นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ถอดรหัสความกล้า พลิกโฉมประเทศไทยในเวทีโลก” ในงานประกาศจุดยืนและบทบาทใหม่ “EXIM BANK รวมพลคนกล้า พัฒนาเพื่อคนไทย” ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้3.4% ส่วนการส่งออกเติบโตได้ 8.1% ซึ่งการส่งออกมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยอาศัยบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงบทบาทของ EXIM BANK ผลักดันให้เกิดมูลค่าการค้าและการลงทุนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยอาศัยการพัฒนารากฐานภายในประเทศ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบที่เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศการค้าการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต สอดรับกับเมกะเทรนด์โลก

ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงนี้ ไทยจะต้องประคองเศรษฐกิจไปต่อให้ได้ ซึ่งปัจจุบันธปท. ก็เข้าไปดูว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นกับใครบ้าง เพื่อเข้าไปบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน เพราะในช่วงที่เกิดโควิดนั้น ทำให้ประชาชน และธุรกิจขาดรายได้ กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ให้ต่ำลง แม้เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นแต่ปัญหาหนี้ยังอยู่ ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็อยู่ในช่วงของการฟื้นฟู  ซึ่งธนาคารรัฐก็พยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน

ล่าสุดกระทรวงการคลังได้จัดมหกรรมรวมใจแก้หนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาแก้ปัญหาโครงสร้างหนี้กับธนาคารรัฐทุกแห่ง โดยงานนี้จะจัดขึ้น 5 ครั้ง ลูกหนี้ของธนาคารรัฐสามารถเข้าร่วมได้ภายในงานหรือที่สาขาของแบงก์รัฐที่เป็นเจ้าหนี้ โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ย.นี้ ครั้งที่ 2 ที่ จ.ขอนแก่น วันที่ 18-20 พ.ย.นี้ ครั้งที่ 3 ที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 16-18 ธ.ค.นี้ ครั้งที่ 4 จ.ชลบุรี งวันที่ 20-22 ธ.ค.นี้ และครั้งที่ 5 ที่ จ.สงขลา วันที่ 27-29 ม.ค.66

โดยในงานจะมีกิจกรรมประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่  

1. การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือการปรับเงื่อนไขการชำระนี้ เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง 

2. การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ซึ่งจะสามารถลดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนได้ในระยะยาว และสามารถขอรับสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือเป็นแหล่งทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

3. การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยการส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง และการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เพื่อสร้างความตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินและส่งเสริมการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงการเป็นหนี้และ
มีการวางแผนทางการเงิน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจตลอดงาน เช่น การตรวจข้อมูลเครดิตโดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การขายสินทรัพย์ NPA ของสถาบันการเงิน บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด รวมทั้งกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโดยผู้ทรงคุณวุฒิตลอดงาน

สำหรับภาพรวมหนี้เสียของระบบสถาบันการเงิน ณ กลางปีนี้ ยังทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมียอดหนี้เสียจำนวน 8.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.47% ของสินเชื่อคงค้าง 24 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นหนี้เสียของแบงก์เอกชน 5.2 แสนล้านบาท หรือ 3% ของสินเชื่อรวม ส่วนแบงก์รัฐมีหนี้เสีย 3 แสนล้านบาท หรือ 5% ของสินเชื่อรวม