LPP ใช้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน EOC รับมือโครงการในพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - น้ำท่วมฉับพลัน
แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ ใช้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน EOC เป็นหน่วยงานเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันภายในโครงการที่บริหารงาน พร้อมจัดมาตรการรับมือตามระดับความเสี่ยงของแต่ละโครงการพร้อมจัดการภายใน 24 ชม. หวังลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้พักอาศัยให้ได้มากที่สุด
นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) บริษัทบริหารจัดการโครงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึง การเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันภายในทุกพื้นที่โครงการทั้ง 240 แห่ง ที่ LPP บริหารงาน จากกรณีปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องรวมถึงมวลน้ำเหนือก้อนใหญ่ที่กำลังเคลื่อนตัวลงมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ โครงการพักอาศัยที่ใกล้แหล่งน้ำ จึงได้จัดให้มีมาตรการในการดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ภายใต้แนวคิด “ร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน” โดยมีการบริหารสถานการณ์ผ่านศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (Emergency Operations Center- EOC) ใช้แผนยุทธศาสตร์และเป็นจุดรับแจ้งเหตุ ประสานงานและส่งกำลังคนลงพื้นที่ช่วยเหลือทั้งโครงการที่บริหารและพื้นที่ใกล้เคียง
แนวทางการรับมือเริ่มจากจัดเจ้าหน้าที่ตรวจตราบริเวณพื้นที่โดยรอบโครงการเพื่อสังเกตการณ์สำรวจประเมินระดับน้ำ โดยจะแบ่งระดับความเสี่ยงของพื้นที่ออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับความเสี่ยงสูง (สีแดง) ความเสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) และความเสี่ยงต่ำ (สีเขียว) มีการจัดทำรายงานประจำวันของแต่ละโครงการเพื่อสรุปข้อมูลส่งเข้าศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (EOC) ทั้งนี้มีโครงการอยู่ในสถานการณ์การเฝ้าระวังจำนวน 12 โครงการที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และ 48 โครงการที่อยู่ในระดับความเสี่ยงปานกลางซึ่งอาจได้รับผลกระทบ
โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน EOC จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องจากทีมงานของแต่ละโครงการและกระจายขอแรงสนับสนุนต่อไปยังโครงการที่ไม่เกิดเหตุ อาทิ การบริหารจัดการปั๊มน้ำในเครือข่ายให้เต็มประสิทธิภาพ และบริหารจัดการกำลังคน ซึ่งจะมีข้อกำหนดระยะเวลาการเข้าดูแลและดำเนินการช่วยเหลือภายใน 24 ชั่วโมง (Same Day Approach) หลังจากได้รับแจ้ง ทั้งในเรื่องของการจัดหา ติดตั้งอุปกรณ์และสนับสนุนกำลังคน สำหรับโครงการที่เข้าขั้นวิกฤตจะดำเนินการเข้าช่วยเหลือทันที
“จากการประกาศเตือนของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันในกรุงเทพมหานคร LPPเองก็ได้จัดเตรียมมาตรการในการดูแล เฝ้าระวัง เตือนภัย และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ทันที เพื่อเตรียมรับมือและลดความเสียหายให้แก่ผู้พักอาศัยภายในโครงการที่ LPP ดูแลได้มากที่สุด ซึ่งจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ตามโครงการต่างๆ พบว่ามีประมาณ 50 โครงการที่เข้าข่ายอยู่ในพื้นที่เสี่ยงทั้งระดับเสี่ยงสูงและเสี่ยงกลาง ซึ่งมาตรการฉุกเฉินเฉพาะที่เราเตรียมแผนจัดตั้งและสนับสนุนนี้จะสามารถสร้างความมั่นใจ อุ่นใจให้แก่ผู้พักอาศัยได้คลายกังวลหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ปัจจุบันโครงการที่ LPP ดูแลยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ด้วยความใส่ใจของเจ้าหน้าที่ที่มีการเตรียมความพร้อมหน้างานอย่างใกล้ชิด” นายสุรวุฒิกล่าว