กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิด "ดีพร้อมโต" แผนยกระดับผู้ประกอบการไทย เร่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 7.5 พันล้าน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าเปิดแผนเร่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ ปี 66 "ดีพร้อมโต" ผ่าน 4 กลไก “โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน” ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และประชาชน 28,600 ราย หวังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 66 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเชิงบวก จากการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวข้อง แต่ยังจับตาความเสี่ยงจากความผันผวนของภาพรวมเศรษฐกิจโลก วิกฤตพลังงานที่ราคายังอยู่ในระดับสูง และภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงกดดัน ที่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการบริโภคของภาคครัวเรือนของกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อมและผู้มีรายได้น้อย
โดยในปีนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 13,000 ราย ผ่านนโยบาย "ดีพร้อมโต" โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน โดยสร้างให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้น 4 กลไก คือ
โตได้ (Start) เป็นกลไกที่ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตเป็นผู้ประกอบการใหม่ในชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยเกษตรอุตสาหกรรม และเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน
โตไว (Speed) เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยการสร้างมาตรฐาน เพิ่มผลิตภาพ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และความคิดสร้างสรรค์ ในการทำธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด
โตไกล (Scale) เป็นกลไกเพิ่มประสิทธิภาพและขยายฐานการผลิตให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง เน้นการเปลี่ยนผ่าน (Transformation) สู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เพื่อขยายสู่ตลาดสากล
โตให้ยั่งยืน (Sustainable) เป็นกลไกที่มุ่งสนับสนุนปัจจัยเอื้อที่ช่วยให้ธุรกิจยั่งยืน เข้าถึงมาตรการและความช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐ พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท และดำเนินกิจกรรมพิเศษ เพื่อยกระดับประชาชนให้สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 15,600 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท