เอสซีจี พร้อมภาคีสนับสนุน เปิดตัวโครงการ “รักษ์ทะเล” รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง นวัตกรรมจาก CPAC 3D Printing Solution
เอสซีจี ย้ำร่วมมือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมภาคีสนับสนุน เปิดตัวโครงการ “รักษ์ทะเล” รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง นวัตกรรมจาก CPAC 3D Printing Solution
“เอสซีจี” โดย บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิ Earth Agenda พร้อมภาคีสนับสนุน กองทัพเรือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดตัวโครงการ “รักษ์ทะเล” รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง นำเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ จาก CPAC 3D Printing Solution ขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง สร้างต้นแบบนำร่องการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ ที่มีรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ พร้อมนำ องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญจากพันธมิตร คืนกลับความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศแนวปะการัง โดยเปิดรับสนับสนุนผ่านการระดมทุนผ่านมูลนิธิ Earth Agenda
โครงการ “รักษ์ทะเล” รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง เป็นโครงการความร่วมมือมุ่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลไทยที่สร้างความมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และชุมชนคนรุ่นใหม่ ด้วยแนวคิดในการพัฒนาออกแบบวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังหรือบ้านปะการัง ภายใต้ความร่วมมือและร่วมบูรณาการองค์ความรู้ วิทยาการและชีววิทยา ทางทะเล จากทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการขึ้นรูปปูนซีเมนต์จาก CPAC 3D Printing Solution ที่สามารถพิมพ์ขึ้นรูปวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง หรือบ้านปะการังได้ใกล้เคียงเสมือนจริง เน้นการออกแบบพัฒนาโครงสร้างจากวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล สามารถปรับแต่งรูปแบบลักษณะ รวมทั้งความซับซ้อนของช่องว่าง แสงและเงาให้เข้ากับสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ที่อาศัยในบริเวณนั้นๆ
ด้วยการพัฒนาคุณสมบัติโดยเฉพาะของหินปูนในเนื้อปูนซีเมนต์ให้มีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงกับค่าของ น้ำทะเล อันเป็นการช่วยย่นระยะเวลาที่ตัวอ่อนปะการังลงเกาะ เพิ่มประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตสำหรับการปลูกถ่ายปะการัง และ ใช้ฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้น สามารถติดตั้ง ขนย้าย ได้สะดวก ง่าย โดยสามารถเพิ่มลูกเล่นการถอดประกอบชิ้นส่วนได้ ด้วยรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2563 ผลงาน “นวัตปะการัง” ภายใต้ความร่วมมือโครงการ “รักษ์ทะเล” นี้ ยังได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในด้าน อุทกกลศาสตร์ ทดสอบการตกตะกอนจากทิศทางของกระแสน้ำบริเวณรอบชิ้นงาน และศึกษาติดตามประสิทธิภาพการลงเกาะและ การเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง โดยได้มีแผนดำเนินงานนำร่องในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เขาหลัก จังหวัดพังงา เกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี ตามลำดับ
คุณพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ระบบนิเวศทางทะเลมีขนาดใหญ่และซับซ้อนที่สุดในโลก กิจกรรมทางทะเลที่หลากหลายล้วนตั้งอยู่บนฐานของการใช้ทรัพยากร การพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่กับการอนุรักษ์และการลดมลพิษในสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยระดับประเทศที่จะส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยตรง ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดการขยะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงเรื่องผลกระทบของขยะทะเล และ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ
ปีนี้ยังคงสานต่อนโยบายให้สอดคล้องกับแผนงานในปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้มีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูพื้นที่ปะการังให้สมบูรณ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 พร้อม เพิ่มพื้นที่อนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพิ่มขึ้นปีละ 1,000 ตารางกิโลเมตร และเพิ่มดัชนีคุณภาพมหาสมุทร (Ocean Health Index) ให้มีค่ามากกว่าร้อยละ 75 ในปีนี้ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรเอกชน มูลนิธิ สมาคม หรือชมรม เพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อการจัดการทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ซึ่งนี่เป็นเหตุผลให้ ทช. ได้ร่วมมือกับทุกภาคพันธมิตรในวันนี้ จากการศึกษาและติดตามผลการดำเนินการจัดทำวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังนั้นเป็นผลสำเร็จ อย่างน่ายินดี โดยพบปะการังลงเกาะเฉลี่ยมากกว่า 40 โคโลนีต่อฐาน และยังมีสัตว์ทะเลและปลาเข้ามาอยู่อาศัยกว่า 70 ชนิด ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางทะเล ทั้งยังช่วยเพิ่มทัศนียภาพที่ดีให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวดำน้ำอีกด้วย”
คุณชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี ดำเนินการธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีบรรษัทภิบาล ตามแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่
1. มุ่ง Net Zero
2. Go Green
3. Lean เหลื่อมล้ำ
4. ย้ำร่วมมือ และมีความเป็นธรรม โปร่งใสทุกการดำเนินการ
ที่ผ่านมา เอสซีจี ได้ดำเนินโครงการรักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที ในการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เช่น การทำฝายชะลอน้ำ บ้านปลา การปลูกป่า หญ้าทะเลและป่าชายเลน ฯลฯ “โครงการรักษ์ทะเล” เป็นโครงการที่เอสซีจี มุ่งมั่นในการยกระดับพัฒนานวัตกรรมมาปรับใช้ นอกจากมาตรฐานการอยู่อาศัย ได้ต่อยอดการใช้นวัตกรรมจาก CPAC 3D Printing Solution มาใช้ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรของประเทศ อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ให้ความเคารพต่อธรรมชาติและทุกชีวิตในท้องทะเลด้วยบ้านปะการัง ชูจุดเด่น ร่วมออกแบบพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกในการขึ้นแบบจำลอง 3 มิติ
รวมถึงพัฒนาสูตรปูน (Powder Extrusion) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการลงเกาะและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง จาก ความร่วมมือในโครงการรักษ์ทะเลนี้ มุ่งหวังสร้างความมีส่วนร่วมจากพันธมิตรทางธุรกิจ เครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการและสังคม ในการร่วมสนับสนุนอนุรักษ์เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือกันในอนาคตและสามารถขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนถึงคนรุ่นต่อๆ ไป”
ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองอธิการบดี ด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ผลงานนวัตปะการัง เป็นผลงานที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ด้วยการดึงเอาความโดดเด่นของโครงสร้างและลักษณะพื้นผิวจากปะการังจริงในธรรมชาติ มาใช้ในการออกแบบนวัตปะการังที่มีความเสมือนจริง กลมกลืน และสวยงาม โดยใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ซีเมนต์แบบ 3 มิติ และพ่นเคลือบผิวภายนอกด้วยสารประกอบ Nano Calcium Phosphate Particles ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของสารอาหารตัวอ่อนปะการัง มีช่องสำหรับการติดตั้งต้นอ่อน หรือ กิ่งปะการังธรรมชาติ เพื่อเพิ่มอัตราการขยายพันธุ์ให้เร็วขึ้น รวมถึงการออกแบบที่เน้นให้สามารถเคลื่อนย้ายติดตั้งได้ง่าย มีน้ำหนักเบา แต่ไม่ต้านกระแสน้ำ จากการทดสอบความสามารถการทนคลื่นใต้น้ำด้วยระบบ Hydrodynamic Testing System ที่ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAFDEC พบว่าเกิดกระแสน้ำวนขนาดเล็กบริเวณกิ่งตกแต่ง เกิดการหมุนเวียนของสารอาหารตามธรรมชาติ ช่วยส่งเสริมปะการังจริงเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มอัตราการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง นวัตปะการังยังสามารถนำไปต่อยอดได้อีกหลายรูปแบบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับปะการังเทียมในอนาคต แนวปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยวทดแทนแนวปะการังธรรมชาติ หรือ สวนปะการังใต้น้ำ (Marine Park) ที่สามารถใช้เป็น Smart Station ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสังเกตการณ์ปะการังฟอกขาวทางทะเล อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกดำน้ำ “นวัตปะการัง ประติมากรรม แห่งเทคโนโลยี เพื่อชีวิต INNOVAREEF: Sculpture of Technology for Lives”
ศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิ Earth Agenda กล่าวว่า “มูลนิธิจัดตั้งขึ้นจาก 3 หน่วยงานข้างต้น ด้วยเจตนารมณ์ มุ่งการฟื้นฟูอนุรักษ์ ให้ความรู้กับภาคประชาชนเพื่อลดผลกระทบความเสื่อมโทรม พร้อมสร้างความมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ตลอดจนเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ เครือข่ายนักดำน้ำ และผู้มีจิตอนุรักษ์ ตลอดจนการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเล เช่น โครงการจัดทำขาเต่าเทียม โครงการหญ้าทะเล และโครงการล่าสุด กับโครงการรักษ์ทะเล ที่มูลนิธิเป็นตัวกลางในการเปิดขอรับ การสนับสนุนระดมทุน เพื่อผลิตและจัดวางบ้านปะการัง ได้ที่ www.lovethesea.net แน่นอนว่า นี่คือนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้เป็นโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโลกใต้ทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศหลักและเป็นแหล่งกำเนิดของหลากหลายชีวิต เราจึงมุ่งมั่นที่จะสร้าง ความตระหนักรู้เพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยความร่วมมือรวมพลังขับเคลื่อนไปด้วยกัน”
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการ “รักษ์ทะเล” รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการังเพื่อให้ท้องทะเลไทยกลับมาสวยงามดังเดิม