อาคารเขียว แนวคิดพัฒนาอาคารอย่างยั่งยืน
โดย: ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด
ก่อนอื่นผมต้องสวัสดีสมาชิกและผู้อ่าน “Terra BKK” และแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมเป็นกรรมการผู้จัดการของ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือของบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) วันนี้เป็นวันแรกที่ผมและทีมจะเริ่มเขียนบทความลงในแพลตฟอร์มของ Terra BKK โดยจะเน้นนำเสนอแนวทางและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้แนวคิด “ยั่งยืน” (Sustainable Development) โดยให้ความสำคัญกับ 3P คือ People-ผู้คน, Planet-โลกและสิ่งแวดล้อม, และ Profit-ผลตอบแทน(ทั้งในรูปความสุข, ความสะดวกสบาย, อัตราผลตอบแทนทางการเงิน และฯลฯ) อย่างที่ Philip Kotler ปรมาจารย์ด้านการตลาดที่มีชื่อเสียงเคยเขียนไว้เมื่อปี 2559 และได้นำไปกล่าว ในงาน “World Marketing Summit Asia 2019” จนกลายเป็นคัมภีร์ของนักการตลาดในปัจจุบัน และขยายวงไปในแวดวงอื่นๆ ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ วันนี้ผมจะเล่าถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาอาคาร ซึ่งในที่นี่ผมหมายถึง “อาคารเขียว” ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาอาคารทุกประเภท ทั้งอาคารที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ และอาคารประเภทอื่นๆ โดยยึดกรอบในการพัฒนาภายใต้มาตรฐานอาคารเขียวของ LEED (Leadership in Engineer and Environment Design) ของสหรัฐอเมริกา และ WELL Building Standard หรือการอยู่อาศัยอย่างมีสุขภาวะที่ดี ที่เริ่มต้นจากประเทศแคนาดา และต่อมากลายเป็นมาตรฐานที่ใช้ไปทั่วโลก
LEED เป็นแนวคิดในการพัฒนาอาคารโดยคำนึงถึงการก่อสร้างอาคารที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ WELL เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมทั้งการประหยัดพลังงาน สิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญในเรื่องของสุขอนามัยเข้าไว้ด้วยกันโดยครอบคลุมใน 7 ประเด็นที่สำคัญที่ดีต่อสุขภาวะอนามัยในการอยู่อาศัยที่ดี ประกอบด้วย อากาศ น้ำ สาธารณูปโภค แสง การออกกำลังกาย สภาพแวดล้อม และจิตใจ กล่าวคือ
1. Air (อากาศ) คุณภาพของอากาศต้องบริสุทธิ์ ไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่น PM2.5 และมีความชื้นที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย
2. Water (น้ำ) น้ำที่ใช้ในอาคารต้องสะอาด ปลอดภัย ต้องมีอุปกรณ์การคัดกรองที่ดี ไม่มีสารตะกั่วหรือสารพิษอื่นๆ เจือปนในระบบ
3. Nourishment (สาธารณูปโภค) คือการมีอาหารสดใหม่ ไร้สารพิษ มีการปรุงอย่างถูกสุขลักษณะและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
4. Light (แสง) การมีแสงที่ดีต้องไม่ใช่แค่มีความสว่างในเชิงปริมาณ แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ การแยงตา และการมองเห็นสีด้วย
5. Fitness (การออกกำลังกาย) คือการมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้อาคาร
6. Comfort (สภาพแวดล้อม) สร้างสภาพแวดล้อมของการใช้งานอาคารให้มีเสียง แสง และอุณหภูมิที่ทำให้อยู่สบาย ปราศจากสิ่งรบกวน
และ 7. Mind (จิตใจ) คือการเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดความผ่อนคลายสบายใจ อาจใกล้ชิดธรรมชาติหรือทำให้มีบรรยากาศที่ร่มรื่น
พออ่านมาถึงตอนนี้หลายคนอาจจะรู้สึกว่าไม่เกี่ยวกับตัวเรา เป็นเรื่องไกลตัวเป็นเรื่องของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว ทั้ง LEED และ WELL Building Standard เป็นมาตรฐานการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก หรือแม้แต่การนำมาปรับปรุงสำหรับอาคารเก่า รวมไปถึงการปรับปรุงที่พักอาศัยไม่ว่าจะเป็นอาคารชุด หรือบ้านพักอาศัยของเราเอง เมื่อเราอยู่ในพื้นที่ที่มีการออกแบบโดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยที่ดี เราย่อมทำงานและอยู่อาศัยอย่างมีความสุข พักผ่อนอย่างสบาย โดยมีสุขอนามัยที่ดี
“อาคารประหยัดพลังงาน” ลดค่าไฟ ลด CO2
ในด้านของสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยอาจจะยังไม่มีชุดข้อมูลที่เปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนถึงผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานหรืออยู่อาศัยในอาคารที่ออกแบบภายใต้มาตรฐาน WELL จะแตกต่างอย่างไรจากการทำงานหรืออาศัยอยู่ในอาคารทั่วไป เนื่องจากเป็นข้อมูลเชิงนามธรรม แต่ในด้านของการประหยัดพลังงาน จากผลการศึกษาของทีม “ลุมพินี วิสดอม” พบว่า การพัฒนาอาคารสำนักงานให้เช่า เกรด B ประหยัดพลังงานขนาด 10,000 ตารางเมตร จะสามารถประหยัดพลังงานได้เฉลี่ย 270,000 กิโลวัตต์ต่อปี คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.12 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 151,470 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี ในขณะที่ต้นทุนการก่อสร้างอาคารประเภทนี้สูงกว่าการสร้างอาคารปกติ ประมาณ 0.6%เมื่อเทียบความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานกับต้นทุนการก่อสร้างแล้ว แต่ละอาคารจะใช้เวลาในการคืนทุนจากต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นภายในระยะเวลา 4.5-5 ปี โดยเฉลี่ย โดยการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานจะให้ความสำคัญในการออกแบบครอบคลุมระบบเปลือกอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในอาคาร เป็นหลัก
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าด้วยเทคโนโลยี่ในปัจจุบันการพัฒนาอาคาร หรือที่พักอาศัยภายใต้แนวคิดที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างสุขอนามัยที่ดี มีต้นทุนในการพัฒนาที่ถูกลง และเป็นประโยชน์ต่อผู้อยู่อาศัยได้ในระยะยาว
“WELL Building” เพื่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในเรื่องของ WELL ผมมีเพื่อนที่พักอาศัยอยู่ในอาคารชุดพักอาศัยแบบเปิดเครื่องปรับอากาศทั้งวัน เพื่อนผมคนนั้นต้องเข้าโรงพยาบาลหรือไปคลีนิคทุก 2 สัปดาห์ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภูมิแพ้ แต่พอเพื่อนผมเปลี่ยนพฤติกรรมการอยู่อาศัยโดยการปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดหน้าต่างให้อากาศหมุนเวียนเข้ามาในห้อง ปรับระบบส่องสว่างภายในห้อง ปลูกต้นไม้ โดยนำหลักการง่ายๆ ของ WELL มาใช้ ปรากฏว่า อาการภูมิแพ้ดีขึ้นจากที่ต้องไปหาหมอทุก 2 สัปดาห์ ก็ไม่ต้องไปรักษาโรคภูมิแพ้แล้ว เพราะสภาพอากาศหมุนเวียน ปลอดโปร่ง ประหยัดค่ารักษาพยาบาลไปได้เยอะ แถมยังมีสุขภาพที่ดีขึ้น
กรณีของเพื่อนผมเป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำแนวคิดเรื่องอาคารเขียว มาปรับใช้ในห้องชุด “อาคารเขียว” จึงไม่ใช่เรื่องของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ในสถานที่ทำงาน และที่พักอาศัยได้ เกริ่นมายาวๆ แบบนี้ผมว่าหลายคนก็เริ่มจะสนใจ อาคารเขียว และการปรับปรุงอาคารหรือที่พักอาศัยของตัวเองให้เป็นอาคารเขียว เพื่อประหยัดเงินในกระเป๋าในระยะยาวจากการประหยัดพลังงาน และเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตัวเอง จากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้คำนึงถึงสุขอนามัยที่ดี กันแล้ว
เรามาเริ่มกันที่ การให้ความสำคัญในเรื่องของสุขอนามัย (Wellness) ในการออกแบบที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิดนี้ การออกแบบและการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ต้องคำนึงถึงเรื่องของสภาพแวดล้อมและสุขอนามัยที่ดีต่อผู้อยู่อาศัย ลดการสัมผัส (Touchless) ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งในพื้นที่โครงการที่พักอาศัยและเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันมีวัสดุก่อสร้างและของใช้ภายในอาคารที่คำนึงถึงเรื่องสุขอนามัยให้เลือกมากขึ้น ต้องมีการจัดฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีความหลากหลายและสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน (Multi-Function) เพื่อรองรับกับรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานที่บ้านได้ การเว้นระยะห่างในพื้นที่ส่วนกลาง การปรับเปลี่ยนแนวคิดจากสังคมแบ่งปันในรูปแบบของ Co-Working Space มาสู่แนวคิดการใช้พื้นที่ส่วนกลางในรูปแบบของ Co-Separate Space เป็นการใช้พื้นที่ร่วมกันแบบมีระยะห่าง ทำให้การออกแบบการใช้พื้นที่ส่วนกลางในโครงการทั้งแนวราบและอาคารชุดต้องเปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบเช่นเดียวกับการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล (Virtual Livable Connect) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบโครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในโครงการมากขึ้น
การนำแนวคิดในการออกแบบที่เรียกว่า การออกแบบเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Design) มาใช้ในการออกแบบ เป็นแนวคิดของการออกแบบโดยคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุ การใช้พลังงานและทรัพยากรของอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือ คาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ในอากาศ รวมถึงเรื่องของการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อย่างประหยัด เพื่อตอบโจทย์กับการสร้างสุขอนามัยที่ดีในการอยู่อาศัย โดยป้จจุบันมีเทคโนโลยีในการออกแบบที่มีประสิทธิภาพอย่าง Building Information Modeling หรือ BIM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการออกแบบที่มีประสิทธิภาพในการบริหารการออกแบบและการก่อสร้างโครงการโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม การจัดฟังก์ชั่นการใช้งาน รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีการอยู่อาศัยเข้าไปใช้ในการออกแบบเพื่อตอบโจทย์กับรูปแบบการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงสุขภาพและสภาพแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
จากผลการสำรวจของ“ลุมพินี วิสดอม” พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้พักอาศัยในคอนโดลุมพินีกว่า 84% ต้องการใช้ชีวิตประจำวันในพื้นที่ส่วนกลางในการผ่อนคลายกับธรรมชาติ นอกจากนั้น 79% ต้องการพื้นที่ออกกำลังกาย และอีก 75% ต้องการพื้นที่นั่งทำงานหรือทำกิจกรรมงานอดิเรกแบบบุคคล/กลุ่ม ซึ่งสอดคล้องกับรายงานประจำปี 2564 ของจาก Google ที่พบว่าผู้บริโภคมีการใช้ระบบค้นหาข้อมูล (Search engine) ของ Google ค้นหาประโยคคำว่า “หาหมอออนไลน์” สูงขึ้นกว่ากว่าปี 2563 กว่า 122% เมื่อนำมาพิจารณาควบคู่กับข้อมูลยอดขายนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart watch) ทั่วโลก ซึ่งปกติแล้วนาฬิกากลุ่มนี้จะมีฟังก์ชันตรวจสอบสุขภาพขั้นพื้นฐานเช่น อัตราการเต้นของหัวใจ วัดอัตราการวิ่ง ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การออกกำลังกาย มียอดขายทั่วโลก 14.93 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2563 เพิ่ม 16% จากปี 2562 โดยเป็นยอดขายจำนวน 17.35 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2564 ซึ่งเป็นยอดขายที่เติบโตสูงกว่านาฬิกาหรูหรา และมีการคาดการณ์ว่ายอดขายจะถึง 30.88 พันล้านดอลลาร์ในปี 2568
หลังจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019(COVID-19) ตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป การพูดถึงอาคารเขียว ที่คำนึงถึงการประหยัดพลังาน และสุขภาวะที่ดี(Energy Saving and WELL Building Standard) ผมมั่นใจว่า “อาคารเขียว” ไม่ใช่กระแส(Trend) แต่เป็นสิ่งต้องเกิดขึ้น (Must Have) และเกิดขึ้นแล้ว และกำลังเป็นมาตรฐาน(Standard) ของการพัฒนาอาคารทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย
วันนี้จบแค่นี้ก่อน แล้วพบกับเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development) กันในเดือนตุลาคมนะครับจะเป็นเรื่องอะไรต้องอดใจรอครับ สวัสดีครับ