“แอล.พี.ซี. วิสาหกิจเพื่อสังคม” วางแผน 3 ปี สร้างโอกาสในการทำงานให้กับสตรีด้อยโอกาส 2,000 คน
“แอล.พี. ซี. วิสาหกิจเพื่อสังคม” วางแผน 3 ปี (2566-2568) ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการทำงานให้กับสตรีด้อยโอกาสไม่น้อยกว่า 2,000 คน ตั้งเป้ารายได้เติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี เดินหน้าสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน
นางสุรัสวสดี ซื่อวาจา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล. พี. ซี. วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (LPC) บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ที่ให้บริการด้านความสะอาดในพื้นที่อาคารทั้งอาคารสำนักงานและอาคารชุดพักอาศัย รวมถึงงานบริการด้านอื่นๆ กล่าวถึงแผนงานในการขับเคลื่อนองค์กรในฐานะที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านรายได้ให้กับสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสในสังคม ในปี 2566-2568 ว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรคือการสร้างคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านรายได้ให้กับพนักงานที่เป็นสตรีและผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสในสังคม บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาบุคคลากรให้มีคุณภาพในการให้บริการดูแลทำความสะอาดทั้งในพื้นที่อาคารสำนักงาน อาคารเชิงพาณิชย์ ที่พักอาศัย และในชุมชน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พร้อมกับขยายเครือข่ายการให้บริการออกไปจากการให้บริการโครงการภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท แอล.พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายและพัฒนาสตรีและผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสในสังคม ได้มีโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ที่มั่นคงอยางยั่งยืน
“ปัจจุบัน(ณ สิ้นปี 2565) เรามีการจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสอยู่กว่า 1,600 คน คิดเป็นสัดส่วน 65% ของจำนวนพนักงานของเราทั้งหมดประมาณ 2,500 คน ในปี 2566 เรามีเป้าหมายที่จะเพิมจำนวนการจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 1,700 คน คิดเป็นสัดส่วน 65% ของเป้าหมายจำนวนพนักงานทั้งสิ้นกว่า 2,600 คน ในปี 2566 และคาดว่าจะจ้างงานสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสแตะระดับ 2,000 คนได้ในปี 2568 ตามแผนการขยายงานและทิศทางการเติบโตของบริษัทที่วางไว้ไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี
การที่สตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาส 1 คน สามารถทำงานและมีรายได้จะลดภาระทางสังคม และในขณะเดียวกันยังสร้างโอกาสในการศึกษาให้กับสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 1-2 คน การที่เราสามารถสร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับพนักงานเกือบ 2,000 คน หมายถึงเราสามารถสร้างโอกาสในการศึกษาให้กับคนในครอบครัวเขาอีก 2,000-4,000 คน เป็นเป้าหมายสำหรับเรา(LPC) ในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาและสร้างโอกาสให้กับสังคม” นางสุรัสวดี กล่าว
จากแผนดังกล่าว ในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าขยายงานบริการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่ในห้องชุด พนักงานต้อนรับและขับรถ จากการให้บริการกับโครงการภายใต้การบริหารจัดการของ LPN ไปสู่การให้บริการกับโครงการภายนอก LPN มากขึ้นจากปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2565 บริษัทให้บริการอยู่ทั้งสิ้น 252 โครงการ โดยแบ่งเป็นเป็นโครงการของ LPN และ โครงการนอก LPN สัดส่วนอยู่ที่ 70 : 30 ตามแผนในปี 2566 จะเพิ่มการให้บริการเป็น 270 โครงการ หรือเพิ่มขึ้น 15-20 โครงการ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัท 525 ล้านบาทในปี 2566 เพิ่มขึ้น 5% จากรายได้รวม 500 ล้านบาทในปี 2565 และเติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5% ในปี 2567-2568
