กยศ. แจงกรณีข่าวอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ยืนยันคิดอัตราดอกเบี้ย 1%
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงกรณีข่าวอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจำนวนมากมีสาเหตุจากผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้และค้างชำระเป็นเวลานาน ยืนยันคิดอัตราดอกเบี้ย 1% และคิดเบี้ยปรับตามคำพิพากษา แต่หากยังไม่ถูกดำเนินคดีจะคิดเบี้ยปรับเพียง 0.5% ซึ่งเงินที่ชำระคืนกองทุนจะเป็นทุนหมุนเวียนให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “กรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับตัวเลขการให้กู้ยืมเงิน ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับของกองทุน โดยระบุว่าเบี้ยปรับของกองทุนมีอัตราที่ค่อนข้างสูง กองทุนขอเรียนชี้แจงว่า กองทุนได้ให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศจำนวนกว่า 6 ล้านราย โดยกองทุนคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% เท่านั้น ส่วนเบี้ยปรับที่มีจำนวนมากนั้น ตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนเบี้ยปรับค้างชำระ ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่ผู้กู้ยืมผิดนัดค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดเบี้ยปรับสะสมจำนวนมาก ทั้งนี้ หากผู้กู้รายใดถูกดำเนินคดี ศาลจะพิพากษาให้ชำระเบี้ยปรับในอัตรา 7.5% ต่อปี อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา กองทุนได้มีมาตรการลดหย่อน โดยลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) อีกทั้ง กองทุนได้มีมาตรการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดีไว้ เว้นแต่คดีที่จะใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกัน
ในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินงบประมาณให้กู้ยืมจำนวน 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาจำนวนกว่า 600,000 ราย ซึ่งเป็นวงเงินที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้มีแหล่งทุนนำไปใช้เป็นค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายดำรงชีพ และพร้อมปล่อยกู้เพิ่มมากกว่านี้หากมีความต้องการมากขึ้น โดยจะใช้เงินสภาพคล่องของกองทุน ไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล”
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “ในวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นวันครบกำหนดชำระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระเงินคืน โดยสามารถตรวจสอบยอดหนี้ได้ที่แอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือ https://wsa.dsl.studentloan.or.th และชำระเงินคืนผ่านโทรศัพท์มือถือได้ รวมถึงชำระผ่านช่องทางรับชำระทั่วประเทศ ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส (ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น) ไปรษณีย์ไทย บิ๊กซี และธนาคารที่กองทุนกำหนด ซึ่งเงินที่ได้รับชำระคืนมาจะเป็นทุนหมุนเวียนให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินในแต่ละปีการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง กองทุนขอขอบคุณผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกคนที่ร่วมชำระเงินคืนตามกำหนด รวมถึงหน่วยงานองค์กรนายจ้างภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง โดยกองทุนจะเป็นหลักประกันของทุกครอบครัวว่าทุกคนที่เกิดในประเทศนี้จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด