ยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนพูดถึง Ai กันมาก แล้วทุกคนก็บอกว่า ปัญหาอะไรต่างๆ ที่มีการประมวลผล คือ เราจะเอา Ai เข้ามาจัดการ

ฟังเพลินๆ อาจจะคิดว่า Ai เป็นเหมือนสมองกลอัจฉริยะที่ใช้งบสูงๆ หาซื้อมาก็ได้ ซึ่งหากคุยกับบริษัทไอทีหลายๆ แห่ง ที่อยากขายของ ย่อมบอกคุณว่า “Ai ซื้อได้แน่นอน”

แต่เราอาจจะต้องถามตัวเองก่อนว่า Ai คืออะไร? มันใช่อย่างที่พวกเราเข้าใจกันอยู่หรือเปล่า?

ถ้าบอกว่า Ai คือ “สมอง” โดยไม่สนใจความเป็นเทคโนโลยี อาจเปรียบได้ว่า Ai คือพนักงานระดับสูงสักคนที่มีความฉลาดหลักแหลม มีความรู้มหาศาล มองในเชิงของการจ้างคนมาเข้ามาทำงานนั้น “เงิน” ย่อมซื้อให้เขาเข้ามาทำงานได้เลยทันที

คำถามคือการจ้างคนที่มีศักยภาพระดับนี้มาเป็นพนักงานระดับสูงในองค์กร แล้วให้เขามาเริ่มทำงานทันที “ผลลัพธ์” ที่องค์กรจะได้ประโยชน์จากคนๆ นี้ เป็นสิ่งที่รับประกันแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่?

สำหรับเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ผ่านการจ้างพนักงานมาหลายคน จะทราบดีว่าคำตอบคือ “ไม่มีอะไรรับประกันได้” ต้อง “ลองทำงานกันดูก่อน”

ทำไมถึงไม่สามารถรับประกันได้ ในเมื่อคนๆ นี้มีความความเก่งกาจรอบตัว ไม่ได้แต่งเรซูเม่มา ทัศนคติก็ดีมาก พร้อมเรียนรู้ทุกอย่าง

คำตอบก็คือ ทุกองค์กรมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งระบบการทำงาน วัฒนธรรม ปรัชญา หลักคิด โดยเฉพาะ “ข้อยกเว้น” หรือจะเรียกว่าเป็น Unwritten rules ก็ได้

ดังนั้นพนักงานต่อให้เก่งกาจแค่ไหน เข้ามาก็ต้องปรับตัว ถ้าพนักงานคนนั้น ตั้งใจอย่างมุ่งมั่นว่า ยังไงก็สู้ไม่ท้อถอยจะปรับตัวให้สำเร็จให้ได้ สิ่งที่เขาต้องการคือ “เวลา” ที่จะเรียนรู้ เนื้อหาสาระ ข้อมูลในองค์กร

ถ้าองค์กรที่มีกฎระเบียบต่างๆ กระจัดกระจายไม่เป็นระบบ การปรับตัวเพื่อเรียนรู้จน จะใช้เวลานาน อีกสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้น คือ พนักงานคนนั้นอาจมีคำตอบในใจว่า “พอละ...ข้าอยู่แบบนิ่งๆ ชิลล์ๆ ไม่ต้อง คิดอะไรก้าวหน้ามากก็ได้ เพราะคิดอะไรก้าวหน้ามาก เท่าที่เห็นมา เขาก็ไม่เอา ได้เงินเดือนเยอะๆ ทำงานไปวันๆ ก็โอเค”

เหตุการณ์ลักษณะนี้จะบอกว่า Ai ก็ไม่ต่างกัน เพราะระบบอัจฉริยะใดๆ ไม่ว่าจะมาจากองค์กรระดับโลกจากฝั่งตะวันตกหรือตะวันออก แต่หากมันมาจาก “ภายนอกองค์กรของคุณ” ต่อให้อัจฉริยะมาจากไหน สิ่งนั้นจะกลายเป็น “ระบบโง่ๆ” ในโลกของคุณทันที เพราะมันไม่มีความรู้เกี่ยวกับองค์กรของคุณมาก่อน ต่อให้คุณเป็นคนทำโรงงานเหมือนกัน ในประเทศไทยเหมือนกัน แต่ในวัฒนธรรมแบบคุณเอา Ai ที่รู้จักแต่ระบบการจัดการโรงงานในเยอรมันมา ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

ดังนั้น Ai โดยสภาพ เงินสามารถซื้อได้เพียงเอามา “ติดตั้ง” ให้เริ่มต้นทำงานเท่านั้น แต่ในส่วนการพัฒนาให้ทำงานจนได้ผลลัพธ์นั้น ต้องให้เวลามัน “เรียนรู้”

การเรียนรู้ที่ว่านี้มาจากสิ่งที่เรียกว่า “Machine Learning” (ในที่นี่ขอไม่ลงรายละเอียด สามารถหาอ่านได้จากการเสิร์ชทั่วไป) ซึ่งการให้ระบบ Ai เรียนรู้ได้เร็วๆ ต้องจัดระบบข้อมูลในการไหลให้ถูกต้อง มีโครงสร้างการโฟลว์ (Flow) ข้อมูลที่ดี

การจะมีโฟลว์ข้อมูลที่ดี ต้องมีระบบการเก็บข้อมูลและประมวลผลที่ดี นั่นหมายถึงต้องมี “ตู้เก็บข้อมูล” ที่มีคุณภาพดีด้วย

สำหรับโลกอสังหาริมทรัพย์ ‘ตู้เก็บข้อมูล’ ที่ว่านี้ คือ Digital Twin เพราะ Digital Twin คือการสอนให้ Ai รู้จักว่าอาคารหน้าตาเป็นอย่างไร (BIM Model) สอนให้อาคารรู้ว่าข้อมูลที่วิ่งมาแต่ละเรื่อง มันจะอยู่ตรงไหน (ioT) และไปประมวลเพื่อทำอะไรต่อ (Data Analytics) แล้วสรุปมาให้มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจทำ

เมื่อ Ai พัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะเริ่มทำนายหรือคาดการณ์ (Predictive) เหตุการณ์ได้ และเมื่อฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ ระบบจะกำหนดแนวทางการแก้ไข (Prescriptive) ได้ คือ Digital Twin คอมพิวเตอร์จะบอกได้เลยว่า ต้องการให้แก้ไขอะไร เมื่อไหร่ และอาจถึงขนาดแอคชั่นเอง คือ ออกใบ PO สั่งของเพื่อแก้ไข เปรียบเทียบราคาเอง ทำเองเลย

ดังนั้นการลงทุน Digital Twin ไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในวันนี้เท่านั้น แต่เป็นการลงทุนเพื่อสะสมข้อมูล ต่อยอดไปที่การสร้าง Artificial Intelligence ขององค์กรของคุณ ที่จะทำให้ธุรกิจของคุณ มีความยั่งยืน และส่งผลต่อมูลค่าขององค์กรอย่างมากต่อไป

ข้อมูลจำเพาะ : Digital Twin (ดิจิทัล ทวิน)  คือ ฝาแฝดดิจิทัล หรือแบบจำลองเสมือนสามมิติของสินทรัพย์ เกิดจากการรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูลมหาศาลจากหลากหลายแหล่ง มาสร้างเป็นฐานข้อมูลในโลกดิจิทัลของอาคารหลังหนึ่ง หรือ อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ใดๆ ที่จะสะท้อนข้อมูลที่ถูกต้อง-ตรงกัน-เหมือนกับของจริง ตลอดเวลา

บทความโดย

ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์

นักวิชาการอิสระด้าน Property Technology

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอสเซ็ท แอคทิเวเตอร์ (Asset Activator)

อุปนายกสมาคม BIM แห่งประเทศไทย

ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี Digital Twin Thailand