“เนื่องจากเราเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม กำไรที่ได้จากการดำเนินงานทั้งหมดจะถูกส่งต่อให้กับสมาชิกของเราซึ่งก็คือพนักงาน ความแตกต่างของเรากับบริษัทจำกัดที่แสวงหากำไรทั่วไปคือ กำไรของเราทุกบาทจะถูกส่งกลับไปให้กับพนักงานของเราทั้งหมดทั้งในรูปของรายได้ที่เราจะจ่ายให้กับพนักงานสูงกว่าอัตราการจ้างงานในตลาดในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ 10% นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสวัสดิการให้กับพนักงาน รวมไปถึงการให้ความรู้และเข้าไปชวยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพนักงานเพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี” นางสุรัสวดี กล่าว
ปัจจุบัน LPC มีพนักงานประมาณ 2,500 คน มีพนักงานที่เป็นหนี้นอกระบบทั้งสิ้น 492 คน จากการให้ความรู้กับพนักงานในเรื่องของการออม การจัดการกับภาระหนี้ที่เกิดขึ้น ทำให้พนักงานในกลุ่มที่มีหนี้นอกระบบสามารถลดภาระหนี้ลงได้อย่างต่อเนื่องและมีการออมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังจัดสวัสดิการส่งเสริมให้การศึกษากับพนักงานในทุกระดับจำนวน 383 คน รวมถึงการให้ทุนการศึกษากับบุตรของพนักงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้บุคคลากรของบริษัทที่เป็นสตรีและผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสในสังคม กลับคืนสู่สังคมเป็นผู้ที่มีโอกาสและสร้างโอกาสส่งต่อให้กับสมาชิกในครอบครัว และลดปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้น, นางสุรัสวดี กล่าว
“เป้าหมายของ LPC ตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2566-2568) คือการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืน มีส่วนในการพัฒนาสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสให้กลายเป็นบุคคลากรที่มีส่วนในการสร้างรายได้และดูแลครอบครัวได้ ไม่เป็นปัญหาให้กับสังคม และสามารถส่งต่อครอบครัวที่มีคุณภาพคืนสู่สังคม การที่เราจะทำแบบนี้ได้ เรามีแผนที่จะพัฒนาองค์กรโดยการนำเทคโนโลยี่เข้ามาใช้ในการสนับสนุนและพัฒนางานของพนักงาน ในขณะเดียวกันมีการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับพนักงานเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รักษาอัตราการเติบโตของรายได้ขององค์กร และของพนักงาน เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต เพราะครอบครัวที่มั่นคงเป็นรากฐานที่สำคัญของการสร้างสังคมที่ดี” นางสุรัสวดีกล่าว
บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (LPC) บริษัทในเครือ แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป ให้บริการชุมชนในด้านความสะอาด และงานบริการอื่นๆ เพื่อให้ชุมชนได้รับบริการที่ครอบคลุม และมีมาตรฐานการบริการที่มีประสิทธิภาพ โดย LPC ชื่อเดิมคือ บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 ก่อนที่จะเปลี่ยนจากบริษัทจำกัดเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมในปี 2561 โดยมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยการแบ่งปันโอกาสในการทำงานให้กับสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสทางสังคม ให้มีอาชีพการงานที่มั่นคง หารายได้เกื้อหนุนคุณภาพชีวิตครอบครัว และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 2,500 คน เป็นสตรีและผู้สูงอายุด้อยโอกาสกว่า 1,600 คน ซึ่งเป็นสตรีด้อยโอกาส ที่การศึกษาน้อย มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวเพียงคนเดียว เคยถูกเอารัดเอาเปรียบจากการจ้างงาน เป็นผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเป็นผู้พิการ LPC จึงเปิดโอกาสในการทำงานให้กับสตรีกลุ่มนี้เข้ามาเป็นพนักงานบริการชุมชน โดยแบ่งออกเป็น พนักงานบริการความสะอาด พนักงานต้อนรับชุมชน และพนักงานขับรถ พร้อมๆ กับให้โอกาสในการศึกษา และพัฒนาฝีมือการทำงานตามมาตรฐานสากล สามารถพึ่งพาตนเองและเป็นที่พึ่งพาของครอบครัวได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต