วัน แบงค็อก จับมือ เอสซีจี เปลี่ยนเศษอาหาร ให้เป็นปุ๋ย แผนงานล่าสุดเพื่อความยั่งยืน
“วัน แบงค็อก” (One Bangkok) โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจร พร้อมมาตรฐานคุณภาพสูงสุด และใหญ่ที่สุดใจกลางเมืองกรุงเทพฯ สานต่อเจตนารมณ์ในการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ด้วยการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ เอสซีจี ในการจัดการเศษอาหารด้วยเครื่องย่อยเศษอาหารประสิทธิภาพสูงจำนวน 13 เครื่อง ในโครงการวัน แบงค็อก ช่วยเปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
นายลิม ฮัว เทียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ วัน แบงค็อก กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โครงการวัน แบงค็อก ร่วมกับ เอสซีจี จัดการเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงในการย่อย แปรรูปเศษอาหาร ขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดินเพื่อใช้ปลูกต้นไม้ภายในโครงการ ส่วนที่เหลือจะนำไปแจกจ่ายให้สวนสาธารณะและชุมชนรอบข้าง นอกจากจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้ชุมชน โดยการนำวิธีแก้ไขที่ล้ำสมัยมาสู่ประเทศไทย เราหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ธุรกิจและชุมชนในท้องถิ่นให้มาร่วมกันตระหนักถึงอนาคต”
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหลักการที่เอสซีจีให้ความสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ESG 4 Plus ของเอสซีจี โดยเรามีความร่วมมือกับโครงการวัน แบงค็อก ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ในหลายๆ ด้านเช่น การบดย่อยเศษหัวเสาเข็มกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบการผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป และการรีไซเคิลเศษอิฐมวลเบาที่เหลือใช้จากการก่อสร้างผลิตเป็นแผ่นอิฐมวลเบาขนาดใหญ่ที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยในครั้งนี้เอสซีจีได้ดำเนินการจัดหาเครื่องจัดการเศษอาหารประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการยอมรับและใช้ในสถานที่ชั้นนำทั่วโลกโดยเทคโนโลยีนี้สามารถเปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่แนวคิดขยะเป็นศูนย์ในไซต์ก่อสร้างและยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต”
เครื่องจัดการเศษอาหารประสิทธิภาพสูงที่นำมาใช้ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ได้รับการยอมรับและใช้ในสถานที่ชั้นนำทั่วโลก เช่น ท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ ประเทศอังกฤษ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการบริสเบน รวมถึงศูนย์การค้า Burwood Brickworks ของ Frasers Property ประเทศออสเตรเลีย และซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำในยุโรป เทคโนโลยีนี้สามารถเปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียงแค่ 10 ชั่วโมง ตัวเครื่องเป็นระบบปิด (Closed Circuit System) สามารถป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเศษอาหารขณะเครื่องทำงาน ซึ่งจะสามารถลดปริมาณเศษอาหารได้มากกว่า 80% และได้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุปรับปรุงดินที่ปลอดภัย มีแร่ธาตุตามเกณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร
ทั้งนี้ ระบบกำจัดเศษอาหารในโครงการวัน แบงค็อก จะถูกติดตั้งตั้งแต่ช่วงการก่อสร้างซึ่งจะมีเศษอาหารจากการบริโภคของคนงานก่อสร้างหลายพันคน ไปจนถึงช่วงเปิดดำเนินการของโครงการซึ่งจะถูดนำมาใช้กับทุกส่วนของโครงการวัน แบงค็อก เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านดวามยั่งยืน อันประกอบด้วย
- ลดปริมาณเศษอาหาร 780 กิโลกรัมต่อวัน หรือ 243 ตันต่อปี ในช่วงการก่อสร้าง และ 12,236 กิโลกรัมต่อวัน หรือ 4,466 ตันต่อปี ในช่วงเปิดดำเนินการ
- แปรรูปเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย 156 กิโลกรัมต่อวัน หรือ 49 ตันต่อปี ในช่วงการก่อสร้าง และ 2,447 กิโลกรัมต่อวัน หรือ 893 ตันต่อปี เมื่อโครงการเปิดดำเนินการ
- ลดก๊าซเรือนกระจก ปริมาณจำนวน 1.2 ตันคาร์บอนต่อวัน หรือ 367 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี ในช่วงการก่อสร้าง และจะเป็น 6,741 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี เมื่อโครงการเปิดดำเนินการ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ จำนวน 40,815 ต้น ในช่วงการก่อสร้าง และจะเป็น 749,035 ต้น เมื่อโครงการเปิดดำเนินการ
วัน แบงค็อก คือโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และครบวงจรที่สุดตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท บนเนื้อที่รวม 104 ไร่ หรือ 166,400 ตารางเมตร บนถนนวิทยุและถนนพระราม 4 เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว โครงการ วัน แบงค็อก จะประกอบไปด้วยอาคารสำนักงานแบบพรีเมียมเกรดเอ จำนวน 5 อาคาร พื้นที่รีเทล 4 โซน โรงแรมระดับลักซ์ชัวรี่และไลฟ์สไตล์ จำนวน 5 แห่ง และอาคารที่พักอาศัยระดับลักซ์ชัวรี่อีกจำนวน 3 อาคาร ซึ่งดำเนินงานภายใต้แนวคิดที่คำนึงถึงผู้คน ความยั่งยืน และการใช้ชีวิตแบบเมืองอัจฉริยะ โดยตั้งเป้าเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองทั้งมาตรฐาน LEED for Neighborhood Development ระดับ Platinum สำหรับการพัฒนาชุมชนแวดล้อม และมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร ซึ่งเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โครงการวัน แบงค็อก พร้อมเปิดเฟสแรกในปี ไตรมาสที่ 4 ปี 2566