การที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ(Senior Aging Society) ตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2573 ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 21% โดยผู้สูงอายุแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่สามารถดูแลตัวเองได้ (Independent Living / Active Aging) กับกลุ่มที่ต้องมีผู้ดูแล (Assisted Living) ซึ่งเข้าข่ายของสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ วันนี้ผมเลยอยากมาแบ่งปันแนวคิดในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยนำโมเดลการพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชนของผู้สูงอายุหลายๆ แห่งในต่างประเทศมาเปิดมุมมองใหม่ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชนสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย

โดยแนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุมีอยู่หลายแนวทาง แต่ที่ผมจะหยิบยกมาเป็นผลการศึกษาของ Gensler บริษัทออกแบบและวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกจาก ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ระบุถึงแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุไว้อย่างน่าสนใจใน 5 แนวทางประกอบด้วย

  1. ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน (Community Relationship) จากผลการสำรวจพบว่า 69%ของผู้สูงวัยต้องการอยู่อาศัยในชุมชนเดิม มีความรักและผูกพันกับพื้นที่ในละแวกบ้าน การพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ในพื้นที่ชุมชนเดิมจะทำให้ผู้สูงอายุสามารถที่จะใช้ชีวิตที่คุ้นเคยในที่อยู่อาศัยที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
  2. ที่อยู่อาศัยที่ผสมผสานการออกแบบให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย และการใช้ชีวิตของคนทุกวัย (Mixed-use, mixed-income, multigenerational lifestyle developments)  เป็นโมเดลใหม่ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ เช่น การออกแบบยูนิตคอนโดมิเนียมที่ยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนกับยูนิตที่อยู่ติดกัน สำหรับให้เป็นที่อยู่ของผู้ดูแลผู้สูงอายุในขณะที่ก็สามารถรองรับการอยู่อาศัยของครอบครัวใหม่ หรือคนวัยทำงานที่ต้องการแบ่งพื้นที่กับเพื่อนได้ คนสูงอายุไม่จำเป็นต้องอยู่กับผู้สูงอายุด้วยกันเท่านั้น แต่ควรอยู่กับคนหลากหลายเจนเนอเรชั่น เป็นชุมชนที่เกื้อกูล และสร้างสังคมใหม่ในการอยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ
  3. ยกระดับการดูแลผู้สูงอายุ  เป็นบริการที่กำลังเติบโต และเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดจะเปลี่ยนไป โดยมุ่งเน้นไปที่การดูแลผู้สูงอายุทั้งทางด้านบุคคลากร ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ  โดยการนำองค์ความรู้การดูแลผู้สูงอายุจากสถานพยาบาล ศูนย์สุขภาพมาพัฒนาเป็นงานบริการที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัยและในชุมชน
  4. การนำ Gerontechnology มาใช้สำหรับผู้สูงอายุ Gerontechnology เป็นศาสตร์การใช้เทคโนโลยีมาตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ตั้งแต่ด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย การสื่อสาร การพักผ่อน และการทำงาน ซึ่งช่วยให้ผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่คนเดียวหรือไร้ผู้ดูแล ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก ปลอดภัย
  5. โมเดลการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับ Active adults จะมาแทนที่ One-size-fits-all ลบภาพจำบ้านพักคนชราแบบเก่า (One-size-fits-all) ออกไป สำหรับผู้สูงอายุที่ยังทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ยังสามารถที่จะทำงานได้  นั่นหมายถึงที่อยู่อาศัยต้องตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลได้ โดยมุ่งเน้น 7 มิติของสุขภาพ คือ ปัญญา ร่างกาย สังคม จิตวิญญาณ อาชีพ การเงิน และอารมณ์ ดังนั้น ผู้สูงอายุอาจจะไม่ได้ต้องการย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา แต่อยู่อาศัยในโครงการคอนโดมิเนียม หรือโครงการบ้านพักอาศัยทั่วไปในย่านเดิมโดยที่โครงการเหล่านั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ 7 มิติสุขภาพดังกล่าว

จาก 5 แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุของ Gensler ทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Design Center: PDC) ของ “ลุมพินี วิสดอม” ได้มีการศึกษาถึงแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ โดยเริ่มต้นจาก

-การพัฒนาโครงการในพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีที่อยู่อาศัยหนาแน่นอยู่แล้ว โดยอาจเป็นโครงการขนาดเล็กแทรกตัวอยู่ในพื้นที่ ของแต่ละชุมชน

จากแนวคิดที่ว่า ผู้สูงอายุ จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเมื่ออยู่อาศัยในชุมชนเดิม การพัฒนาพื้นที่ในชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็น จากการศึกษาสังคมผู้สูงอายุ ในหมู่บ้าน เปสเกวซา หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีการพัฒนาโครงการเพื่อการพักอาศัยของคนสูงอายุในประเทศสเปน ประเทศสเปน เป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก หมู่บ้านแห่งนี้มีผู้อยู่อาศัยทั้งหมด 130 คน 2 ใน 3 ของประฃากรเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ได้มีโครงการที่ไม่แสวงหากำไรที่ชื่อว่า "พักกับเรา" (Stay with Us)  ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนางานบริการที่จำเป็นต่าง ๆ ตามที่ผู้สูงอายุต้องการในชุมชน โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นมากนัก และความสำเร็จของโครงการนี้กลายเป็นต้นแบบให้หมู่บ้านแห่งอื่นในประเทศสเปนได้ทำตาม

เฃ่นเดียวกับ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุโฮกะเวย์ (The Hogewey Care Centre) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถ้าเข้าไปในศูนย์แห่งนี้สิ่งแรกที่เห็นจะดูเหมือนเมืองธรรมดาๆ เมืองหนึ่งที่มีจัตุรัสกลาง ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านตัดผม โรงละคร ผับ และร้านกาแฟ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่าเมืองนี้ไม่ใช่เมืองธรรมดาๆทั่วไป เพราะที่นี่ถูกสร้างและออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่เป็นโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุโฮกะเวย์ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552  นับเป็นที่แรกในโลกที่สร้างหมู่บ้านสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะ จุดประสงค์คือการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามปกติในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ ความพิเศษคือมีสมาชิกของทีมแพทย์จำนวน 250 คนปลอมตัวเป็นเจ้าของร้านขายของชำ เจ้าหน้าที่ที่ทำการไปรษณีย์ หรือแม้แต่พนักงานเสิร์ฟในร้านกาแฟ เพื่อดูแลผู้สูงอายุในเมืองแห่งนี้ นอกจากนี้ บ้านแต่ละหลังยังมีการตกแต่งที่แตกต่างกัน อย่างเช่น บ้านที่ตกแต่งแบบคนเมือง หรือตกแต่งแบบคนชนชั้นสูง เพื่อให้ผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่อาศัยรู้สึกคุ้นเคยเหมือนได้อยู่บ้านเดิม  

นอกจากนี้ที่เมือง ฟูจิ ซาวา จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่นมีแนวคิดรวมศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกับเด็กเข้าด้วยกัน เรียกว่าศูนย์ Aoi Care  นำกิจกรรมมาสร้างปฏิสัมพันธ์กันอย่างอิสระระหว่างผู้สูงอายุกับเด็ก ผู้สูงอายุสามารถเข้าไปเป็น ทีมงานดูแลเด็กๆ เช่นการเสิร์ฟอาหารและการเปลี่ยนผ้าอ้อม (แพมเพิร์ส)และด้านของเด็กๆเองก็สามารถเข้าไปเยี่ยมผู้สูงอายุได้เช่นกัน พวกเขาสามารถใช้ช่วงเวลาดีๆร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะทางจิตใจที่ว่า “ผู้สูงอายุเป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่ง”

-การออกแบบและเลือกวัสดุที่มีความความปลอดภัยต่อการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากการสร้างชุมชนที่มีปฏิสัมพันธ์และดูแลผู้สูงอายุแล้ว ปัจจุบันเทคโนโลยี่และนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อให้ที่อยู่อาศัยสามารถตอบโจทย์กับการใช้งานในแบบ Universal Design ได้ รวมถึงการพัฒนาและออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์กับการใช้งานของผู้สูงอายุ จากผลการศึกษาของ “ลุมพินี วิสดอม” พบว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจำเป็นต้องเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะกับการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุจะเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำ ดังนั้น ห้องน้ำจึงเป็นพื้นที่แรกในบ้านที่ควรปรับปรุง โดยติดตั้งราวจับช่วยพยุงตัว ใช้กระเบื้องพื้นที่มีผิวหยาบโดยค่ากันลื่นที่ R10 ขึ้นไป เลือกสุขภัณฑ์ที่แข็งแรงไม่แตกหักง่าย โดยเฉพาะโถสุขภัณฑ์ระดับนั่งไม่ควรต่ำเกินไปทำให้ลุกยาก และห้องน้ำควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ เช่นเดียวกับการเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ตอบรับการใช้งานของผู้สูงอายุ ควรเลือกเก้าอี้และโซฟาที่มั่นคงไม่ล้มง่าย เพราะผู้สูงอายุมักจะทิ้งน้ำหนักเพื่อพยุงตัวในขณะลุกหรือนั่ง ที่นั่งตื้นเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาหัวเข่า มากกว่าที่นั่งที่ลึก ที่นั่งที่สามารถปรับเอนได้เหมาะกับการพักผ่อนในตอนกลางวัน ที่รองขาจำเป็น ในการยกขาให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการเหน็บชาเบาะสามารถถอดซักทำความสะอาดได้ง่าย โต๊ะหรือชั้นวางของควรมีขอบมุมที่มนป้องกันการกระแทก ติดตั้งชั้นวางของที่อยู่ในระยะเอื้อมถึง ไม่สูงเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้บันไดปีน และฟูกที่นอนควรสูงจากพื้น 45-50 เซนติเมตร

ในขณะเดียวกันห้องผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ถ่ายเทความร้อน-เย็น กับสภาพแวดล้อมเร็วเกินไป เช่น พื้นกระเบื้อง พื้นหิน เพราะเมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกไม่สบายตัว ร่างกายต้องปรับอุณหภูมิบ่อยอาจเกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น พื้นไม้ซึ่งอุณหภูมิคงที่จึงเหมาะกว่า ช่วยลดแรงกระแทกหากลื่นล้ม และลายไม้ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังมีวัสดุพื้นลดแรงกระแทก ลายไม้ ทำจาก PVC  ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน รวมถึงบันไดสำหรับผู้สูงอายุต้องมีราวจับยึดเกาะทั้งสองด้านโดยเป็นราวจับที่มั่นคงสูงจากพื้น 80 ซม. ในขณะที่มือจับประตูควรเปลี่ยนจากลูกบิดเป็นแบบก้านโยก  เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

-การนำเอาเทคโนโลยี่มาใช้เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ

ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี่เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตสำหรับผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยี่แบบ Smart Home ที่สามารถตอบโจทย์ความสะดวกสบาย สามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ  รวมถึงการเปิดปิดไฟด้วยเสียง หรือ Motion sensor  โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย เช่น ปุ่มฉุกเฉินที่ห้องน้ำและหัวเตียง เพื่อส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยัง ครอบครัว ผู้ดูแลอาคาร หรือโรงพยาบาลได้ รวมถึงการเตรียม WiFi ให้พร้อมสำหรับการใช้งาน จากการสำรวจของ NRF พบว่าคนรุ่น Baby Boomer กว่า 47% ใช้ Social Network เพิ่มมากขึ้น โดย 75% มีบัญชี Facebook ของตนเอง ชื่นชอบการส่งต่อข้อมูลให้กับเพื่อนๆ รวมถึงใช้ติดต่อ กับครอบครัวเพื่อคลายเหงา นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังชื่นชอบการสั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การติดตั้ง WiFi ที่ทั่วถึงทั้งบริเวณพักอาศัย จึงเป็นสิ่งจำเป็น

-นำเกณฑ์การออกแบบอาคารด้านสุขภาพมาปรับใช้ ปัจจุบันได้มีการพัฒนามาตรฐานการออกแบบโดยคำนึงถึงสุขอนามัยที่ดีจากสถาบันหลายแห่ง เช่น มาตรฐาน WELL, FitWell หรือ SOOK รวมไปถึง เกณฑ์อาคารเป็นสุข ของสถาบันอาคารเขียวไทย ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงสุขอนามัยและสภาพแวดล้อมที่ดีในการอยู่อาศัย ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เหมาะจะนำมาใช้ร่วมกันในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุในประเทศไทยได้ 

ผมเชื่อว่าผู้สูงอายุเป็นบุคคลากรที่สำคัญของประเทศเป็น “วัยเก๋า” ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ความสามารถ ผู้สูงอายุหลายท่านยังสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมามาทำงานสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม โดยที่ไม่เป็นภาระให้กับสังคม การพัฒนาชุมชนและที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่อุดหนุนและเกื้อกูลกัน ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมไทย

แล้วพบกันใหม่ในเดือนสุดท้ายของปี จะเป็นเรื่องอะไรรอติดตามกันนะครับ