดยจะอุดหนุนให้ทำธุรกิจด้านที่อยู่อาศัยโดยไม่ควรแข่งกับเอกชน แต่อาจใช้วิธีร่วมทุนกับเอกชน อีกทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยของประชาชน
การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยโดยสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ตามพันธกิจในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย สำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยรูปแบบต่างๆ กลุ่มเป้าหมายของความต้องการที่อยู่อาศัย ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานกลางต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้คนกรุงเทพฯ มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น และติดตามผลให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์
สร้างแนวทางรับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน หมู่บ้าน และคอนโดเก่า กรุงเทพมหานครมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก ซึ่งอาศัยอำนาจการจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 (ปว.286) บังคับใช้ในปี พ.ศ. 2515 โดยมีข้อบังคับในการทำโครงการจัดสรรเป็นหลัก แต่ยังไม่มีการบังคับให้จัดตั้งนิติบุคคล และต่อมา เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 กำหนดให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลและการค้ำประกันงานสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการจัดสรร
เมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลทำให้ถนนและสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการจัดสรรอยู่ในความดูแลของนิติบุคคล แต่เมื่อนิติบุคคลนั้นหรือภาคเอกชนผู้พัฒนาโครงการจัดสรรนั้นไม่ได้ดำเนินการแล้วทำให้ถนนหรือสาธารณูปโภคเหล่านั้นไม่ได้รับการดูแล นอกจากนี้ถนนบางเส้นของโครงการจัดสรรยังเป็นถนนกึ่งสาธารณะ คือเป็นถนนที่รถสามารถสัญจรผ่านได้อย่างอิสระเหมือนถนนสาธารณะทั่วไป แต่กรรมสิทธิ์ยังเป็นของนิติบุคคลของหมู่บ้านจัดสรรอยู่ ซึ่งในหลายโครงการจัดสรร นิติบุคคลไม่ได้ดำเนินการแล้ว ทำให้ถนนและสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการจัดสรรเหล่านั้น ไม่ได้รับการดูแลส่งผลกระทบต่อทั้งผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น โดยกรุงเทพมหานครมีอำนาจในการเข้าไปดูแลปรับปรุงพื้นที่หลายประเภท เช่น ทรัพย์สินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ยินยอมให้ประชาชนเข้าใช้สอยเสมือนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยมิได้หวงห้ามหรือสงวนสิทธิ์ในทรัพย์สินติดต่อกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ทรัพย์สินซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้แสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรยกให้กรุงเทพมหานครหรือให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทรัพย์สินซึ่งเจ้าของยินยอมให้กรุงเทพมหานครใช้สอย เช่าหรือเจ้าของจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินหรือจดทะเบียนภาระจํายอมให้ หรือทรัพย์สินของส่วนราชการอื่น โดยกรุงเทพมหานครจะสำรวจรวบรวมรายชื่อ รวบรวมปัญหา ดำเนินการเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ การเช่า และการประกาศเพื่อให้สามารถเข้าไปดำเนินการได้ตามกฎหมาย และดำเนินการดูแลปัจจัยพื้นฐานของการอยู่อาศัย เช่น ไฟสว่าง น้ำไหล ถนนสะดวก ระบายน้ำดี ทั้งน้ำท่วมและน้ำเสีย เก็บขยะ ฯลฯ
ปูพรมทำฐานข้อมูลชุมชน เพื่อจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานดูแลประชาชน ปัจจุบันมีชุมชนหลายกลุ่มที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร เนื่องจากติดปัญหาบางมิติ เช่น จำนวนบ้านที่มีประชาชนอยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยหลัง หรือการต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้จัดตั้งเป็นชุมชนได้ ส่งผลให้ชุมชนหลายชุมชนอยู่นอกระบบการดูแลของกรุงเทพมหานครไม่ได้รับการสนับสนุนการดูแลโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ดังนั้น กรุงเทพมหานครจะทำฐานข้อมูลชุมชนที่อยู่นอกเกณฑ์ในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการจัดสวัสดิการช่วยเหลือขั้นพื้นฐานให้กับชุมชนดังกล่าว ได้แก่ การสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โครงสร้างพื้นฐานน้ำ ไฟฟ้า ถนน และการช่วยเหลืออื่น ๆ ในสภาวะภัยพิบัติ ให้ประชาชน สร้างคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่เหมาะสมให้กับประชาชนทุกคนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในความเป็นจริง นอกจากนโยบาย 6 ข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่อาศัยโดยตรงนี้แล้ว ยังมี นโยบายที่เกี่ยวข้องโดยอ้อมอีกหลายด้านหลายนโยบาย เช่น ด้านความมั่นคงของคนไร้บ้าน ด้านผังเมือง ด้านพื้นที่สาธารณะ ด้านพื้นที่สีเขียว เป็นต้น
นโยบาย 214 ข้อซึ่งคัดมาจากเว็บไซต์รณรงค์ระหว่างการเลือกตั้งจึงเป็นความท้าทาย ในการดำเนินภารกิจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป ทั้งนี้ บางนโยบายได้มีการริเริ่มจัดทำมาแล้วโดยผู้บริหารรุ่นก่อน บางนโยบายเคยเป็นแนวคิดมาก่อนแต่ยังไม่ได้เริ่มจัดทำหรือจัดทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และบางนโยบายเป็นแนวคิดริเริ่มใหม่ในยุคนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะได้รับการสนับสนุนดำเนินการจากท่านผู้ว่าราชการใหม่เอี่ยมให้ประสบความสำเร็จได้โดยเร็ว