ส.อ.ท. แนะรัฐคุมต้นทุนพลังงาน ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 24 ในเดือนธันวาคม 2565 หัวข้อ “อุตสาหกรรมไทยจะเดินต่ออย่างไร ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว” พบว่า ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นส่งสัญญาณเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จากผลกระทบของสงคราม ปัญหาความขัดแย้ง แรงกดดันต่อวิกฤตพลังงาน และสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้องค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินการค้าโลก ในปี 2566 จะชะลอตัวลงเหลือเพียง 1% จากปี 2565 ที่การค้าโลกขยายตัวถึง 3.5% จากผลกระทบของตลาดส่งออกที่ชะลอตัวทั้งในยุโรป และสหรัฐฯ
ทั้งนี้คาดว่าสัญญาณเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน “ระดับปานกลาง” โดยต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจโลก จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ดังนั้นจึงขอเสนอให้ภาครัฐช่วยดูแลต้นทุนราคาพลังงานให้เหมาะสมให้สามารถแข่งขันได้ เร่งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ลดภาระต้นทุนดำเนินธุรกิจและดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ด้านผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พร้อมบริหารจัดการสต๊อกสินค้าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจผันผวน
อย่างไรก็ดีการพัฒนาเศรษฐกิจตาม BCG Model จะเป็นนโยบายสำคัญและมีประสิทธิภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคต โดยจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตสินค้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผ่านอุตสาหกรรมการเกษตร ช่วยเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ ที่ผลิตโดยใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้กับประเทศ และที่สำคัญจะช่วยดึงการลงทุนเข้าประเทศ